xs
xsm
sm
md
lg

DSI สั่งฟันพีซีซี ใบสั่งเชือด ปชป.?

เผยแพร่:   โดย: **

นายพิบูลย์  อุดมสิทธิกุล , นายจาตุรงค์  อุดมสิทธิกุล  และ นายวิศณุ  วิเศษสิงห์ 3 ผู้บริหารบริษัท พีซีซี  ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์  คอนสตรัคชั่น จำกัด เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ที่มีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน รวมทั้งไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา จนสร้างความเดือดร้อนให้ตำรวจไม่มีที่ทำงาน สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนที่ไปติดต่อราชการ ยังคงอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ ซึ่งจะเป็นวันที่สัญญาก่อสร้างสิ้นสุดลง ท่ามกลางซากเสาตอม่อของโรงพักที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ โดยที่ “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ออกมายืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการต่อสัญญาให้กับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาอีก และจะมีการบอกเลิกสัญญาอย่างแน่นอน เพียงแต่รอเวลาให้สัญญาสิ้นสุดเท่านั้น

การดำเนินการเรื่องทางแพ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดที่มี “บิ๊กย้อย” พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน ได้สรุปแนวทางการยกเลิกสัญญาเสนอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ พิจารณา โดยแนวทางแรกคือให้ยกเลิกสัญญาก่อนวันที่ 14 มี.ค.โดยให้เหตุผลว่าผู้รับเหมาไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จตามสัญญา เพื่อที่จะได้เริ่มกระบวนการประมูลงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น ขณะที่อีกแนวทางคือยกเลิกสัญญาหลังจากวันที่สัญญาสิ้นสุด ซึ่งแน่นอนว่า ผบ.ตร.เลือกแนวทางหลัง เพราะเป็นแนวทางที่ปลอดภัยสุด แต่กระนั้นก็เชื่อว่าการถูกฟ้องร้องจากฝ่ายผู้รับเหมาก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการประมูลการก่อสร้างครั้งใหม่ระหว่างนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้สั่งการให้ฝ่ายอำนวยการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเตรียมการด้านธุรการ พร้อมทั้งกำหนดกรอบงบประมาณ และกรอบเวลาการก่อสร้าง จนได้ข้อสรุปแล้วว่าโรงพักที่จะประมูลใหม่จะมีการกระจายอำนาจไปยัง บช.ต่างๆ อาจลงลึกไปถึงระดับกองบังคับการ พร้อมกำหนดกรอบเวลาให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 390 วัน สำหรับโรงพักขนาดใหญ่ 360 วัน สำหรับโรงพักขนาดกลางและ 330 วัน สำหรับโรงพักขนาดเล็ก

ขณะเดียวกันนอกจากจะมีการบอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการเรียกค่าเสียหาย ทั้งเงินที่ผู้รับเหมาเบิกไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ เงินล่วงหน้าร้อยละ 15 ของราคาค่าจ้างคิดเป็นเงิน จำนวน 877,200,000 บาท และเงินค่างวด 656,251,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1,533,451,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายจากการก่อสร้างที่ล่าช้า ค่าใช้จ่ายในการต้องเยียวยาโรงพักชั่วคราว รวมถึงค่าเสียประโยชน์ แม้ที่ผ่านมาผู้รับเหมาเองพยายามต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องการยื่นหนังสือคัดค้านการประมูลงานการก่อสร้างที่มีการรวมสัญญา การจ้างช่วง และการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าของฝ่ายตำรวจ ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้

ทว่า เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งอัยการที่ปรึกษาจากสำนักงานอัยการสูงสุด มั่นใจว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว แม้จะถูกผู้รับเหมายื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะไม่แพ้คดีอย่างแน่นอน เพราะมีหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้รับเหมาเป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือ ผู้รับเหมาไม่สามารถก่อสร้างโรงพักให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และที่สำคัญมีการจ้างช่วง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสัญญา

นอกจากเรื่องทางแพ่งแล้ว พล.ต.อ.อดุลย์ ยังสั่งการให้ พล.ต.อ.เจตน์ มงคลหัตถี ที่ปรึกษา (สบ10) ตรวจสอบคู่ขนานว่ากรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกฉ้อโกงจากฝ่ายผู้รับเหมาด้วยหรือไม่ แต่ในชั้นต้น พล.ต.อ.เจตน์ ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่พบหลักฐานว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกฉ้อโกงแต่อย่างใด แต่ทว่าเมื่อได้รับข้อมูลจากดีเอสไอ พล.ต.อ.เจตน์ กลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไป โดยระบุว่าได้เห็นหลักฐานบางอย่าง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าเข่าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ อย่างไรก็ตามต้องรอการสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ขณะที่ในส่วนของคดีอาญา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ยังคงเดินหน้าเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ โดยเฉพาะผู้บริหาร บริษัท พีซีซี ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล, นายวิศณุ วิเศษสิงห์ และนายจาตุรงค์ อุดมสิทธิกุล ในความผิดฐานฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วงในภาคต่างๆ ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากดีเอสไอ ระบุว่าขณะนี้มีผู้รับเหมาช่วงมาร้องทุกข์แล้ว 25 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ ดีเอสไอ ยังเตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้บริหารของ บริษัท พีซีซี ฐานทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสียหายโดยตรงคือการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 8 กรณีมีการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่า ไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้า หรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กรณีดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี ปรับร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือคิดเป็นเงินที่ต้องปรับมูลค่าถึง 2,900 ล้านบาท รวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามจริงที่ได้เบิกงบประมาณไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายธาริต ระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวน พบว่าในขั้นตอนการแข่งขันการเสนอราคา หรือเคาะราคาจากราคาเริ่มต้น 6,388,000,000 บาท บริษัท พีซีซี ได้เสนอราคา ต่ำมากกว่าปกติ โดยเสนอราคาสุดท้าย 5,848,000,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางกว่าถึง 540 ล้านบาท จนเห็นได้ชัดว่าเป็นการผิดปกติวิสัยในการเสนอราคาที่ปกติ และเป็นผู้ได้เข้าทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หลังจากทำสัญญากลับนำงานก่อสร้างโรงพักไปจ้างช่วงผู้รับเหมารายย่อยอีกต่อหนึ่งเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ประการสำคัญคือ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า บริษัท พีซีซี รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถทำงานตามสัญญาได้มาตั้งแต่ต้น แต่ยังเข้าร่วมการแข่งขันราคาโดยทุจริต โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงพักให้แล้วเสร็จตามสัญญา ภายใน 450 วันได้ แม้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะขยายเวลามาอีก 2-3 ครั้ง แล้วก็ตาม จนเกิดความเสียหายต่อทางราชการ ตามที่ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ตามพฤติการณ์มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรว่า บริษัท พีซีซี น่าจะได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 8” อธิบดีดีเอสไอ ระบุและว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับความผิดฐานฮั้วประมูล และฐานฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วงที่ดีเอสไอได้สอบสวนอยู่ จึงสั่งการให้ทำการแยกคดีสอบสวนเป็นคดีพิเศษอีกคดีหนึ่งต่างหาก อีกทั้งความผิดเรื่องนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไม่มาร้องทุกข์ ดีเอสไอ ก็มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับกระทำผิดได้

อย่างไรก็ตามในวันที่ 7 มีนาคม ผู้บริหารพีซีซี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตามนัดหมาย และถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดร้อยเปอร์เซ็นต์

และนี่เป็นการแสดงให้เห็นท่าทีของอธิบดีดีเอสไอ ที่ก่อนหน้านี้ที่โฟกัสไปที่ฝ่ายการเมือง ได้แก่ นายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นผู้ลงนามอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา รวมถึงนายตำรวจระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการนี้ ทั้งประกาศออกสื่อว่าจะเรียกอดีต ผบ.ตร.หลายคนเข้าให้ข้อมูล จนถูก พล.ต.อ.อดุลย์ ออกมาว้ากผ่านสื่อเช่นเดียวกัน ว่าการกระทำของนายธาริต เป็นการกระทำที่เสียมารยาท ถือว่าไม่ให้เกียรติกัน จนถูกมองว่านี่จะเป็นชนวนทำให้เกิดปัญหาเกาเหลาระหว่าง 2 หน่วยงานใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ทว่าในที่สุด นายธาริต ได้เข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ เพื่อเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ พร้อมขอข้อมูลการทุจริตโครงการนี้ไปด้วยในตัว

อย่างไรก็ตามในการดำเนินการเอาผิด “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ก็มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ดีเอสไอได้ส่งสำนวนการสอบสวน ประกอบด้วย พยานเอกสาร และคำให้การของบุคคล จำนวน 3 แฟ้ม และการสรุปความเห็นของพนักงานสอบสวนจำนวน 30 หน้า ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

โดยได้สรุปสำนวนออกเป็น 2 ข้อหา คือ 1.การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพบว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เข้าข่ายกระทำความผิดจากการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กำหนดประมูลงานก่อสร้างแยกเป็นรายภาคเปลี่ยนเป็นการประมูลแบบรวมศูนย์สัญญาเดียว

และ 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) มาตรา 11, 12 และ 13 ซึ่งในส่วนนี้มีนายสุเทพเข้าข่ายกระทำผิดเพียงคนเดียว ส่วน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทร ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) ที่มีบทบาทในการเสนอยกเลิกและเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประมูลแบบรวมสัญญา ดีเอสไอ เห็นว่ากรณีดังกล่าวน่าจะเป็นการสั่งการจากฝ่ายการเมือง จึงไม่ได้เข้าข่ายการกระทำความผิด

จะเห็นได้ว่าโครงการก่อสร้างโรงพักฉาว นับเป็นอีกโครงการหนึ่งของรัฐที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาครัฐโดยรวม รวมทั้งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับตำรวจ และประชาชน ยังถือเป็นความอัปยศที่ใครก็ไม่อยากจดจำ แต่ในที่สุดละครเรื่องยาวเรื่องนี้ก็ใกล้จะรูดม่านปิดฉากลง ส่วนบทสรุปสุดท้ายว่าจะสามารถเอาผิดใครได้หรือไม่ ใครจะต้องรับผิดชอบ ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน
กำลังโหลดความคิดเห็น