ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะพิจารณาคดี ป.ป.ช.ฟ้อง “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ตปท.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีลงนามแถลงการณ์เขาพระวิหารร่วมไทย-กัมพูชา โดยไม่ผ่านสภา และนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 26 เม.ย.นี้
ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วันที่ 26 มี.ค. 2556 เมื่อเวลา (10.00 น.) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน เพื่อพิจารณาคดีหมายเลขดำ อม.3/2556 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
โดยผลการลงมติ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกนายเอกชัย ชินณพงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ, นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล, นายกรองเกียรติ คมสัน, นายชาติชาย อัครวิบูลย์, นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายกำพล ภู่สุดแสวง และนายปัญญา ถนอมรอด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา (อดีตประธานศาลฎีกา) เป็นองค์คณะทั้ง 9 คน พิจารณาคดี ซึ่งภายหลังจากนี้องค์คณะทั้งเก้าจะร่วมกันประชุมภายในเพื่อลงมติเลือกผู้พิพากษา 1 ใน 9 เป็นเจ้าของสำนวน
ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดี ป.ป.ช.มอบให้ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้บรรยายเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหานายนพดลกระทำผิดว่า เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 3-4 มี.ค. 2551 นายสมัครไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และนายนพดล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น จำเลยไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯ กัมพูชา ที่ทางกัมพูชาของให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร จากนั้นจำเลยได้นำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศพิจารณา ทางนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เห็นด้วยจึงเสนอ ครม.ให้นายวีรชัย พลาศรัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงทักท้วง แต่จำเลยยังยืนยันว่าไม่สามารถรวมงานกับอธิบดีที่มีความคิดเช่นนี้ได้
ต่อมาจำเลยยังเดินทางไปเขมรอีกหารือกับนายสก อาน เรื่องปราสาทพระวิหารรวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และจะทำแถลงการณ์ร่วม โดยนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพราง และมีเหตุจูงใจแอบแฝงอยู่ และเมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา 15 นาที ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานี้เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา และจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และรับฟังความเห็นจากประชาชน