xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง “อดีตกัปตัน” ฟ้อง “ปิยสวัสดิ์” อดีตดีดีบินไทย ไม่รับอุทธรณ์โทษวินัย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
อุทธรณ์ยกฟ้อง “ปิยสวัสดิ์” อดีตดีดีการบินไทยกับพวก ไม่ผิด พ.ร.บ.ความผิด พนง.องค์การรัฐ หลังอดีตกัปตันการบินไทยฟ้องมีเจตนากลั่นแกล้ง พิจารณาอุทธรณ์โทษวินัยล่าช้าเกินกว่า 45 วัน ทำให้ถูกตัดเงินเดือน 25 เปอร์เซ็นต์นานครึ่งปี ศาลชี้คดีไม่มีมูล

ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (13 ก.ย.) ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.2894/2553 ที่ เรืออากาศโท อภิชัย แสงศศิ อดีตนักบินที่ 1 (กัปตัน) และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ อดีตรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐฯ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6-18 ต.ค. 2552 จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการ กก.ผอ.ใหญ่การบินไทย ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยเจตนาทุจริต โดยไม่ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ กรณีที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2552 ที่มีผู้ร้องเรียนเรื่องการจัดหาและเช่าโรงแรมที่พักให้ลูกเรือในต่างประเทศ อันเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ถูกลงโทษและเสียอนาคตในอาชีพการงานของโจทก์ซึ่งเป็นนักบิน

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 19 ต.ค. 2552 - 12 พ.ค. 2553 จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่ง กก.ผอ.ใหญ่การบินไทย ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยไม่ปฏิบัติการต่อจากจำเลยที่ 1 ที่ทำค้างไว้ให้แล้วเสร็จ รวมถึงการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ทำให้โจทก์ถูกบริษัทการบินไทยตัดเงินเดือน 25 % เป็นเวลา 6 เดือน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ต้องเลื่อนพิจารณาอุทธรณ์ข้อร้องเรียนออกไป สาเหตุเพราะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผอ.ใหญ่การบินไทย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การลงโทษวินัยเป็นกรณีพิเศษเสนอ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์มาก่อนนั้นยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจเสนอชื่อซ้ำซ้อน และจำเลยที่ 1 รักษาการ DD เพียง 12 วันเท่านั้น ขณะที่การพิจารณาอุทธรณ์นั้นยังมีขอร้องเรียนของบุคคลอื่นอีก 2 ราย ไม่ใช่ของโจทก์เพียงรายเดียว ซึ่งโจทก์ก็รับว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าระหว่างวันที่ 19 ต.ค. 2552 - 12 พ.ค. 2553 จำเลยที่ 2 ไม่อาจดำเนินการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เร็วภายในกำหนดที่เหมาะที่ควร เมื่อยังไม่มีมูลเพียงพอว่าจะมีเจตนาพิเศษกลั่นแกล้งโจทก์ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น