xs
xsm
sm
md
lg

อัยการฟ้องเพิ่ม 8 พธม.ชุมนุมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.ปานเทพ ภูวนาทนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค 4และรองปลัดกระทรวงกลาโหม
อัยการฟ้องเพิ่ม “พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์” อดีตรองปลัด ก.กลาโหม พร้อมกลุ่มพันธมิตรฯ 8 ราย คดีก่อการร้าย ชุมนุมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ปี 51

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (11 เม.ย.) พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาซึ่งเป็นแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เพิ่มอีก 8 คน ประกอบด้วย นายสเกน สุทธิวงศ์ นักร้องเพลงลูกกรุงชื่อดัง, นางลักขณา ดิษยะศริน ผอ.โรงเรียนนานาชาติ, นายไชยพร เกิดมงคล นักร้องวงด่านเกวียน, นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานองค์กรเอกชนภาคตะวันออก, พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และรองปลัดกระทรวงกลาโหม, นายสมชาย วงศ์เวศ, นางกุสุมา แผลงศร และนายสมศํกดิ์ อิสมันยี เป็นจำเลยในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีสถานการณ์ร้ายแรงในพื้นที่ดอนเมือง ลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ขณะนั้น) ได้ออกประกาศวันที่ 29 พ.ย. 2551 ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป บริเวณเขตดอนเมืองและพื้นที่อื่นๆ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณพื้นที่ชุมนุมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว (ดอนเมือง) ห้ามใช้อาคาร ห้ามใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและให้ประชาชนที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองออกจากพื้นที่

วันที่ 29 พ.ย. 2551 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ.1 หัวหน้าผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณเขตลาดกระบังและ อ.บางเสาธง ได้ออกข้อกำหนด ห้ามมีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสนามบินสุวรรณภูมิใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณ ถ.บางนา-ตราดและที่อื่นๆ

ต่อมาจำเลยดังกล่าวในคดีนี้ ร่วมกันแย่งหน้าที่กันทำในลักษณะต่างๆ กัน ทั้งเป็นกลุ่มปลุกระดม ปลุกเร้า จูงใจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม พธม. โดยร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ และรถชนิดต่างๆ อีกจำนวนหลายคัน เป็นยานพาหนะนำพากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว บุกเข้าไปภายในอาคารวีไอพีของท่าอากาศยานดอนเมือง ยึดและปิดล้อมอาคารวีไอพี ซึ่งเป็นอาคารที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลและเป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และยังบุกรุกเข้าไปทำการยึดและทำการปิดล้อมอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ ซึ่งดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัย จอดปิดกั้นขวางทางการจราจรไว้ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานท่าอากาศดอนเมือง และบนถนนวิภาวดี-รังสิตขาออก เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรได้

ทั้งนี้ แนวร่วมพันธมิตรฯ อีกพวกหนึ่งยังได้บุกเข้าไปในสถานที่ทำการติดตั้งเสาเรดาร์ของ บ.วิทยุการบินฯ แล้วเอาจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของผู้ชุมนุมไปติดตั้งไว้ใกล้ๆ ทำให้สัญญาณเรดาร์ใช้การไม่ได้ การบินหยุดชะงัก และยังขู่เข็ญห้ามไม่ให้เครื่องบินขึ้น-ลงสนามบินดอนเมือง และพวกจำเลยได้ทำร้าย ขู่เข็ญเจ้าพนักงานหลายครั้งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ มีอัตราโทษสูง อันเป็นความผิดตามกฎหมายจึงขอให้ศาลลงโทษจำเลย

ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ. 1316 /2556 และนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น.

ต่อมา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของพวกจำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จำนวน 6 คน คนละ 6 แสนบาท ส่วนนางลักขณาใช้สมุดเงินฝากจำนวน 6 แสนบาท และ พล.อ.ปานเทพใช้ตำแหน่งข้าราชการบำนาญประกันตัว ล่าสุดศาลได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 114 คน ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายแล้ว 4 ชุด รวมทั้งสิ้น 75 คน

ชุดแรก 31 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายศิริชัย ไม้งาม, นายสำราญ รอดเพชร, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, พ.ต.อ.สันธนะ ประยูรรัตน์, นายชนะ ผาสุกสกุล, นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมร อมรรัตนานนท์, นายประพันธ์ คูณมี, นายเทิด ภูมิใจดี, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายพิชิต หรือตั้ม ไชยมงคล, นายบรรจง นะแส, นายสุมิตร นวลมณี, นายพิเชฐ พัฒนโชติ, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ, นายอธิวัฒน์ บุญชาติ, นายจำรูญ ณ ระนอง, นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร, นายไทกร พลสุวรรณ, นายสุชาติ ศรีสังข์, นายอำนาจ พละมี, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ, นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา, นายกิตติชัย หรือจอร์ส ใสสะอาด และ บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด

ชุด 2 จำนวน 14 คน คือ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, นายปราโมทย์ หอยมุกข์, นายสุทิน วรรณบวร, นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์, นางกรรณิกา วิชชุลตา, น.ส.ต้นฝัน แสงอาทิตย์, พล.ร.ต.มินท์ กลกิจกำจร, นายสถาวร ศรีอำนวย, นายคมกฤษณ์ พงษ์สัมพันธ์, นายอนุชา ประธาน, นายสมัชชา วิเชียร, นายสุพัฒน์ นิลบุตร, นายประทีป ขจัดพาล และนายประมวล หะหมาน

ชุด 3 จำนวน 11 คน คือ นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง ดารานักแสดง, นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที, นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ, นายเติมศักดิ์ จารุปราณ, น.ส.วรรษมน ช่างปรีชา, นายสุนันท์ ศรีจันทรา, น.ส.กมลพร วรกุล, นายชัชวาล ชาติสุทธิชัย

ชุดที่ 4 จำนวน 19 คน คือ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ แกนนำกองทัพธรรม, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ, นายสมบูรณ์ สุพรรณฝ่าย, นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพการบินไทยฯ, นายวสันต์ วานิชย์, นายมนตรี ชูชื่น, นายมนตรา ชูชื่น สองพี่น้องนักดนตรีวงซูซู, นายแมน ฤทธิคุปต์, นายสุนทร รักรงค์, นางสมพร วงค์ป้อ, น.ส.ณัฐชา เพชรมั่นคงเจริญ, นายยศ เหล่าอัน, นางนุภารัก วงษ์เอก, นายศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง, นายระพินทร์ พุฒิชาติ, นายแสงธรรมดา กิติเสถียรพร, นายพงศธร ผลพยุง, น.ส.เสน่ห์ หงส์ทอง และนายพินิจ สิทธิโห และครั้งนี้เป็นชุดที่ 5 รวมจำเลยทั้งหมดที่อัยการยื่นฟ้องแล้วทั้งสิ้น 83 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น