xs
xsm
sm
md
lg

อัยการฟ้องเพิ่ม 11 พันธมิตรฯ ข้อหาก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ อีก 11 คน ข้อหาร่วมกันก่อการร้ายปิดล้อมสนามบิน ด้านทนายยื่นหลักทรัพย์คนละ 6 แสนขอประกันตัว ในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ



ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 28 มี.ค.นี้ อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เพิ่มอีกจำนวน 11 คน ประกอบด้วย นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง แกนนำพันธมิตรฯ รุ่นที่ 2 และดารานักแสดง, นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที, นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ, นายเติมศักดิ์ จารุปราณ, น.ส.วรรษมน ช่างปรีชา นายสุนันท์, ศรีจันทรา น.ส.กมลพร วรกุล, นายชัชวาล ชาติสุทธิชัย

ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

โดยอัยการระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีสถานการณ์ร้ายแรงในเขตพื้นที่ดอนเมือง ลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ออกประกาศวันที่ 29 พ.ย. 2551 ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป บริเวณเขตดอนเมืองและพื้นที่อื่นๆ และห้ามใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณพื้นที่ชุมนุมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว (ดอนเมือง) ห้ามใช้อาคาร ห้ามใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและให้ประชาชนที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองออกจากพื้นที่ทันที

วันที่ 29 พ.ย. 2551 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ. 1 หัวหน้าผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณเขตลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง ได้ออกข้อกำหนดอีก 1 ฉบับ กล่าวคือ ห้ามมีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ชุมนุมในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสนามบินสุวรรณภูมิใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณ ถ.บางนา-ตราด และที่อื่นๆ และห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง จำเลยคดีนี้ ร่วมกับจำเลยที่ 1-30 และพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง แบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะต่างๆ กัน ทั้งเป็นกลุ่มปลุกระดม ประกาศ ปราศรัย ชักชวน ปลุกเร้า และ จูงใจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ดัดแปลงเป็นเวลาปราศรัย และรถชนิดต่างๆ อีกจำนวนหลายคัน เป็นยานพาหนะนำพากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯดังกล่าว ไปชุมนุมที่อาคารวีไอพีของท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนอีกกลุ่มเดินทางด้วยยานพาหนะไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2551 โดยมีการถ่ายทอดสดแพร่ภาพและเสียงออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องเอเอสทีวี (ASTV) เพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯและบุคคลทั่วไป ที่ถูกปลุกระดม ชักชวน รู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน

อันเป็นความผิดตามกฎหมายจึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.1204/2556 และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น.

ต่อมา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของพวกจำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด วงเงินคนละ 6 แสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การมารายงานตัวคดีก่อการร้ายในวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชน พิธีกรที่จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี คดีทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยเริ่มจากหัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็น พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวศ ที่ไม่ดำเนินคดีต่อพันธมิตรฯ เนื่องจากไม่เห็นว่าเป็นการก่อการร้าย แต่กลับเรียกว่าผู้ก่อการดี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนหัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็น พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง มีการดำเนินคดีต่อพันธมิตรฯ อย่างไม่เป็นธรรม มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งพันธมิตรฯ ทั้งหมดพร้อมที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 114 คน ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายชุดแรก รวม 31 คน ประกอบด้วย 1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2. นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3. นายพิภพ ธงไชย 4. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 5. นายสุริยใส กตะศิลา 6. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 7. นายศิริชัย ไม้งาม 8. นายสำราญ รอดเพชร 9. นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 11. พ.ต.อ.สันธนะ ประยูรรัตน์ 12. นายชนะ ผาสุกสกุล 13. นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมร อมรรัตนานนท์ 14. นายประพันธ์ คูณมี 15. นาย เทิด ภูมิใจดี 16. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 17. นายพิชิต หรือตั้ม ไชยมงคล 18. นายบรรจง นะแส 19. นายสุมิตร นวลมณี 20. นายพิเชฐ พัฒนโชติ 21. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 22. นายอธิวัฒน์ บุญชาติ 23. นายจำรูญ ณ ระนอง 24. นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร 25. นายไทกร พลสุวรรณ 26. นายสุชาติ ศรีสังข์ 27. นายอำนาจ พละมี 28. พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ 29. นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา 30.นายกิตติชัย หรือจอร์ส ใสสะอาด และ 31. บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด




กำลังโหลดความคิดเห็น