xs
xsm
sm
md
lg

หนูสอบไม่ผ่าน…ฟ้องศาลตรวจสอบอาจารย์ได้ไหม ???

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมชาติ” วลีคลาสสิกที่เอาไว้ปลอบใจผู้สอบไม่ผ่าน
ที่ใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย...

จะว่าไปแล้ว...เรื่องการสอบนี้ เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นกันเลยจริงๆ ครับ แม้จะผ่านวัยเรียนเข้ามาสู่วัยทำงานแล้วก็ตาม ก็ยังต้องมีการเรียนเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องมีการประเมินผลหรือสอบวัดผลอีกเช่นกัน และที่ทรมานใจ

ใครหลายคนเห็นจะเป็นการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ที่เวลาขึ้นสอบทีไร ใจก็เต้น ตึ้กตั้กๆ ทุกทีไป... ที่พูดเช่นนี้...เพราะครองธรรมก็ยังรู้สึกอย่างนั้นเช่นกันครับ...

ที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวเรื่องของอาจารย์ที่ใช้เกรดมาเป็นข้อต่อรองกับนักศึกษาในหลายๆ กรณี
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าละอายและผิดจรรยาบรรณ ...และมีหลายคนตั้งคำถามกับผมว่า ถ้าเราสอบไม่ผ่าน ทั้งที่เห็นว่าตัวเองน่าจะสอบผ่าน หรือเห็นว่าอาจารย์หรือคณะกรรมการมีอคติหรือให้คะแนนโดยไม่เป็นธรรม จะสามารถฟ้องศาลปกครองให้ตรวจสอบได้หรือไม่ ?

คำถามนี้น่าสนใจ... ผมเลยขอนำคำตอบมาเฉลยกันในคอลัมน์ครบเครื่องคดีปกครองด้วยครับ
กรณีการฟ้องโต้แย้งผลการสอบของสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ถือเป็น
คดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือ การฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรือใช้อำนาจทางปกครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้เพราะศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางหลักไว้แล้วว่า “การจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดผลการศึกษา เป็นภารกิจที่รัฐมีหน้าที่ในทางปกครองที่ต้องควบคุมดูแลเพื่อให้การจัดการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่งบรรลุผล โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง (สถาบันการศึกษาของรัฐ) หรืออาจมอบหมายให้องค์กรเอกชนดำเนินการแทน” ดังนั้นสถาบันการศึกษาที่เป็นเอกชนก็อยู่ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองคือการจัดการศึกษา จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครองเช่นเดียวกันกับสถาบันการศึกษาของรัฐ และอาจารย์หรือคณะกรรมการผู้ซึ่งปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในส่วนประกาศผลการสอบ ใบแจ้งผลการสอบ หรือมติของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นั้น ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ฉะนั้น ในกรณีการฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศผลการสอบหรือใบแจ้งผลการสอบ หรือการฟ้องขอให้
เพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง(ซึ่งก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล ผู้ฟ้องคดีจะต้องพิจารณาเงื่อนไขการฟ้องคดีในมาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 49 มาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ รวมทั้งมาตรา 40 มาตรา 44 และมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ประกอบกันด้วย)

ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อฟ้องคดีต่อศาลได้แล้ว ศาลท่านจะมีอำนาจหรือมีขอบเขตในการตรวจสอบได้แค่ไหน เพียงใด ?

ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเป็นแนวทางไว้แล้ว... ในคดีที่นางสาวหนูดี ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์และมหาวิทยาลัย ที่ได้ประกาศผลให้ตนไม่ผ่านเกณฑ์การสอบวิทยานิพนธ์เป็นครั้งที่สอง โดยนางสาวหนูดีได้โต้แย้งถึงความไม่ชอบของผลการสอบดังกล่าวไว้ 3 ประการดังนี้

1. ความไม่เป็นกลางของคณะกรรมการสอบ เนื่องจากเมื่อครั้งที่นางสาวหนูดีไม่ผ่านการสอบวิทยานิพนธ์ในครั้งแรก นางสาวหนูดีได้เคยนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว แต่ในครั้งนั้นศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากนางสาวหนูดียังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล คือยังไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งผลการสอบกับทางมหาวิทยาลัยเสียก่อน ดังนั้นในการสอบครั้งที่สองนี้ นางสาวหนูดีจึงได้ร้องขอให้มีการเปลี่ยนคณะกรรมการสอบชุดใหม่ เพราะเห็นว่าเคยเป็นคู่กรณีกันในศาลมาแล้วและเคยประเมินให้ตนไม่ผ่านในการสอบครั้งแรก อันเป็นกรณีมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาผลการสอบไม่เป็นกลางได้ (ทั้งนี้ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ)แต่ทางมหาวิทยาลัยก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบแต่อย่างใด และผลก็คือนางสาวหนูดีไม่ผ่านเกณฑ์การสอบเช่นเดิม…

ข้อโต้แย้งของนางสาวหนูดีประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า ในการโต้แย้งความไม่เป็นกลางของคณะกรรมการสอบดังกล่าว ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีพยานหลักฐานใดที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่า การไม่เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบจะทำให้การพิจารณาผลสอบเสียความเป็นกลางอย่างไร ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยยังได้ให้โอกาสโดยอนุมัติขยายเวลาการศึกษาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้นางสาวหนูดีได้เข้าสอบวิทยานิพนธ์ในครั้งที่สอง โดยได้ให้เหตุผลของการที่ไม่เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบว่า เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัดหากเปลี่ยนกรรมการจะต้องมีการอ่านตรวจวิทยานิพนธ์ของนางสาวหนูดีใหม่ทั้งหมดซึ่งจะไม่ทันเวลาอันเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ กรณีจึงยังไม่ถือว่ามีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาผลสอบวิทยานิพนธ์ของนางสาวหนูดีเกิดความไม่เป็นกลาง

2. มหาวิทยาลัยเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับนางสาวหนูดี เนื่องจากได้ปฏิบัติต่อนางสาวหนูดีแตกต่างจากนักศึกษาคนอื่นๆ โดยใช้เวลาสอบนางสาวหนูดีนานถึง 5 ชั่วโมง !! รวมทั้งยังมีการบันทึกวีดีโอจนทำให้เกิดความกดดันและไม่มีสมาธินั้น ศาลเห็นว่า ตามข้อบังคับหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสอบวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการกำหนดเวลาในการสอบไว้ ซึ่งโดยหลักการ ผู้เข้าสอบจะต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าตนมีความรู้ความสามารถและมีความเข้าใจในรายงานการศึกษาหรือวิทยานิพนธ์ที่ตนได้จัดทำขึ้นเป็นอย่างดี จึงจะผ่านการสอบ สำหรับการบันทึกวีดีโอนั้น มหาวิทยาลัยได้ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ รวมทั้งน่าจะเป็นคุณกับนางสาวหนูดีในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการสอบเกิดขึ้น

3. คุณภาพผลการศึกษาของนางสาวหนูดีอยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกันกับนักศึกษาคนอื่นๆ
ที่ผ่านการสอบ ประเด็นนี้เป็นการพิจารณาในเนื้อหาของวิทยานิพนธ์หรือการให้คะแนนสอบของอาจารย์หรือคณะกรรมการแต่ละท่าน ที่ศาลเห็นว่าการให้คะแนนสอบดังกล่าวถือเป็นดุลพินิจในทางวิชาการซึ่งต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านของผู้เชี่ยวชาญหรือของอาจารย์แต่ละท่าน อันเป็นดุลพินิจโดยแท้ที่ศาลไม่อาจเข้าไปตรวจสอบได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ชัดแจ้งว่ากรรมการสอบได้จงใจใช้ดุลพินิจดังกล่าวโดยไม่สุจริตหรือเป็นการกลั่นแกล้งนางสาวหนูดี
ฉะนั้น เมื่อการสอบวิทยานิพนธ์ในครั้งที่สองนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ประกาศผลการสอบที่ให้นางสาวหนูดีสอบไม่ผ่าน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย (คดีหมายเลขแดงที่ อ.536/2554)
จากกรณีของนางสาวหนูดี จะเห็นได้ว่า...ในการตรวจสอบเกี่ยวกับผลการสอบนั้น ศาลจะตรวจสอบ
ในส่วนของหลักเกณฑ์หรือข้อกฎหมายว่าได้มีการดำเนินการโดยถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่ แต่ศาลจะไม่เข้าไปดูในส่วนของการให้คะแนนว่าควรให้คะแนนเท่าไร คะแนนที่ให้เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเป็นดุลพินิจทางวิชาการของอาจารย์แต่ละท่าน ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับแนวคำพิพากษาคดีปกครองของประเทศฝรั่งเศสที่ว่า การประเมินผลการศึกษาของนักศึกษาแต่ละรายนั้นเป็น “อำนาจเด็ดขาด” ของคณะกรรมการสอบ

ที่ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ศาลใช้หลัก “การตรวจสอบขั้นต่ำ” คือ การเข้าไปตรวจสอบในเรื่องของเงื่อนไขการใช้อำนาจว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น คณะกรรมการมีความเป็นกลางและจัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การวัดผลได้ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของมหาวิทยาลัยหรือไม่

ดังเช่น ในกรณีที่อาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งได้เคยฝ่าฝืนกฎเกี่ยวกับการปกปิดชื่อนักศึกษาในกระดาษคำตอบในการสอบสมัยหนึ่งมาแล้ว ยังคงเป็นกรรมการสอบวัดผลในการสอบซ่อมในสมัยเดียวกันอีก ซึ่งถือว่าขัดกับหลักความเป็นกลาง หรือกรณีอาจารย์ซึ่งได้ประเมินให้นักศึกษาคนหนึ่งสอบตก โดยปรากฏหลักฐานจากรายงานการประชุมว่า กรรมการผู้นั้นและนักศึกษาคนดังกล่าวได้เคยขัดแย้งโต้เถียงกันในที่ประชุม และอธิการบดีได้ขอให้อาจารย์ท่านดังกล่าวทบทวนผลการสอบแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่เพียงพอว่า กรรมการผู้นั้นมีอคติกับนักศึกษาคนดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้การพิจารณาผลการสอบนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

ถึงตรงนี้คงชัดเจนแล้วนะครับ... เกี่ยวกับขอบเขตหรืออำนาจในการตรวจสอบผลการสอบของศาล และผมขอเพิ่มเติมในส่วนของผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีซึ่งเป็นสิทธิของผู้สอบเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้นพ่อแม่พี่น้องจึงไม่อาจฟ้องแทนกันได้นะครับ ซึ่งในกรณีผู้เยาว์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ศาลปกครองก็อาจพิจารณาอนุญาตให้ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเองได้

นอกจากนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประกาศผลการสอบ ยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดได้อีกด้วย เช่นการที่มหาวิทยาลัยประกาศผลสอบล่าช้า ทำให้นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาถัดไป ทั้งที่หากมีการประกาศผลสอบตามเวลาปกติ ก็จะทราบว่าผลการเรียนอยู่ในภาวะรอพินิจซึ่งต้องพ้นจากสภาพการเป็นนักศึกษาไปแล้ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องชดใช้เงินที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาถัดไปคืน หรือกรณีที่นักศึกษาได้รับประกาศนียบัตรล่าช้า ทำให้ขาดโอกาสที่จะเข้าทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นต้น
ตัวอย่างคดีที่ผมนำมาฝากกันนี้... จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนนักศึกษาในการปกป้องรักษาสิทธิของตัวเองนะครับ...

สำหรับครองธรรมถือคติที่ว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการไปเรียนกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ตาม... เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราได้นำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร สังคมและประเทศชาติอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ ?
และแล้ว...ทันทีที่ผมก้มมองดูนาฬิกา... ก็ต้องถึงกับสะดุ้งโหย่ง ! เพราะใกล้ถึงเวลาเข้าเรียนแล้ว ต้องรีบไปก่อนนะครับ เดี๋ยวเวลาเรียนไม่ครบ... จะหมดสิทธิ์สอบเสียก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้ลงสนาม…

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น