xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 18 มงกุฎปลอม “เฟซบุ๊ก” คนดัง! หลอกข่มขืน-ตุ๋นเงิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยี  สารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.)  เป็นวิทยากรสัมนาหัวข้อ ข่าวออนเฟส หลุมพรางออนไลน์ที่สังคมกำลังเผชิญ ให้กับนักศึกษา ป.โท มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ตำรวจเตือนภัย “เฟกไอดี” มิจฉาชีพแอบอ้างชื่อผู้อื่นในเฟซบุ๊กหลอกเอาทรัพย์สินและละเมิดทางเพศ เผยคนดังร้องเรียนถูกมือดีปลอมชื่อ 5 หมื่นรายต่อวัน ตะลึง! สถิติคนร้ายก่อเหตุ 100 คดี ตำรวจจับได้ไม่เกิน 5 คดี 

วันนี้ (29 ธ.ค.) พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสารมวลชน และ น.ส.วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เป็นวิทยากรสัมมนาหัวข้อ “ข่าวออนเฟซ หลุมพรางออนไลน์ที่สังคมกำลังเผชิญ” ให้แก่นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผอ.หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุมมาเป็นประธานการสัมมนา ที่ห้อง 11-12A06 ชั้น 12A อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หัวข้อการสัมมนาได้มีการแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ ภัยต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ ผลกระทบจากภัยที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ และการรู้เท่าทัน ป้องกัน และใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตลอดการสัมมนาได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นที่น่าสนใจด้วยกันหลายประเด็น เช่น รูปแบบของภัยในสื่อสังคมออนไลน์ และการเสพข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวว่า ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายพบว่า ในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กนั้นมีตัวปลอม หรือที่เรียกว่าเฟกไอดีเป็นจำนวนมาก บางรายไม่เคยใช้แต่มีชื่อปรากฏอยู่ในระบบ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเป็นบุคคลสำคัญในสังคมก็ถูกแอบอ้าง ซึ่งช่วงแรก ๆ ทางเฟซบุ๊กไม่สนใจเพราะมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และแต่ละวันมีการแจ้งปัญหาเข้าไปมากมายเช่นกันก่อนหน้านี้เฉลี่ย 50,000 รายต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนถึงจะนำเรื่องร้องเรียนนั้นมาพิจารณาว่าขัดต่อข้อกำหนดการใช้หรือไม่ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคยเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้บริหารเฟซบุ๊ก และเป็นที่น่ายินดีที่บางนโยบายมีการปรับปรุงเพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบแล้ว

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องตัวปลอมแล้ว ในสื่อสังคมออนไลน์ก็ยังมีภัยอีก 2 รูปแบบใหญ่ รูปแบบแรกได้แก่ การหลอกลวงทั้งเรื่องทรัพย์สิน และละเมิดทางเพศ โดยในเรื่องการละเมิดทางเพศนั้นมีเด็กวัยรุ่นตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การโจมตีโดยใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหรือช่องทางโจมตี ทำให้บางเรื่องไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงได้ว่าสิ่งใดจริงหรือไม่จริง ทั้งนี้ส่วนใหญ่สื่อสังคมออนไลน์ในไทยเป็นเฟกไอดี หากเราตกเป็นเหยื่อต้องแจ้งให้ทางเฟซบุ๊กทราบเขาจะพิจารณาเอาออกให้ แต่เราต้องรู้ว่าเป็นการทำผิดนโยบายของเฟซบุ๊กข้อไหน ซึ่งปัจจุบันนี้มีการแบ่งหมวดหมู่ให้เข้าใจง่ายขึ้นแต่อยากให้ป้องกันมากกว่า

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวด้วยว่า การเผยแพร่สิ่งใดๆ ที่ส่งผลทบต่อผู้อื่นนั้นต้องดูที่เจตนา อย่างข้อหาหมิ่นประมาทนั้นจะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากทำผิดแล้วขอโทษอย่างจริงใจ และแก้ไขให้ถูกต้องทุกคนก็ยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ก็ต้องขึ้นกับคู่กรณี แต่ไม่ว่ากรณีใดเชื่อว่าหากจริงใจจริงคู่กรณีก็ไม่มีปัญหา การขอโทษ คุยดีๆ รู้ว่าผิดแล้วขอโทษในหลายเรื่องจบได้ง่าย

พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวถึงวิธีการป้องกันภัยที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่ามีด้วยกันหลายแนวทาง แต่สำหรับผู้ใช้วิธีการง่ายๆ คือ การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือตั้งกลุ่มที่สามารถคัดกรองได้ และสามารถคัดกรองผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประสบการณ์ทำงาน และการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการป้องกันอาชญากรรมประเภทนี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดช่องโอกาส ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้

“จากสถิติตัวเลขอาชญากรรมในโลกออนไลน์พบว่า 100 คดี ตำรวจสามารถจับกุมได้ไม่เกิน 5 คดี เพราะไม่สามารถระบุตัวตนได้ ไม่รู้ว่าเป็นใคร นี่คือภัยที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เบอร์โทรศัพท์แบบเติมเงินมีมากกว่าแบบลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก บัตรเติมเงินสามารถซื้อสินค้าได้ โอนเงินได้ กดเงินในตู้เอทีเอ็มได้ แต่การติดตามทำได้ยากมาก ทั้งที่กฎหมายมีกำหนดเรื่องการระบุตัวตนแต่ไม่มีใครปฏิบัติ หรือมีแต่ตีความคำว่าผู้ให้บริการคืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น” พ.ต.อ.นิเวศน์ระบุ

พ.ต.อ.นิเวศน์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ต้องเปลี่ยนจากแบล็กลิสต์ เป็นไวต์ลิสต์ ให้กลุ่มคนที่สามารถยืนยันตัวตนได้มารวมกลุ่มกันและให้ได้รับสิทธิในเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียก็ต้องระบุตัวตนได้ ถ้าทำเรื่องนี้ได้สถานการณ์จะดีขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ก็มีประโยชน์มากมายแต่ควรใช้อย่างสมดุล โดยยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือ ใช้อย่างพอประมาณ ใช้อย่างมีเหตุมีผล และใช้อย่างมีภูมิคุ้มกัน คือ นำข่าวมาวิเคราะห์เป็นบทเรียน ไม่ใช้เทคโนโลยีมากจนเกินไป

ด้านนายธามกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อในสื่อสังคมออนไลน์มี 3 ข้อ คือ 1. ความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้งานง่าย 2. มีเนื้อหาน่าสนใจ น่าติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าว บันเทิง เกม 3. ความไว้วางใจระหว่างเพื่อน การติดตามผู้มีชื่อเสียง คนดัง นักการเมือง ดารา หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเหยื่อล่อให้เราตกไปในหลุมพรางได้ที่ดีที่สุด เรามองไม่เห็นห่วงโซ่สุดท้ายว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้น แต่ข้อมูลเชิงลบอยู่ในระบบเป็นสิบปี และสื่อใหม่ก็เอื้อให้เราผลิตเนื้อหาได้เหมือนกับแหวนลอร์ดออฟเดอะริงใส่แล้วมีอำนาจ หรือจริงๆ แล้วเราเป็นเหยื่อสิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ที่มีมากมาย เป็นเหยื่อความต้องการของตัวเองที่อยากดัง หรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเราเป็นเหยื่ออะไรบ้าง

“สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กทำให้เราเสพติดประสบการณ์ใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ เช่น ข่าวสมัยก่อนอ่านอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที เราไม่ได้ใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสาร แต่เราย้ายชีวิตตัวเอง ความรู้สึกตัวเองเข้าไปอยู่ในออนไลน์ ทำให้เราเสพติดประสบการณ์เสมือนจริง หรือนี่แหละคือหลุมพรางขนาดใหญ่ ซึ่งสังคมไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน และเราไมมีทางอื่นให้เลือกมากนัก หรือไม่มีเลย ดังนั้นสำคัญว่าจะถ่วงสมดุลอย่างไร สร้างสมดุลได้หรือไม่ จุดสมดุลของชีวิตจริงกับออนไลน์สำคัญกว่าเพราะเด็กเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองกำลังเผชิญอยู่” นายธามกล่าว
 
ส่วน น.ส.วรลักษณ์กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถนำไปต่อยอดทำประโยชน์ได้มากมาย แต่ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาให้ชัดเจน ให้ถึงต้นตอก่อนจะนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าไม่ใช่อย่างที่เห็น มีอะไรมากกว่านั้น และหากเกิดความผิดพลาดจากการนำข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์มารายงานก็ต้องขอโทษและแก้ไขในพื้นที่เดิม โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงมานำเสนอโดยให้น้ำหนักเท่ากับการรายงานที่ผิดพลาดไป

น.ส.วรลักษณ์กล่าวด้วยว่า สื่อก็คือคนเหมือกัน เราเสพข้อมูลในโซเชียลมีเดียตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องบอกตัวเองว่ารายงานทันทีไม่ได้ ไม่เชื่อทั้งหมด หากตรวจสอบไม่ได้ก็จะไม่รายงาน ไม่จำเป็นต้องรายงาน ยอมช้าดีกว่า ถ้าผิดเรียกกลับมาไม่ได้ ข้อมูลทุกอย่างต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงชัดเจนที่สุด ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกำลังหารือกันในประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องการนำข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ไปรายงานนั้นมีการเสนอให้นักข่าวต้องส่งข้อมูลไปให้กองบรรณาธิการตรวจสอบก่อน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ผู้สื่อข่าวที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์แยกให้ชัดเจนระหว่างการใช้ในนามส่วนตัวและในการทำหน้าที่รายงานข่าว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือซึ่งยังไม่มีข้อสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น