xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องคดี “บ.แมเนเจอร์ฯ-บก.ผู้จัดการ” หมิ่น “หม่อมเต่า”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกายกฟ้อง บมจ.เมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป และบก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฐานหมิ่นประมาท “หม่อมเต่า” อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กรณีเผยแพร่บทความ “พายัพ วนาสุวรรณ” และตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียน เมื่อปี 2544 ชี้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550


วันนี้ (9 เม.ย.) ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษากรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ จำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ โดยโจทก์ได้ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือกและควบคุมบทความ บทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์และในการโฆษณา ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 10 คน ผู้ใช้นามปากกาว่า “พายัพ วนาสุวรรณ” ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้เสียหาย โดยการพิมพ์ภาพผู้เสียหาย ภาพการ์ตูนล้อเลียน และข้อความลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 และลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2544 ในลักษณะข้อความรับต่อเนื่องมีข้อความว่า...

“ฉีกหน้ากากหม่อมเต่า เปิดตัวตนที่แท้จริงของผู้ว่า ธปท.” “...3 ปีเต็มหลังจากประเทศไทยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ด้วยความหวังที่สังคมถูกสร้างให้รับรู้จากภาพมายา วันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างฟ้องออกมาให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ว่าการคนนี้ชัดเจน... จากดาวรุ่งแห่งเอเชีย เขากำลังจะกลายเป็นผีพุ่งใต้ เพราะผลงานการกำกับนโยยบายการเงินที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตายซาก...แม้จะบริหารผิดพลาดแต่ด้วยการบริหาร ด้วยการเชื่อมั่นตัวกูของกูที่มีอยู่เกินขอบเขตสุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอยู่เช่นนี้ และไม่มีใครทราบอนาคตจะดำเนินไปอีกนานแค่ไหนถ้าผู้ว่า ธปท.ยังชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ตัวการขวางการฟื้นของเศรษฐกิจ...และปมจากความขัดแย้งในแนวทางดำเนินนโยบายทางการเงินระหว่างรัฐบาลกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล ล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ที่นอกจากจะมีฝีปากเป็นอาวุธ ไม่เห็นใครอยู่ในสายตา มองผู้อื่นเป็น “ควาย” ไม่เว้นแม้แต่อิสตรีและยังเป็นนักสร้างภาพตัวฉกาจ...”

ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จ เป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ให้เข้าใจไปในทางที่ว่าผู้เสียหายเป็นผู้มีความประพฤติเสียหายในเรื่องส่วนตัวหลายเรื่อง พัวพันกับการทุจริตคดโกง เป็นผู้ทำลายชาติ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย เป็นผู้ประพฤติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ ใช้อำนาจในทางที่ผิด และในเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นตำแหน่งสำคัญทางการเงินสูงสุดของชาติโดยอาศัยคุณสมบัติต้องเป็นผู้มีความรู้สูง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณธรรม และจริยธรรมเป็นที่น่ายกย่องและน่านับถือ รวมทั้งต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่เป็นอย่างมากต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม และถูกเหกลียดชังจากผู้อื่นและประชาชนทั่วไปได้

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ใความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 จำคุก 4 เดือน และปรับ 40,000บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้โดยมีกำหนด 2 ปี

โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตรงฎีกาโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบได้เพียงว่า จำเลยที่1 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่2 เป็นกรรมการคนหนึ่งตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.4 และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยโจทก์และโจทก์ร่วม ยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ไม่ได้ลงโทษฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โจทก์อุทธรณ์เฉพาะขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองหนักขึ้นเท่านั้น และจำเลยที่ 2 ร่วมเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ อันเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง มิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน














กำลังโหลดความคิดเห็น