ปิดฉากประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ไทยเสนอตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจอาเซียน พร้อมผนึกกำลังปราบอาชญากรรมข้ามชาติ อีก 2 ปี ตั้งเป้าภูมิภาคอาเซียนปลอดยาเสพติด
วันนี้ (21 ก.พ.) ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้ร่วมลงนามรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ครั้งที่ 33 กับหัวหน้าตำรวจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศบรูไนดารุสซาลาม, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สปป.ลาว, มาเลเซีย, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐสิงคโปร์, ราชอาณาจักรไทย, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสหภาพพม่า หลังจากมีการประชุมกันระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ.ที่โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การสร้างกลไกความร่วมมือซึ่งกันและกัน การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง และทันเวลา เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว และการป้องกันอาชญากรรม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อันจะนำมาเป็นต้นแบบในการฝึกอบรม เพื่อเสริมศักยภาพของประเทศสมาชิก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและร่วมมือในด้านการสืบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน การจับกุม อาชญากรรมข้ามชาติประเภทต่างๆ และการยกระดับศูนย์ข้อมูลตำรวจอาเซียน (Electronic Aseanapol Data base Sytem) (E-ADS) เพื่ออำนวยความสะดวก และเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา อีกทั้งยังร่วมมือกันให้ 10 ประเทศอาเซียนปลอดยาเสพติดภายในปี 2558
นอกจากนี้ ยังได้รับรองแผนปฏิบัติการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจอาเซียน ตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ วางแนวทางปฏิบัติ และติดตามข้อมูลข่าวสารแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิก อีกทั้งการดำเนินการวางหลักการ รายละเอียดในการสร้างเครือข่ายตำรวจให้ขยายไปในระดับภูมิภาค และระดับทวีป โดยการเชิญองค์กรตำรวจอื่นๆ เข้าร่วมประชุมทั้งในฐานะผู้สังเกตการณ์ หรือประเทศคู่เจรจา
หน่วยงานตำรวจของประเทศสมาชิก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้รับประโยชน์ จากการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ และการวางมาตรการในระดับนโยบายร่วมกัน อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ครั้งที่ 34 ในปีต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ ได้นำมาซึ่งแนวทางปฏิบัติ/กลไกการดำเนินงาน เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาค ด้านต่างๆ ดังนี้ 1.การลักลอบค้ายาเสพติด (Illicit Drugs Trafficking) 2.การก่อการร้าย (Terrorism) 3.การลักลอบค้าอาวุธ (Arms Smuggling)
4.การค้ามนุษย์ (Human Trafficking)
5.การฉ้อโกงทางทะเล (Maritime Fraud)
6.อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ความผิดเกี่ยวกับธนาคาร และการปลอมแปลงบัตรเครดิต (Commercial Crime, Bank Offences and Credit Card Fraud) 7.อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime) 8.การปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง (Fraudulent Travel Document) 9.การฉ้อโกงระหว่างประเทศ (Transnational Fraud) 10.ความคืบหน้าของระบบศูนย์ข้อมูลตำรวจอาเซียน (Progress on Electronic-ASEANAPOL Database System (e-ADS)
11.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา (Mutual Assistance on Criminal Matters) 12.การแลกเปลี่ยนบุคลากร (Exchange of Personnel)
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.กล่าวปิดการประชุมว่า ปรากฏการณ์อาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ รายรอบตัวพวกเรายิ่งนานวันยิ่งมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหัวหน้าตำรวจทุกคนที่จะต้องเตรียมตัว และผสานสรรพกำลังในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว ดังนั้น พันธสัญญาของหัวหน้าตำรวจอาเซียนที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และเสถียรภาพแห่งภูมิภาคจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นหัวหน้าตำรวจอาเซียนของเราอย่างแท้จริง ผนวกกับความทุ่มเท ทำให้เราสามารถบรรลุภารกิจ และได้มาซึ่งแนวทางปฏิบัติใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่่างยิ่งอาชญากรรมข้ามชาติที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เราได้สร้างความเข้มแข็งพร้อมกับขยายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมประเภทต่างๆ ที่กำลังคุกคามอยู่
ต่อมา พล.ต.อ.อดุลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพ โดย 3 วันที่ผ่านมา การประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมด้านต่างๆ เน้นในเรื่องยาเสพติด ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน และไซเบอร์คราม โดยในส่วนของไทยได้เสนอให้มีการตัั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ซึ่งที่ประชุมได้รับหลักการไว้แล้ว และจะศึกษาพัฒนาว่ามีประเทศไหนมีความพร้อม ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเทศมีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูมติที่ประชุมด้วย ส่วนในเรื่องข้อกฎหมายที่มีความแตกต่าง ที่ประชุมมีการทบทวนและพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาเรื่องประสานงานร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียน ท้้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือเรื่องก่อการร้าย เรื่องนี้ได้ประสานข้อมูลกันพร้อมให้องค์ความรู้เพื่อกำหนดมาตการป้องกันดำเนินการ เนื่องจากบางประเทศมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน