อัยการฟ้องเพิ่ม14 พธม. ร่วมกันก่อการร้ายปิดล้อมสนามบิน ทนายยื่นประกันตัวคนละ 8 แสน ศาลนัดสอบคำให้การ 29 เม.ย.นี้
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ ( 21 มี.ค.) พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เพิ่มอีก อีกจำนวน 14 คน ประกอบด้วย นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายปราโมทย์ หอยมุกข์,นายสุทิน วรรณบวร,นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ , นางกรรณิกา วิชชุลตา น.ส.ต้นฝัน แสงอาทิตย์, พล.ร.ต.มินท์ กลกิจกำจร , นายสถาวร ศรีอำนวย,นายคมกฤษณ์ พงษ์สัมพันธ์ ,นายอนุชา ประธาน ,นายสมัชชา วิเชียร , นายสุพัฒน์ นิลบุตร , นายประทีป ขจัดพาล และ นายประมวล หะหมาน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา
ในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯ
โดยอัยการระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีสถานการณ์ร้ายแรงในเขตพื้นที่ดอนเมือง ลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ออกประกาศวันที่ 29 พ.ย. 2551 ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป บริเวณเขตดอนเมืองและพื้นที่อื่น ๆ และห้ามใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณพื้นที่ชุมนุมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว (ดอนเมือง) ห้ามใช้อาคาร ห้ามใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและให้ประชาชนที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองออกจากพื้นที่ทันที
ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. 2551 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ. 1 หัวหน้าผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณเขตลาดกระบังและ อ.บางเสาธง ได้ออกข้อกำหนดอีก 1 ฉบับ กล่าวคือ ห้ามมีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ชุมนุมในกรุงเทพและจ.สมุทรปราการ ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสนามบินสุวรรณภูมิใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณ ถ.บางนา-ตราดและที่อื่น ๆ และห้ามผู้ใดไปในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้อพยพผู้ชุมนุมออกไปและห้ามกลับเข้ามาอีก ต่อมา จำเลยที่ 1-14 ในคดีนี้ ได้ร่วมกับ นายศรันยู วงศ์กระจ่าง และจำเลยที่ 1-30 และพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องได้บังอาจร่วมกันแย่งหน้าที่กันทำในลักษณะต่างๆ กัน ทั้งเป็นกลุ่มปลุกระดม ปลุกเร้า จูงใจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยบังอาจร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ดัดแปลงเป็นเวลาปราศรัย และรถชนิดต่างๆ อีกจำนวนหลายคัน เป็นยานพาหนะนำพากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ซึ่งมีและใช้กระบอง ท่อนไม้ และธงที่มีด้ามเป็นวัตถุของแข็งปลายแหลมจำนวนหลายอัน เป็นอาวุธบุกเข้าไปภายในอาคารวีไอพีของท่าอากาศยานดอนเมือง และเข้าทำการยึดและปิดล้อมอาคารวีไอพี ซึ่งเป็นอาคารที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลและเป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และยังบุกรุกเข้าไปทำการยึดและทำการปิดล้อมอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ ซึ่งดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัย จอดปิดกั้นขวางทางการจราจรไว้ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานท่าอากาศดอนเมือง โดยนำเอายางรถยนต์ แผงเหล็ก ลวดหนาม ลวดหีบเพลงจำนวนมาก ไปวางปิดกั้นสะพานกลับรถบนถนนวิภาวดี-รังสิตขาออก เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรได้
ทั้งนี้แนวร่วมพันธมิตรฯอีกพวกหนึ่งยังได้บุกเข้าไปในสถานที่ทำการติดตั้งเสาเรดาร์ของ บ.วิทยุการบินฯแล้วเอาจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของผู้ชุมนุมไปติดตั้งไว้ใกล้ ๆทำให้สัญญาณเรดาร์ใช้การไม่ได้ การบินหยุดชะงัก และยังขู่เข็ญห้ามไม่ให้เครื่องบินขึ้น-ลงสนามบินดอนเมือง และพวกจำเลยได้ทำร้าย ขู่เข็ญเจ้าพนักงานหลายครั้งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ มีอัตราโทษสูง อันเป็นความผิดตามกฎหมายจึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ร่วมกันทำลาย ทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการบินพลเรือน หรือทำให้การบริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง
ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.1067/2556 และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 29 เม.ย. 2556 เวลา09.00น. ต่อมา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความพันธมิตรฯ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นเงินช่วยเหลือ จากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม คนละ 8 แสนบาท ประกันตัว ต่อมา ศาลได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 คน โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 114 คน ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายแล้วเป็นชุดแรก ทั้งสิ้น 31 คน ประกอบด้วย 1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3. นาย พิธพ ธงไชย 4.นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข 5.นายสุริยใส กตะศิลา 6.นาย สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ 7.นาย ศิริชัย ไม้งาม 8. นายสำราญ รอดเพชร 9.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10.นาย สาวิทย์ แก้วหวาน 11.พ.ต.อ. สันธนะ ประยูรรัตน์ 12. นายชนะ ผาสุกสกุล 13. นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมร อมรรัตนานนท์ 14. นาย ประพันธ์ คูณมี 15.นาย เทิด ภูมิใจดี 16.น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก 17.นายพิชิต หรือ ตั้ม ไชยมงคล 18.นาย บรรจง นะแส 19.นาย สุมิตร นวลมณี 20.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ 21.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 22.นายอธิวัฒน์ บุญชาติ 23.นาย จำรูญ ณ ระนอง 24.นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร 25.นายไทกร พลสุวรรณ 26.นายสุชาติ ศรีสังข์ 27.นาย อำนาจ พละมี 28.พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ 29.นาย เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา 30. นายกิตติชัย หรือ จอร์ส ใสสะอาด และ 31.บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด