ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออก 5 จังหวัด ประชุมนัดเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมบุกทำเนียบรัฐบาล หาก ครม.ไม่อนุมัติเงินโครงการแทรกแซงราคายางในวันอังคารนี้
นายณวรานนท์ อนัณวรณกรณ์ ประธานเชื่อมโยงเครือข่ายยางพารา ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุมผู้แทนสถาบันเกษตรกรภาคตะวันออก 5 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมสหกรณ์นิคมวังไทรหมู่ 3 ตำบลพลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
ทั้งนี้ มีนายประชา ทรัพย์พิพัฒน์ ประธานสหกรณ์ยาง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี นายสำราญ วัลลานนท์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานเครือข่ายกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ฯลฯ จำนวน 50 คนเข้าร่วม
นายณวรานนท์ อนัณวรณกรณ์ ประธานเชื่อมโยงเครือข่ายยางพาราตำบลป่ายุบใน กล่าวว่า ผู้แทนสถาบันเกษตรกรจากภาคตะวันออก 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ของรัฐบาล ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 31 มีนาคม 2556 แต่ยังไม่ได้รับเงินสนับสนุน
หลังจากรัฐบาลเปลี่ยนบอร์ดผู้บริหารโครงการฯ และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งรับผิดชอบโครงการฯ มาเป็นเวลานานเกือบ 2 เดือน แต่ก็ยังไม่อนุมัติเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศกว่า 2,800 ล้านบาท โดยเฉพาะเกษตรกรภาคตะวันออกใน 5 จังหวัด จะต้องได้รับเงินอนุมัติ จำนวนกว่า 700 ล้านบาท สร้างเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จึงนัดประชุมผู้แทนสถาบันเกษตรกรภาคตะวันออกเพื่อหาทางกดดันรัฐบาล และที่ประชุมมีมติว่าในวันอังคารที่ 15 มกราคมนี้
ทั้งนี้ หากเงินแทรกแซงโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา รวม 25,000 ล้านบาท ไม่ผ่านการอนุมัติในการประชุม ครม.ก็จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 16 มกราคมนี้ เพื่อกำหนดแผนการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ร่วมกับผู้แทนสถาบันเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 มกราคมนี้
ด้าน ส.จ.สำราญ วัลลานนท์ ประธานเครือข่ายกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการแทรกแซงราคายางชั้น 1 ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และลดตามคุณภาพของชั้นยาง ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรขายยางให้รัฐบาลโดยองค์การสวนยาง (อสย.) เป็นเวลานานเกือบ 60 วันแล้ว และพบว่า ชาวสวนยางภาคตะวันออกหลายพันคนยังไม่ได้รับเงิน ทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อนอย่างหนัก