xs
xsm
sm
md
lg

พี่จ่าอย่าเฉย ! ฝากบ้านกับ “ตำรวจ” ต้องตรวจตามแผน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เมื่อถึงเทศกาลพิเศษๆ ที่มีวันหยุดยาวๆ ทีไร... อาชีพที่ต้องทำงานหนักอาชีพหนึ่ง ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งนอกจากจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนแล้ว ยังมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนด้วย เช่น “โครงการฝากบ้านกับตำรวจ” ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ ไม่กังวลใจในขณะที่ไม่อยู่บ้าน และเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงความห่วงใยของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถแจ้งความประสงค์กับทางสถานีตำรวจพื้นที่ได้ด้วยตนเองหรือจะแจ้งทางโทรศัพท์ก็ได้

วันนี้...ผมจึงขอนำคดีพิพาทที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมาฝากเป็นข้อมูลความรู้สำหรับท่านที่สนใจเข้าร่วม หรือได้เข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจในช่วงเทศกาลต่างๆ ในกรณีประชาชนฝากบ้านไว้กับตำรวจแล้วบ้านเกิดถูกโจรกรรม ! ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดของตำรวจในโครงการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนครับ

โดยเรื่องมีอยู่ว่า... น.ส.ใบเตย จะต้องเดินทางไปทำธุระที่ต่างจังหวัดหลายวัน จึงได้โทรศัพท์ไปฝากบ้านไว้กับตำรวจตั้งแต่วันที่ 16 - 22 ตุลาคม ซึ่งที่ผ่านมา น.ส.ใบเตย ก็เคยใช้บริการในโครงการดังกล่าวนี้แล้วหลายครั้ง ก็ไม่พบปัญหาอะไร

แต่ครั้งนี้... ไม่ได้เป็นเช่นครั้งก่อนๆ ครับ เพราะทันทีที่ น.ส. ใบเตย เดินทางกลับมาถึงบ้านในวันที่ 21 ตุลาคม เธอก็ถึงกับต้องร้องอุทานออกมาอย่างสุดเสียงว่า คุณพระช่วย !!! เพราะบ้านของเธอได้ถูกขโมยขึ้นบ้านและกวาดทรัพย์สินไปหลายรายการ ทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ พระเครื่อง นาฬิกา โถเบญจรงค์ ฯลฯ แม้กระทั่งกระทะ กระติกน้ำ แป้งตรางู ก็ไม่เว้นครับ น.ส.ใบเตย จึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้สืบหาตัวคนร้ายแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า...

น.ส.ใบเตย เห็นว่า การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศแจ้งให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญามหาชน อันก่อให้เกิดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติละเลยไม่ตรวจสอบหรือกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของตนตรวจตราบ้านของ ผู้ฝากอย่างเข้มงวด จนเป็นเหตุให้ถูกโจรกรรม จึงถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฝากบ้าน น.ส. ใบเตยจึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่าสองแสนบาท

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้กระทำละเมิดต่อ น.ส.ใบเตย หรือไม่ ? โดยหากเป็นการกระทำละเมิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด ?

การที่จะพิจารณาได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติหรือไม่ ?

โดยที่มาตรา 46(7) แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่นั้น อาจปฏิบัติได้ทั้งแนวทางป้องกัน เช่น การจัดสายไปตรวจตามพื้นที่ หรืออาจปฏิบัติตามแนวทางแก้ไข เช่น ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดี

ฉะนั้น เมื่อโครงการฝากบ้านกับตำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46(7) ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติโครงการดังกล่าวโดยกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการว่า เมื่อมีผู้ฝากบ้านตามโครงการฯ ตำรวจจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาวางแผนการตรวจตราป้องกัน โดยจะมีการนำจุดตรวจ (ตู้แดง) ไปติดตั้งหรือสมุดตรวจไปวางกับกล่องริมรั้วหน้าบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ และติดประกาศประชาสัมพันธ์บ้านที่ฝากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายทราบ รวมทั้งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราป้องกันเหตุบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนหรือแผนที่กำหนดไว้ดังกล่าว

เมื่อมีหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ต้องมาดูกันต่อว่า... เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้สำหรับการรับฝากบ้านหรือไม่ ?

ประเด็นนี้ ทางตำรวจเองยอมรับว่า มิได้นำตู้แดงไปติดไว้ที่หน้าบ้านของ น.ส.ใบเตย แต่ได้นำสมุดตรวจไปสอดไว้ตรงรั้วประตูบ้าน และได้มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจลงบันทึกไว้ในสมุดดังกล่าววันละ 8-9 ครั้ง โดยได้แสดงสำเนาบันทึกการลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจเป็นหลักฐานต่อศาล ส่วนทางด้าน น.ส.ใบเตยได้โต้แย้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ไปตรวจบ้านของตนตามที่มีการลงลายมือชื่อ เนื่องจากในสำเนาสมุดบันทึกได้มีการลงชื่อว่าไปตรวจตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่ได้ไปต่างจังหวัด แต่ก็ไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจแต่อย่างใด นอกจากนี้ในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ตนกลับบ้านแล้ว ก็ไม่เห็นสมุดบันทึกการตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่กล่าวอ้าง

กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สำเนาบันทึกการลงเวลาและลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงวัน เวลา และลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยที่เอกสารดังกล่าวมิได้ระบุข้อความอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า การลงวันที่และลายมือชื่อนั้นเป็นการลงหลักฐานการไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตยจริง ประกอบกับในสำเนาสมุดบันทึกซึ่งระบุว่าวันที่ 21 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตย 8 ครั้ง ซึ่งจากข้อเท็จจริง เมื่อ น.ส.ใบเตย กลับถึงบ้านในวันที่ 21 ตุลาคม โดยพบว่าบ้านของตนถูกโจรกรรม ก็ได้ไปแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยมีบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุเวลาแจ้งประมาณ 14.30 น. ซึ่งแสดงว่าสถานีตำรวจย่อมได้รู้หรือควรรู้แล้วว่า น.ส.ใบเตย ได้กลับถึงบ้านแล้ว แต่ในสมุดบันทึกยังมีการลงชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตย หลังจากนั้นอีก 4 ครั้ง อันแสดงให้เห็นว่าสำเนาสมุดบันทึกการตรวจดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ และไม่อาจใช้ยืนยันว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านที่เกิดเหตุตามเวลาที่ระบุไว้จริง

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้นำตู้แดงไปติดไว้หน้าบ้านของ น.ส.ใบเตย ตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ เพื่อให้ทราบว่าเป็นจุดตรวจและใส่สมุดตรวจ การที่อ้างว่าได้ไปตรวจและนำสมุดสอดไว้ที่ประตูบ้าน จึงไม่อาจหักล้างคำชี้แจงและพยานหลักฐานของ น.ส.ใบเตยได้ ประกอบกับในช่วงเวลาเกิดเหตุประเทศไทยได้มีการจัดประชุมเอเปค ซึ่งทางสถานีตำรวจได้แบ่งกำลังไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยในการประชุมตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จนทำให้เหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ 24 นาย จาก 48 นาย ซึ่งการอ้างว่ามีอัตรากำลังไม่เพียงพอนั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุมัติโครงการโดยไม่ได้ประเมินผลเสียก่อนว่าสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลในการอ้างกับประชาชนได้

จากข้อเท็จจริงทั้งหมดจึงเชื่อได้ว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านของ น.ส.ใบเตย ในช่วงเวลาที่ไม่อยู่บ้าน กรณีจึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายแก่ น.ส.ใบเตย จึงเป็นการกระทำละเมิด โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเป็นผลโดยตรงให้ทรัพย์สินในบ้านต้องสูญหาย เพราะเมื่อ น.ส.ใบเตย ได้เข้าร่วมโครงการฝากบ้านกับตำรวจแล้ว จึงย่อมไม่ดำเนินการอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินของตนอีก เช่น ฝากเพื่อนบ้าน หรือให้ญาติพี่น้องมาอยู่บ้าน ฉะนั้นการรับฝากบ้านแล้วไม่ดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ ส่งผลให้บ้านของ น.ส. ใบเตย ซึ่งไม่มีคนดูแลติดต่อกันหลายวันจนผู้ร้ายสังเกตเห็นได้และถูกโจรกรรมไปในที่สุด ประกอบกับทรัพย์สินที่สูญหายมีจำนวนหลายรายการ ซึ่งบางรายการเป็นของที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้พาหนะและต้องใช้เวลาในการขน โดยหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจบ้านวันละ 8-9 ครั้ง ตามที่มีการลงชื่อในสมุดบันทึกจริง ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะพบเหตุการณ์หรือร่องรอยพิรุธต่างๆ และสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้

ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้นสังกัดจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตนให้แก่ น.ส.ใบเตย

เมื่อศาลได้พิจารณารายการทรัพย์สินที่สูญหายทั้งหมด โดยพิจารณาตามความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิด ความเหมาะสม เป็นธรรม และหักค่าเสื่อมราคาประกอบด้วยแล้ว จึงพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ น.ส.ใบเตย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 55,535 บาท (มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.318/2554)

สรุปว่า... การดำเนินโครงการฝากบ้านกับตำรวจนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามแผนหรือแนวทางที่ได้วางไว้ โดยไม่อาจอ้างเหตุผลอื่นใดมาลดมาตรฐานในการตรวจตราได้.... และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่นะครับ


ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น