xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตกแวดวงสื่อ ในสมรภูมิราชดำเนิน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ผมเขียนไว้นานแล้ว แต่ยังเขียนไม่เสร็จ เพราะติดภารกิจหน้าที่การงาน อีกทั้งมีปัญหาสุขภาพ จึงเขียนต่อไม่ไหว เลยบันทึกเก็บเอาไว้ก่อน แต่เมื่อมีประเด็นใหม่เข้ามาที่น่าจะเข้ากับหัวข้อ จึงขอนำมาปัดฝุ่นแล้วเขียนต่อไปตามเรื่องราวจนจบบริบูรณ์...
แม้เรื่องที่เขียนออกจะเป็นเรื่องซีเรียส แต่ก็ขอให้มีความสุขในการอ่าน สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ...

………………..
นับตั้งแต่การชุมนุมของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่สามเสน จวบจนกระทั่งเวทีราชดำเนินที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งยอมลาออกจาก ส.ส. มาเคลื่อนไหวนอกสภาในปัจจุบัน สงครามข่าวสารระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหลั่งไหลอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกความชอบธรรมจากสาธารณชนให้ได้มากที่สุด

สื่อมวลชนถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน มาคราวนี้ทีวีดาวเทียมต่างฉายภาพการชุมนุมที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ สถานีไหนที่สนับสนุนการชุมนุมโดยตรง เช่น บลูสกาย ทีนิวส์ ก็ถ่ายทอดสดความเคลื่อนไหว 24 ชั่วโมง พอๆ กับรายการเรียลิตี้โชว์ ส่วนสถานีข่าวผ่านดาวเทียมต่างแข่งขันนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดงดรายการปกติของทางสถานีเพื่อเปิดพื้นที่รายงานการชุมนุม เช่น เนชั่นแชนแนล สปริงนิวส์

สำหรับเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ นอกจากจะทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยจัดรายการพิเศษ เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม งดรายการปกติบางรายการแล้ว สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ และผู้จัดการออนไลน์ ยังทำหน้าที่อย่างหนักในการนำเสนอความจริงจากพื้นที่ และยังมีโรงครัวของเอเอสทีวีที่ทำอาหารแจกจ่ายผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีพระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม จากสำนักรักษาสงฆ์อาพาธเขมาภิรโต จ.ราชบุรี เป็นผู้ลงมือทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทุกวัน

โดยส่วนตัวในช่วงแรกๆ ความเคลื่อนไหวสำคัญจะอยู่ที่เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แต่เมื่อคุณสุเทพออกมานำการชุมนุมเอง ข่าวสารที่ประดังเข้ามาในออฟฟิศ แม้กระทั่งตีสองหากเจอประเด็นที่น่าสนใจก็ทำข่าว ทำให้ผมไม่มีเวลาที่จะลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยตัวเองเหมือนเคย และจากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกินเวลานับเดือนทำให้ผมรู้สึกเครียดและอ่อนล้า

แต่ในสมรภูมิการเมืองยังมีกรณีศึกษาหลายประการที่ผมเห็นผ่านตาแล้วน่าสนใจ พอที่จะบอกเล่าให้คุณผู้อ่านฟังเพื่อขบคิดกันได้บ้าง ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนเชื่อ เพราะมุมมองที่ผมจะเขียนดังต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งขอย้ำว่าไม่ผูกพันกับองค์กรที่ผมสังกัด และในฐานะที่ผมเป็นนักข่าวชั้นผู้น้อย ไม่ได้อยู่ในสนามข่าวมานานสิบ-ยี่สิบปีเหมือนนักข่าวอาวุโส

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิด อาจจะผิดก็ได้…!


ประเด็นแรก... ในช่วงที่คุณสุเทพประกาศอารยะขัดขืน 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการบอยคอตสินค้าในเครือชินวัตร นักรบไซเบอร์พรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมข้อมูล เก่าบ้างใหม่บ้าง หลายกิจการคุณทักษิณ ชินวัตรได้ขายหุ้นไปนานแล้ว เช่น เอไอเอส ไทยแอร์เอเชีย ฯลฯ ปรากฏว่ามีการเหมารวมไปถึงฟรีทีวีช่อง 3, 5, 7, 9, 11, ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมสปริงนิวส์ ซึ่งแฟนเพจ “สายตรงภาคสนาม” ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนนักข่าวภาคสนามนำไปโพสต์ขยายผลต่อ

วันต่อมา นักข่าวภาคสนามหลายสำนักได้พร้อมใจกันโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ระบุว่า “แฟนเพจสายตรงภาคสนามเป็นเพจที่ตั้งขึ้นโดยนักข่าวบางคนเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ของนักข่าวภาคสนามทุกคนโปรดใช้ดุลพินิจวิจารณญาณในการรับข้อมูล” เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการใช้ชื่อนักข่าวภาคสนามแบบเหมาเข่ง เตือนคนอ่านใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสปริงนิวส์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากมาตรการบอยคอตแบบยกเข่ง ได้ออกคำชี้แจงระบุว่า สถานีนโยบายในการนำเสนอข้อมูลความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมทุกประเด็นที่อยู่ในสังคม ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวการตลาด ข่าวศิลปะวัฒนธรรมบันเทิง ข่าวกีฬา ฯลฯ โดยยึดหลักการนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง เป็นจริง ครบถ้วน และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ นักข่าวอาวุโสของสำนักข่าวอิศรา โพสต์เฟซบุ๊กเห็นว่า ที่พี่น้องสื่อโพสต์แสดงพลังคล้ายๆ กัน เพราะแฟนเพจนั้น (สายตรงภาคสนาม) ไปเหมาเข่งว่าสื่อหลายๆ ค่าย เป็นธุรกิจในตระกูลชินวัตร ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องสื่อทำงานในสนามยากลำบากมากขึ้น และตั้งคำถามกลับไปว่า คุณก็เป็นสื่อเหมือนกัน ทำไมไม่เข้าใจหรือเห็นใจคนทำงานอื่นๆ ในสนามบ้าง

ที่หนักที่สุดคงจะเป็นทวิตเตอร์ @Mr_Sumeth ของ สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โพสต์ข้อความมีนัยยะถึงเรื่องดังกล่าวว่า

“เหยี่ยวข่าวคนมีชื่อ... แค่ยกหูก็คุยแหล่งได้แล้ว ไม่ได้วิ่งตะลอนๆ ในพื้นที่ชุมนุมเจอแรงกดดันสารพัด ไม่รู้หรอก พวกนักข่าวตัวเล็กๆ รู้สึกอย่างไร
เจตนาดี...และความรู้สึกของคนข่าวภาคสนามตัวเล็กๆ กำลังถูกบิดเบือน..การต่อสู้เพื่อสิทธิและความปลอดภัยในสนามข่าว กลายเป็น "หมาไม่เฝ้าบ้าน"
บ่อยครั้ง...เหยี่ยวข่าว ยุค 2.0 มักมองมดงานข่าวภาคสนามไม่ทำข่าวตรวจสอบแข็งขัน ทั้งที่หลายครั้งพวกเราคือจิกซอว์ข่าวที่ทำให้คุณได้ชื่อเสียง
ยุคนี้..มีใครทำข่าวแบบข้ามาคนเดียว กรูทำข่าวตรวจสอบคนเดียว ไม่มีทีมงานไม่มีพี่น้องผองเพื่อนสนามข่าวช่วยเหลือ ช่วยโชว์ตัวหน่อย
ถ้าใครเก่งคนเดียวแบบนั้นได้ ผมยอมซูฮก แต่ถ้าทำไม่ได้ อย่าพูดแบบดีเข้าตัว เรื่องชั่วๆพี่น้องรับไป
การขอแค่การเปิดหน้าเล่นข่าวทางโซเซียลเน็ตเวิร์ค อย่าเหมาเข่งว่า ความเห็นคุณคือความเห็นของนักข่าวภาคสนามทั้งหมด มันคือ การไม่เป็นหมาเฝ้าบ้าน?
คนบางคน กล้าเปิดตัวขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมือง ไม่แคร์ผลกระทบเพื่อนสื่อ แต่ไม่กล้าใช้ชื่อตัวเองเวลาเขียนโซเซียลเน็ตเวิร์ควิพากษ์คนอื่น กลัว?”


ในช่วงที่แฟนเพจสายตรงภาคสนาม ซึ่งอ้างว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวภาคสนามจากหลากหลายสังกัด เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 คุณสุเมธก็เคยออกมาตั้งคำถามว่า ไม่ทราบว่าคนสร้างเพจเป็นใคร มีวัตถุประสงค์อะไรในสถานการณ์สับสนวุ่นวาย การอ้างว่าเป็นที่รวมตัวของกลุ่มนักข่าวภาคสนาม แต่นักข่าวภาคสนามตัวจริงไม่มีใครรู้เรื่อง ควรแสดงตัวและเปลี่ยนชื่อ เพื่อไม่ให้นักข่าวภาคสนามทั้งหมดถูกมองอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ

ถึงกระนั้นแฟนเพจสายตรงภาคสนาม ก็ออกมาตอบโต้คุณสุเมธ ยืนยันว่าเป็นนักข่าวตัวจริงในภาคสนาม วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเสพข้อมูลข่าวสาร โดยอ้างว่าที่ไม่เปิดเผยตัวตนก็เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากต้นสังกัดของตัวเอง ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าเพจนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเลือกข้างรับใช้นักการเมือง เป็นการใช้อารมณ์และอคติเป็นตัวตั้ง

คงมีคนสงสัยว่าใครอยู่เบื้องหลังแฟนเพจนี้ ข้อมูลในจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตุลาคม 2555 เคยระบุว่า คนที่ทำหน้าที่หลักมีเพียง 2 คน มีนักข่าวใหญ่เรียบเรียงข้อมูลที่ถูกรับสารและถูกป้อนข้อมูลมาจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นนักการเมืองในพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งล้วนทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและมีความใกล้ชิดกับหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น โดยใช้พรรคการเมืองที่ประจำอยู่และรัฐสภาเป็นฐานที่มั่นในการอัพโหลดข้อมูล

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเที่ยวนี้ แฟนเพจสายตรงภาคสนามไม่ได้ออกมาตอบโต้เอง แต่กลับหยิบสเตตัสของ บุญระดม จิตรดอน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งถือเป็นนักข่าวรุ่นพี่ ออกมาบอกว่า การที่บรรดาสื่อโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจแฟนเพจสายตรงภาคสนามนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ลองสำรวจตัวเองบ้างไหมว่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบแหล่งข่าวที่คุณประจำ ทำหน้าที่อยู่อย่างเข้มแข็งแล้วหรือยัง ก่อนจะวอนให้หยุดเล่นงานพวกเดียวกัน

แม้นักข่าวที่อยู่เบื้องหลังแฟนเพจสายตรงภาคสนามจะได้ “พี่เด้ง” มาช่วยคุ้มครองให้ ถึงรอดจากการถูกเล่นงานรอบนี้มาได้ แต่สิ่งที่ยังคาใจถึงพฤติกรรมของแฟนเพจสายตรงภาคสนามจากบรรดานักข่าวภาคสนามที่เปิดหน้าทำงาน ยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งอันที่จริงผมก็รับรู้มาว่าบรรดานักข่าวไม่ค่อยชอบพฤติกรรมของนักข่าวคนนั้นพอสมควร แต่คงเป็นเพราะนักข่าวใหญ่คนนั้นมีชื่อเสียง ตกเป็นข่าวเสียเองมาก็หลายครั้ง จึงทำให้มีกองเชียร์อยู่เยอะเหมือนกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นอกจากหน้าที่ของสื่อมวลชนจะนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา ตามวัตถุวิสัยโดยปราศจากอคติแล้ว ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบกับการที่คนกลุ่มหนึ่งเปิดแฟนเพจนำเสนอข่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร พอๆ กับก่อนหน้านี้ที่อีกฝ่ายเปิดเว็บไซต์ เปิดบล็อกเสนอข่าวพาดพิงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งถ้าเห็นแบบนี้ผมคงไม่ชอบเช่นกัน แต่ก็ไม่มีใครจัดการ

ผมเป็นห่วงว่า หากสื่อมวลชนซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้ชี้นำสังคม ไร้ความรับผิดชอบกับสิ่งที่รายงานออกสู่สาธารณชนไปแล้ว หรือหากสื่อมวลชนมีวัตถุประสงค์แอบแฝงในด้านการเมืองและเศรษฐกิจมากเกินไป ขาดความเที่ยงธรรม เมื่อประชาชนไม่ได้รู้เท่าทันสื่อ ได้แต่ส่งต่อไปเรื่อยๆ สังคมก็จะเกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่ความคิดที่แตกแยกและไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในที่สุด

ประเด็นที่สอง... ในการชุมนุมเที่ยวนี้ สูตรสำเร็จของรัฐบาลในยามที่มีการชุมนุม คือการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เฉกเช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง กระทั่งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ซึ่งมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ต่อมาได้แต่งตั้งให้ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักกำลังพล (รอง ผบช.สกพ.) ซึ่งเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว ทำหน้าที่โฆษก ศอ.รส.

ที่ผ่านมาการแถลงข่าวของ ศอ.รส. ก็มักจะดุเดือดตามสไตล์ตำรวจอยู่แล้ว แต่ระยะหลังๆ กลับออกทะเลคล้ายการทำหน้าที่ของโฆษกพรรคเพื่อไทยอย่าง พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่มักจะหาประเด็นตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรายวันแบบเลอะเทอะ นอกจากนี้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของทีมโฆษกตำรวจ โดยใช้ชื่อว่า Policespokesmen ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แทนที่จะเป็นการสร้างความเข้าใจต่อประชาชน กลับกลายเป็นการเรียกแขกให้ผู้ชุมนุมโกธรแค้นเสียอย่างนั้น

ที่เจอกับตัวเองก็คือ วันนั้นเป็นวันหยุดอยู่กับบ้าน ผมนั่งอ่านทวิตเตอร์ไปเรื่อย ปรากฏว่ามีคนรีทวีตภาพทวิตเตอร์ทีมโฆษกตำรวจ ซึ่งมีใบหน้าของ พล.ต.ต.ปิยะเป็นอวาตาร์ชัดเจน แคปเจอร์ภาพหน้าเว็บเพจของเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ ซึ่งนำเสนอข่าวเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) แล้วเติมข้อความว่า “เดลินิวส์ ยืนยัน ม็อบระยำ ทำร้ายตำรวจ!!!!”

แม้ผมจะรู้สึกเฉยๆ ที่ทีมโฆษกตำรวจจะมีความคิดแบบนั้น แต่การแสดงออกเช่นนี้สะท้อนถึงความไม่มีวุฒิภาวะของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอคติต่อผู้ชุมนุม ถึงขนาดใช้คำผรุสวาทว่าเป็นม็อบระยำได้ ภายหลังผู้ดูแลร้อนตัวรีบลบภาพออก แต่ก็ไม่พ้นเป็นข่าว เดือดร้อนไปถึงสำนักข่าวสีบานเย็นอย่าง เดลินิวส์ออนไลน์ ต้องประกาศว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีก็อปปี้หน้าข่าวแล้วใส่ข้อความเพิ่มเติมในลักษณะยั่วยุ และขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำครั้งนี้แต่อย่างใด

ภายหลังสำนักข่าวทีนิวส์รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ ออกมาขอโทษกับทางเดลินิวส์ออนไลน์กรณีดังกล่าว อ้างว่าเพราะเหตุที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ (ทีมโฆษกตำรวจ) ที่มีความรู้สึกว่าตำรวจจะถูกรังแกอยู่เรื่อยๆ ก็เลยไปเพิ่มข้อความบางส่วนที่ไม่สุภาพ และส่งผลกระทบทำให้เดลินิวส์เสียหาย ซึ่งเดลินิวส์นั้นมิได้เป็นคนพิมพ์ข้อความนั้นเข้าไป และทางเราได้ทำการตรวจสอบ จึงได้รีบเอาข้อความดังกล่าวออกไปแล้ว

แต่วีรกรรมของทีมโฆษกตำรวจยังไม่หมด อย่างกรณีที่ ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ากรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบกล้องซีซีทีวีเพื่อดูสถานการณ์และตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม พบว่ามีชาย 2 คน สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ราชการ ได้ขึ้นรถกระเช้านำถุงดำมาคลุมกล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานคร บริเวณแยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ภาพวงจรปิดผ่านเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร และส่งต่อไปเรื่อยๆ

คราวนี้เป็นของ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งเป็นโฆษกอ้างว่าเป็นภาพเก่าที่มีการตัดต่อโดยเชื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 ได้ตรวจสอบและประสานข้อมูลเอาผิดกับผู้นำภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ตรวจสอบสถานีโทรทัศน์บลูสกายนำภาพซีซีทีวีมาออกอากาศ อ้างว่าเป็นการนำข้อมูลของทางราชการไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

แต่ถึงกระนั้น บรรดาผู้คนในโซเชียลมีเดียออกมายืนยันว่าฝ่ายตำรวจนำถุงครอบกล้องซีซีทีวีจริง โดยมีทั้งผู้ชุมนุมเผยแพร่ภาพในวันเกิดเหตุ ภายหลัง วสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาและโฆษกส่วนตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่า กรุงเทพมหานครไม่มีเหตุผลที่จะตัดต่อภาพเพื่อปลุกระดม พร้อมเตรียมให้ฝ่ายกฎหมาย ดำเนินคดีกับชาย 2 คนที่ปรากฏในภาพ ส่วนการเผยแพร่ภาพซีซีทีวีนั้นปกติก็เผยแพร่ผ่านสาธารณะอยู่แล้ว

หรือจะเป็นกรณีต่อมา ในช่วงที่กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เดินทางไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทำการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อประท้วงการทำหน้าที่รับใช้การเมืองของตำรวจ ปรากฏว่า พล.ต.ต.ปิยะ รีบออกข่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโรงพยาบาลตำรวจถูกตัดไฟ ต้องใช้ไฟฟ้าสำรองซึ่งใช้ได้จำกัด ส่งผลให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล 414 รายต้องเดือดร้อน พร้อมประณามผู้ชุมนุมไปตามระเบียบ

สำนักข่าวบางแห่งที่เน้นขายความเร็วเข้าว่า รีบลงข่าวผู้ชุมนุมตัดไฟโรงพยาบาลตำรวจขึ้นเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หนำซ้ำยิง SMS ข่าว กระแสสังคมจับตามองไปที่ผู้ชุมนุมว่าทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน เป็นพวกป่วนบ้านป่วนเมือง อย่างไรก็ตาม กลับมีคนเอะใจว่าไฟฟ้าของสองหน่วยงานน่าจะคนละหม้อแปลง บางคนด้วยความเป็นห่วงจึงแห่กันโทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ได้รับคำตอบจากโอเปอเรเตอร์ว่าโรงพยาบาลยังใช้กระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ ไม่มีการตัดไฟแต่อย่างใด

เมื่อผู้สื่อข่าวบางสำนักโทรศัพท์สัมภาษณ์ พล.ต.ท.นพ.ทรงเจตน์ อาวเจนพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ ก็เปิดเผยว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไฟฟ้าของโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากหม้อแปลงที่ผู้ชุมนุมตัดเป็นคนละตัว ขณะเดียวกันได้เตรียมไฟสำรองเอาไว้แล้ว ซึ่งใช้น้ำมันในการปั่นไฟ และมีแผนสำรองอพยพคนอีกด้วย ส่วนนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมอย่าง นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ก็ได้ตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง ปรากฏว่าที่นั่นยังใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติ

การตรวจสอบอย่างแข็งขันจากสื่อมวลชน และพลังจากโซเชียลมีเดีย เป็นการตอกย้ำให้ ศอ.รส. ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะ พล.ต.ต.ปิยะ กลายสภาพไม่ต่างอะไรกับเด็กเลี้ยงแกะ ในระยะหลังๆ ข่าวที่ออกมาจาก ศอ.รส. กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน และไม่มีใครเชื่อถือนอกจากพวกเดียวกันเอง บางครั้งผมนั่งแท็กซี่ไปทำงาน ได้ยินสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ (สวพ.91) ประโคมข่าวแต่รายงานจาก ศอ.รส. ทีไรก็ได้แต่ขำกลิ้งในใจทุกที

ผมคงไม่อยากแนะนำอะไรกับทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก เพราะก่อนหน้านี้ผมตำหนิในทวิตเตอร์ไป ปรากฏว่าทีมโฆษกดันบล็อกหน้าตาเฉยแทนที่จะชี้แจงกลับมา ราวกับโทร.แจ้ง 191 แล้วถูกตัดสายทิ้ง ซึ่งยังมีชาวทวิตเตอร์อีกนับสิบรายที่ถูกบล็อกแบบบ้าระห่ำ แรกๆ เลยได้แต่คิดในใจว่า นี่เหรอวะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กินเงินภาษีประชาชน แต่กลับทำงานเลือกปฏิบัติต่อประชาชนเสียเอง เลยไม่อยากจะพูดอะไรมาก เสียเวลากับพวกสมองหุ่นยนต์

กลับมาคิดดูอีกที สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะใช้ความเป็นองค์กรหลอกลวง หลอกล่อ หรือใส่ร้ายป้ายสีประชาชนเพื่อรับใช้อำนาจรัฐ ถ้าคิดว่าดีก็ทำไปเถอะ ถ้าไม่กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในด้านลบ แต่หารู้ไม่ว่าการหลอกตัวเองเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะสิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่รู้เลยว่ากำลังหลอกตัวเองอยู่ และจะหลอกตัวเองได้นานแค่ไหน

ประเด็นที่สาม... ในช่วงวันนัดรวมพลเมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) คุณเพ็ญพรรณ แหลมหลวง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย พร้อมผู้ช่วยช่างภาพ ถูกผู้ชุมนุมตะโกนด่าทอพร้อมเป่านกหวีดใส่ระหว่างรายงานข่าว และเมื่อลงมาจากรถโอบีก็ถูกต่อว่าและพยายามทำร้ายร่างกาย เพราะมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งไปตะโกนทำนองว่า “ขี้ข้าทักษิณ รายงานได้อย่างไรมีผู้ชุมนุม 3 พันคน” กระทั่งทั้งม็อบและหน่วยรักษาความปลอดภัยก็เข้ามาล้อมรถ แม้จะยืนยันว่าไม่ได้รายงานจำนวนคน แต่ก็ไม่เป็นผล

เหตุกระทบกระทั่งระหว่างผู้สื่อข่าวกับผู้ชุมนุม แม้มุมหนึ่งจะเป็นเรื่องมโนสาเร่ ไม่ต่างจากคนทะเลาะกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องน้อยนิดมหาศาลได้เช่นกัน เพราะการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นเรื่องร้ายแรง บรรดานักข่าวและนักวิชาการสื่อมวลชนมักจะออกความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การคุกคามนักข่าวเพียงเพราะไม่ชอบการรายงานข่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะนักข่าวภาคสนามไม่มีสิทธิ์เลือกนำเสนอข่าว คนตัดสินใจคือผู้บริหารสื่อระดับบรรณาธิการขึ้นไป

นักข่าวบางคนอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก ก็มองว่า นักข่าวคนไหนรายงานมั่ว เช่นถ้าม็อบมาสองแสนแล้วรายงานห้าพันจริงๆ ก็รอโหลดคลิปลงเฟซบุ๊ก แชร์ต่อๆ กันไปให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพี่เขาเล่นรายงานแบบนี้จริงๆ นะ แบบนี้นักข่าวเสียหายกว่าเยอะ ไปล้อม ไปชก ไปด่า ม็อบจะเสียซะเอง อ่านแล้วก็เห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าเรื่องนี้จับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะสาธารณชนไม่มีเวลามานั่งจับผิดว่าช่องไหนเสนอข่าวมั่วหรือไม่ ทุกคนต้องทำมาหากิน

ผมพยายามใจเย็นแล้วพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้น จากที่ผมได้ยินได้ฟังมา เรื่องนี้มันมีต้นตอที่เล็กมาก จากมวลชนรายหนึ่งไปพูดด้วยอารมณ์ทำนองว่า “รายงานได้อย่างไรมีผู้ชุมนุม 3 พันคน” ซึ่งเมื่อดูคลิปรายการข่าวในวันนั้นก็ไม่ได้ระบุจำนวนตัวเลข อีกทั้งเดี๋ยวนี้หลักปฏิบัติในการทำข่าวมักจะละเว้นการระบุตัวเลขผู้ชุมนุม จึงมีความเป็นไปได้สองประการ ถ้าไม่ใช่มือที่สาม ก็เป็นเพราะคนที่พูดทึกทักเอาเองว่าเป็นจริง จนกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

อีกด้านหนึ่ง หากลองคิดในมุมมองของผู้ชุมนุมบ้าง ตามหลักแล้วสาธารณชนไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม มีสิทธิ์ที่จะคาดหวังในการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมืออาชีพ แต่ในเมื่อสื่อมวลชนไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่คาดหวัง จึงเกิดความเคียดแค้น ชิงชัง นำไปสู่มาตรการทางสังคม และการเรียกร้องของมวลชนกลุ่มต่างๆ สื่อมวลชนกระแสหลักหลายสำนักพยายามที่จะปรับปรุงตัวเอง แต่เป็นเพราะนโยบายองค์กรสื่อที่ไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร จึงทำให้สาธารณชนส่วนหนึ่งไม่พึงพอใจ

ถึงอย่างไรก็ตาม เหยื่อที่แท้จริงของเรื่องนี้ก็คือนักข่าวภาคสนาม กลายเป็นหนังหน้าไฟให้คนที่ไม่พอใจได้ดุด่าว่าทอ บ้างก็ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นกันทุกการชุมนุม องค์กรวิชาชีพสื่อได้บันทึกเหตุการณ์แล้วนำมาสรุปทุกปี มีแถลงการณ์เกือบทุกครั้ง แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วฝ่ายที่จัดการชุมนุมต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยกำชับกับหน่วยรักษาความปลอดภัย และประกาศต่อมวลชน แม้บางครั้งสภาวะร้อยพ่อพันแม่ เป็นเรื่องลำบากที่จะแกนนำจะจัดระเบียบก็ตาม

ทราบว่าหลังเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น คุณเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่มผู้ชุมนุมได้คุยกับผู้สื่อข่าวหลังเวทีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจบลงด้วยดี มีบทเรียนในการทำความเข้าใจกับมวลชน ถึงการปฏิบัติกับสื่อมวลชนว่าอะไรควรไม่ควร แม้การทดแทนความรู้สึกต่อมวลชนที่ไม่พอใจการทำหน้าที่สื่อของสำนักต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องยาก ในยามที่การเมืองร้อนแรง มีอำนาจรัฐเรียกแขกให้ผู้ชุมนุมโกธรแค้นก็ตาม

ประเด็นสุดท้าย... เดี๋ยวนี้ข่าวลือมากันเยอะมาก บางเรื่องขาดความสมเหตุสมผล คราวก่อนมีข่าวว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิด 312 ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งนายกรัฐมนตรี คดีแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ผมสอบถามไปยังผู้สื่อข่าวประจำองค์กรอิสระ เบื้องต้นได้ความว่าไม่น่าจะชี้มูลในวันดังกล่าว เพราะคดีเพิ่งจะไต่สวน คงต้องรออีกพักใหญ่ ภายหลัง ป.ป.ช. ต้องออกมาปฏิเสธเอง พร้อมวิงวอนอย่าให้ ป.ป.ช.ไปเป็นฐานที่จะทำลายใครหรือจะไปสร้างประโยชน์ให้แก่ใคร

ล่าสุดหลังคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ อายัดบัญชีธนาคารแกนนำผู้ชุมนุมอีก 38 คน ก็มีข่าวปล่อยมาว่าศาลรัฐธรรมนูญออกหมายจับคุณธาริตบ้าง มีข่าวว่าคุณธาริตจะส่งตำรวจ 1 กองร้อยยึดกล่องรับบริจาคเงินทั้ง 3 เวทีบ้าง คือคนปล่อยข่าวก็อยากปล่อย แต่คนเสพข่าวหลายคนสักแต่จะแชร์จริงๆ เดี๋ยวนี้เจอข่าวอะไรที่ไม่ได้มาจากนักข่าวต้องคอยเปิด News Center เพื่อเช็กว่ามันมีมูลความจริงหรือไม่ ก่อนจะไหว้วานภาคสนามช่วยตรวจสอบอีกทาง

ฝากบอกพวกที่ชอบปล่อยข่าวลือ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหน) ว่า นักข่าวและผู้เสพข่าวสารอีกส่วนหนึ่งไม่ได้โง่ที่จะหลงเชื่อเสมอไป พร้อมที่จะหาข้อมูลมาเพื่อยืนยันหรือหักล้างได้ ไม่รู้จะปล่อยข่าวให้เหนื่อยไปทำไม?
มทภ.1 แจงภารกิจทหาร-ตร. รู้ม็อบต้านใครจ้างใครมาเอง ลั่นจับพวกติดอาวุธ ห่วง ปชช.เสพข่าวลือ
ผบ.กกล.รส.ประชุมหน่วยความมั่นคง แจง 4 ภารกิจ รวบพวกดื้อไม่มารายงานตัว พวกติดอาวุธ ระวังเงื่อนไขใหม่-ควบคุมสื่อไม่ให้ปลุกปั่น-ตั้งด่านตรวจ-ทำความเข้าใจหมู่บ้าน ยัน กม.ใช้เน้นแกนนำ ฟันเด็ดขาดพวกป่วน เผย “ประยุทธ์” ไม่ยอมพวกใช้อาวุธฆ่าไทยด้วยกัน ใช้แผนเบาไปหาหนักสอนพวกต้าน รับยังเปิดเผยไม่ได้คุมใครอยู่บ้าง ยันรู้หมดใครถูกจ้างใครมาเอง ลั่นใครปล่อยไปแล้วป่วนซ้ำเจอมาตรการเด็ดขาด ขออยู่นิ่งๆ ยังไม่ปล่อยโจกแดง โอ่อยู่ดีกินดี ห่วงชาวบ้านเสพข่าวลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น