อัยการฟ้องเพิ่ม แนวร่วมพันธมิตรฯ บุกทำเนียบ-ชุมนุมหน้ารัฐสภารวม 15 คน ศาลนัดตรวจหลักฐาน 29 เม.ย.นี้ ด้านทนายเผยเตรียมนำเงินกองทุน พธม.ประกันตัวสู้คดี
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ต.สุรพงษ์ สายวงศ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 67 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 40 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว และอดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยในความผิดฐานคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาเมื่อปี 2551 หลังจากที่ก่อนหน้านี้อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม.กับพวกรวม 4 คน คดีบุกรุกทำเนียบ และคดียื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม.กับพวกรวม 5 คน คดีชุมนุมปิดล้อมสภา
โดยอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 362 และ 365 กรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม.กับพวกรวม 4 คนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วในคดีหมายเลขดำ อ.4925/2555 บุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. 51 - 3 ธ.ค. 51 ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.276/2556
วันเดียวกันนี้ นายชัยรัตน์ กรรณิการ์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยังได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมศักดิ์, นายสุริยะใส, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 53 ปี, นายสำราญ รอดเพชร อายุ 55 ปี, นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 52 ปี และนายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 51 ปี แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2, นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 32 ปี, นายอำนาจ พละมี อายุ 47 ปี, นายกิตติชัย ใสสะอาด อายุ 48 ปี, นายประยุทธ วีระกิตติ อายุ 58 ปี, นายสุชาติ ศรีสังข์ อายุ 53 ปี, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อายุ 56 ปี, นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี อายุ 54 ปี, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 48 ปี และนายพิเชฐ พัฒนโชติ อายุ 59 ปี แนวร่วม พธม. เป็นจำเลยที่ 1-15 ตามลำดับ
ในคดีร่วมกันความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำตามรัฐธรรมนูญเพื่อติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล และเป็นหัวหน้ามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยมีอาวุธร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหน่วงเหนี่ยว กักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 216, 309 และ 310 กรณีที่นายสมศักดิ์ร่วมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. กับพวกรวม 20 คน พากลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีดำ อ.275/2556
ต่อมาศาลได้สอบคำให้การจำเลยทั้ง 15 คนทั้ง 2 สำนวน ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ พร้อมแต่งตั้งทนายต่อสู้คดี ซึ่งศาลนัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 สำนวน ในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น.
ภายหลัง น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด โดยใช้เงินกองทุนช่วยเหลือ พธม.สู้คดีขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด โดยนายสมศักดิ์และนายสุริยะใสที่ถูกยื่นฟ้องในคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลยื่นคนละ 1.5 แสนบาท ส่วนนายสมศักดิ์กับพวกรวม 15 คนในคดีปิดล้อมรัฐสภายื่นคนละ 2 แสนบาท สำหรับการสู้คดีนั้นได้เตรียมพยานบุคคลที่เป็นนักวิชาการและเอกสารข้อเท็จจริงไว้สู้คดีแล้ว
ต่อมาเวลา 14.00 น.ศาลได้พิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 15 คนคดีถูกฟ้องปิดล้อมรัฐสภาแล้ว โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 15 คนกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ กระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยทั้ง 15 คนดังกล่าว เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ส่วนนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 1-2 คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลนั้น ศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยตีราคาประกันคนละ 150,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ
ด้านนายประยุทธ์ ป.สัตยารักษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เปิดเผยว่า วันนี้อัยการยื่นฟ้องกลุ่ม พธม.เพิ่มครบทั้ง 2 สำนวนในคดีบุกทำเนียบ-ล้อมสภาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นฟ้องนายสนธิ แกนนำ พธม.กับพวกรวม 6 คนไปแล้ว โดยนัดที่ศาลจะพิจารณาคดีอัยการจะแถลงขอให้ศาลรวมสำนวนพิจารณาคดีที่ฟ้องนายสนธิกับสำนวนที่เพิ่งยื่นฟ้องในวันนี้เป็นสำนวนเดียวกัน เนื่องจากมีมูลเหตุและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ส่วนคดีที่นายสนธิ แกนนำ พธม.ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ทนายความได้ขอเลื่อนนัดออกไปก่อน
ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวว่า กรณีที่ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดอันเป็นการยั่วยุปลุกระดมนั้น ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะหากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรงและอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะสามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาแกนนำ นปช.หลายคน ก็ได้เคยขึ้นเวทีปราศรัย ระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราว ดังนั้นการร่วมชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ หรือตามก็ปกติก็คงไม่มีปัญหาอะไร เว้นแต่จะเป็นการปราศรัยที่คุมคามหรือปราศรัยรุนแรง อย่างเช่น กรณีของ "เจ๋ง ดอกจิก" อย่างไรก็ตามหากกลุ่มตนไปร่วมชุมนุม ก็อาจจะมีอีกกลุ่ม เช่น กลุ่ม นปช.ไปร้องต่อศาลว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัวก็ได้
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า การชุมนุมของภาคประชาชนในปี 2556 คาดว่าจะยังไม่มีเงื่อนไขในการออกมาชุมนุมใหญ่ เพราะประเด็นที่น่าเป็นห่วง เช่น การร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขมาตรา112 หรือการรับเขตอำนาจศาลโลก (ไอซีซี) หรือการนิรโทษกรรม ที่ฝ่าย นปช. ร้องขอมาก็ถูกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดองเรื่องเอาไว้เอง จะมีก็แต่ประเด็น เขาพระวิหารที่ยังน่าเป็นห่วง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และท่าทีของรัฐบาลว่ามีความตั้งใจแค่ไหน ส่วนที่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่าพร้อมรบ หากมีการเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆในท่าทีของ ผบ.ทบ.ต่อไปว่ามีความจริงใจหรือไม่ แต่ตนก็เชื่อว่าสงครามไม่ใช่คำตอบ ยังมีทางออกอีกหลายแนวทาง สุดท้ายก็จะจบลงได้ด้วยการเจรจา
“รัฐบาลมีท่าทีที่จะรับฟังคำพิพากษาของศาลโลกในเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งตนกังวลว่าอาจจะมีประชาชนที่ไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหวก็ได้ ทั้งนี้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯมีบรรทัดฐาน แตกต่างกับกลุ่ม นปช.ที่มีการท้าทายอำนาจตุลาการ ส่วนภาพรวมของคดีนั้น ต้องยอมรับว่าในปีนี้และปีที่ผ่านมา คดีต่างๆของพันธมิตรฯ มีการเร่งดำเนินการเกือบทุกคดีตั้งแต่ในชั้นอัยการ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเหตุของการเร่งทำคดีเพราะอะไร” นายสุริยะใส กล่าว