ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อดีตผู้บริหารคนสำคัญของปรส.ยุควิกฤติต้มยำกุ้ง “อมเรศ ศิลาอ่อน-วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ” ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี
เวลา 09.00 น. วันนี้ (17 ก.ย.) รายงานข่าวจากศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก แจ้งว่า ศาลได้นัดพิพากษาคดีที่นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการ ปรส.พร้อมพวก ฐานกระทำความผิด พ.ร.บ.พนักงานองค์กรรัฐทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ปรส.กับเอกชนมิชอบ โดยศาลพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ทั้งนายอมเรศเ เละนายวิชรัตน์ จากความผิดฐานไม่เรียกเก็บเงินงวดแรกเอกชนชนะประมูลสินทรัพย์ ปรส. แต่ศาลยังให้โอกาสรออาญา 3 ปี
สำหรับรายละเอียดของคดีมีดังนี้ :
ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น .วันนี้ (17 ก.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาขายสิน 56 สถาบันการเงิน(ไฟแนนซ์เน่า) คดีดำ อ.3344/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนาย อมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 79 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่ 1 นาย วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 65 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส และเป็นกรรมการ กับเลขานุการปรส. ที่ 2 บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ผู้รับประโยชน์ที่ 3 บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนาย ชาร์ล เจสัน รูบิน (CHARLES JASON RUBIN) ที่ปรึกษา ปรส. ที่ 4 กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ ที่ 5 และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้ง กองจำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2551 ระบุความผิดสรุปว่า
เมื่อระหว่างวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค. 2541 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 - 2 กับพวกได้วางแผนแบ่งหน้าที่กัน โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส. มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน(ไฟแนนซ์เน่า)ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามพ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้จัดตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด
ส่วนจำเลยที่ 5 - 6 เป็นนิติบุคคลที่เข้าร่วมหลักเกณฑ์ขั้นตอนวิธีการประมูลทรัพย์สินของ ปรส. จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลที่เข้ารับการปรึกษาด้านวาณิชธนกิจ กับ ปรส.โดยมีจำเลยที่ 3 ถือหุ้นในจำเลยที่ 4 ด้วย
โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2541 คณะกรรมการ ปรส.มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2541 ปรส. และ บริษัท เลแมน บราเดอร์ส จำเลยที่ 3ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค. 2541 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย. 2541 แต่ คณะกรรมการ ปรส. มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2541 ให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค. 2541 ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค. 2541 แทน ทั้งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.41 คณะกรรมการ ปรส.และ บริษัท เลแมนบราเดอร์สฯ ได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการโดยให้ผู้เสนอราคา สามารถเสนอราคาโดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่าย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2541 จำเลยที่ 3 ได้ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเองเข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 รายโดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทซึ่งได้วางหลักประกันแล้วเป็นเงิน 10 ล้านบาท และจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด คณะกรรมการการ ปรส.จึงมีมติให้ จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายกับ ปรส.ภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค. 2541 พร้อมทั้งต้องชำระเงินงวดแรกร้อยละ 20 ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท ซึ่งหากจำเลยที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายในวันดังกล่าวจะทำให้จำเลยที่ 3 ต้องมีภาระภาษีในกิจการดังกล่าว แต่วันที่ 20 ส.ค. 2541 ที่เป็นวันครบกำหนดจำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรก โดยจำเลยที่ 3 เพียงแต่วางเงินประกัน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การประมูลดังกล่าวจึงไม่เกิดสัญญาขึ้น
ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2541 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง(ขณะนั้น) ได้แจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งผลประโยชน์ในกรณีที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะการประมูล และเป็นบริษัทกลุ่มเดียวของจำเลยที่ 4 ที่ปรึกษา ปรส. โดยจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.2541 ปรส.โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขาย ได้ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ปรส.กับจำเลยที่ 5 อันเป็น กองทุนผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มเลแมน บราเดอร์ส
การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2541 จำเลยที่ 3 ผู้ชนะการประมูลไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ ปรส.ซึ่งจำเลยที่ 1 และ 2 ควรยกเลิกการประมูลหรือจัดให้มีการประมูลใหม่ และริบเงินประกันจำนวน 10 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้ดำเนินการเมื่อ รมว.คลัง แจ้งข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใสและมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จำเลยที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ปรส.ในการจำหน่ายสินทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1- 2 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายแต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 ต.ค. 2541 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูลและไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น
การกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก จึงเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร โดยจำเลยที่ 3-6 นาง วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ และนาย คาร์ลอส มานาแลค ชาวฟิลิปปินที่หลบหนี กับพวก เป็นผู้ร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 - 2 การกระทำของจำเลยทั้งหมดเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และ ปรส.
เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงสีลม เขตบางรัก กทม.เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ 1-2 อ้างว่า ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้ว การที่จำเลยที่ 1-2 ไม่ดำเนินการให้จำเลยที่ 3ทำสัญญาขายมาตรฐานและชำระเงินงวดแรกภายในกำหนดเป็นการกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสอง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ ปรส.ที่มีการอนุมัติผลการประมูลสินทรัพย์ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ ปรส.ครั้งที่มีการแจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่องการลงนามในสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสอง จึงมีหน้าที่ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และประกาศของ ปรส. รวมถึงข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 - 3 ต่างลงนามในสัญญาขายมาตรฐานฝ่ายละฉบับในรูปแบบสัญญา 2ขา และมอบเอกสารให้บุคคลภายนอกเก็บไว้ชั่วคราว ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในการจำหน่ายสินทรัพย์ ทั้งจำเลยที่ 1-2 ไม่ได้ดำเนินการให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดแรกจำนวน 2,304 ล้านบาทให้แก่ ปรส. เพียงแต่วางเงินมัดจำไว้เท่านั้น
การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของ ปรส.ที่จ้างให้ให้จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา แล้วอนุมัติให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท จำเลยที่4 ถึงร้อยละ 99.99 เป็นผู้ชนะการประมูลสินทรัพย์ของ ปรส. ประกอบกับการที่ ปรส. มีมติให้ให้เลื่อนการประมูลออกไปจากเดิมวันที่ 30 ก.ค. 2541 เป็นวันที่ 13 ส.ค. 2541 ทำให้จำเลยที่ 3 สามารถไปจัดตั้งจำเลยที่ 5 เพื่อมารับโอนสิทธิการประมูลทรัพย์ได้ทันนั้น แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ และการรกระทำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1-2 เพื่อให้จำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ทำให้ ปรส. ในฐานะผู้เปิดประมูลขายสินทรัพย์ได้รับความเสียหาย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1-2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1-2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
ส่วนจำเลยที่ 3-6 จากทางนำสืบของโจทก์คงปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จาการกระทำของจำเลยที่ 1 2 สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา ปรส. จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับโอนสิทธิการประมูลสินทรัพย์ และจำเลยที่ 6 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 5 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 - 6 กระทำผิด
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 -2 เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปรส. และต่อมาได้มีการชำระเงินเต็มจำนวนจากการประมูลสินทรัพย์ให้แก่ ปรส.จนครบถ้วนแล้ว เห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ เคยเป็นดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ส่วนจำเลนจำเลยที่ 2 เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการการกลั่นกรองติดตามแผนการฟื้นฟูกิจการของสถาบันการเงิน 58 แห่ง
กรณีถือว่าได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และจำเลยที่ 1 มีอายุ 79 ปี จำเลยที่ 2 มีอายุ 65 ปี จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสอง กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง
ภายหลังฟังคำพิพากษานายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีต ประธาน ปรส. กล่าวสั้นๆ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ขอยืนยันว่าตนได้ปฏิบัติไปตามหน้าที่โดยถูกกฎหมายแล้ว และจะให้ทนายความพิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ปรส.เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 เพื่อดำเนินการปฎิรูปสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการในขณะนั้น แต่ ปรส.โดยนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน โดยเฉพาะวาณิชธนกิจต่างชาติเป็นเหตุให้สินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 851,000 ล้านบาทถูกประมูลขายไปได้เงินชำระบัญชีเพียง 190,000 ล้านบาท
อ่านข่าวเพิ่มเติมจากผู้จัดการรายเดือน 360 องศา : เมื่ออมเรศ ยอมรับ “ผมพลาดเอง” งานของ ปรส.ก็ล้มเหลว
กรรมเก่า