xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องแพ่ง ผช.อธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์ ตุ๋นลงทุน 10 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายมนตรี ฐิรโฆไท  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สองสามีภรรยานักธุรกิจ ฟ้องแพ่ง 16 ล้านบาท “มนตรี ฐิรโฆไท” ผช.อธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์ หลังหลอกลวงให้นำเงินลงทุนร่วม 10 ล้านบาทแล้วหายจ้อยกว่า 10 ปี

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ประทับรับฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 50/2556 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2556 ระหว่าง นายกังวาล กุศลธรรมรัตน์ และ น.ส.ดวงกมวล ลิมานันท์ เป็นโจทก์ฟ้องนายมนตรี ฐิรโฆไท เป็นจำเลยที่ 1 และ น.ส.จิรพร ภูธนกิจ เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ จำนวนทุนทรัพย์ 16,093,750 บาท

โดยคำบรรยายฟ้องระบุว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นสามีภรรยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสในการดำเนินคดีนี้โจทก์ที่ 2 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดำเนินคดีแทน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือมอสบอำนาจฟ้องคดี ฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2556 เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลขที่ 1

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นสามีภรรยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสเช่นเดียวกัน บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไออาร์ซีพี ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในคำฟ้องเรียกว่า “ไออาร์ซีพี” โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นของไออาร์ซีพี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของไออาร์ซีพี โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริหารของไออาร์ซีพี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552 จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากไออาร์ซีพี โดยทำหน้าที่สุดท้ายในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของไออาร์ซีพี

ทั้งนี้ พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 และ 2 ตามคำบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีตำแหน่งต่างๆ ทางสังคม เช่น เป็นนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย, ประธานคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรโครงการนักลงทุนารุ่นใหม่ ,ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย, ประธานกรรมการนิตยสาร MAKE MONEY เป็นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการในบริษัท เจ เอ็ม ที พลับลิชชิ่ง จำกัด ซึ่งผลิตนิตยสาร MAKE MONEY ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเช่นกัน

โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดมิชอบด้วยกฎหมาย คือ การกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรและโครงการด้านการลงทุน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตจำหน่ายเอกสาร MAKE MONEY ซึ่งเป็นเอกสารส่งเสริมด้านการลงทุน ประกอบกับจำเลยทั้งสองได้รู้จักและสนิทสนมกับโจทก์ทั้งสอง จึงได้อาศัยโอกาสแห่งความสนิทสนมหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าหากโจทก์ทั้งสองนำเงินมามอบให้แก่แก่จำเลยทั้งสอง ดังการกระทำต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 โจทก์ที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) รายละเอียดตามมสำเนาเช็คเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2, เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2547 โจทก์ที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) รายละเอียดตามมสำเนาเช็คเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วรายละเอียดตามสำเนาสมุดบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำเนาใบฝากเงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และหลักฐานสำเนาภาพถ่ายเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แนบท้ายเอกสารบรรยายฟ้อง

ทั้งนี้ ภายหลังที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวน 10,000,000 (สิบล้านบาทถ้วน) ไปจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ไม่ปรากฏเอกสารการลงทุนใดๆ และไม่มีหุ้นใดๆ ที่ได้มาจากการลงทุนตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างเลย โจทก์ทั้งสองได้ติดตามจำเลยทั้งสองถึงจำนวนเงินดังกล่าวมาโดยตลอดแต่จำเลยทั้ง 2 ก็ทำการเพิกเฉย จึงมอบหมายให้ทนายทำการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองให้คืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 10,000,000 (สิบล้านบาท) ที่จำเลยทั้งสองล่อลวงไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,093,750 บาท (สิบหกล้านเก้าหมื่นสามพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

โดยคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งระบุว่า ขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลยตามคำขอดังต่อไปนี้ 1. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 16,093,750 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสอง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้หรือชำระเงินคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วน 2. หากจำเลยทั้งสองไม่ร่วมกันชดใช้หรือส่งมอบชำระเงินรคืนใฝให้แก่โจทก์ขอให้ศาลทำการยึดทรัพย์จำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วน และ 3. ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมฤชา และค่าทนายความเป็นจำนวนอย่างสูงแทนโจทก์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวเข้าสารบบการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายมนตรี ฐิรโฆไท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เลขาธิการคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิกแห่งประเทศไทย, เลขานุการมูลนิธิเทพศิรินทร์, อุปนายกคนที่ 1 สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย, ที่ปรึกษาสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร (Ex-MBA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย, ประธานคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรโครงการ “นักลงทุนรุ่นใหม่” (NIP), ประธานสหพันธ์เครือข่ายผู้ผ่านการอบรมโครงการ “นักลงทุนรุ่นใหม่” (NIP's PLUS) และกรรมการกรรมการพิจารณารางวัล “Bai Pho Business Awards by SASIN”
กำลังโหลดความคิดเห็น