xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” คาด ผอ.ออมสินถูกบีบให้คนอื่นเสียบ ตำหนิทุบกระปุกให้คลังกู้หวั่นเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง ชี้กรณีแบงก์ออมสินเปลี่ยนระเบียบขยายอำนาจผู้บริหารทุบกระปุกเด็กปล่อยสินเชื่อคลังไม่จำกัดวงเงิน ชี้สนองนโยบายประชานิยม อีกทั้งคลังไม่เคยกู้แบงก์ออมสินมาก่อน หวั่นธนาคารเสียหาย ส่วนกรณี ผอ.ธนาคารออมสินชี้แบงก์ชาติไม่เคยรายงานความบกพร่อง คาดใช้ข้ออ้างบีบออกหวังนำคนอื่นเข้าเสียบมากกว่า วอนอย่ากล่าวหาลอยๆ ทำลายชื่อเสียง

วันนี้ (22 ก.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารออมสินมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบธนาคารออมสินว่าด้วยการให้สินเชื่อว่า เป็นการออกระเบียบในวันที่ 19 ก.ค. 55 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินของนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้นายเลอศักดิ์มีปัญหากับบอร์ดมาตลอด และมีความขัดแย้งกับนางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสิน สิ่งที่รัฐบาลทำ คือ มีการปรับระเบียบโดยลดอำนาจ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ในการปล่อยสินเชื่อ มาปรับไปเป็นเหมือนเดิมตามที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 55

“ผมคิดว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกลับมาจากเดิมที่มีการปรับลดอำนาจลง เพราะคิดว่าคนบริหารไม่ใช่คนของตัวเองที่จะสั่งได้ แต่เมื่อมีคนของตัวเองเข้าไปแล้วจึงปรับอำนาจการบริหารให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ผมก็สงสัยว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่เคยกู้เงินจากออมสินมาก่อน สิ่งที่เป็นห่วงคือ เรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหาร เพราะในอดีตสมัยที่นายนิพัทธ พุกกะณะสุต เป็นประธานกรรมการธนาคารออมสิน เคยมีการอนุมัติเงิน 375 ล้านบาทโดยพลการ เพิ่มทุนให้แบงก์บีบีซี (ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ) จนเป็นคดีฟ้องร้องอยู่ในศาล แสดงให้เห็นว่าเคยมีการใช้ธนาคารออมสินในทิศทางที่ไม่ถูกต้องมาก่อน ก็ต้องพึงระวังว่ามีแนวคิดอะไรที่จะใช้เงินออมประชาชนไปสนับสนุนโครงการใดหรือไม่” นายกรณ์กล่าว

อดีต รมว.คลังกล่าวด้วยว่า จุดประสงค์ในการก่อตั้งธนาคารออมสินมีไว้ตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเรื่องของสินเชื่อ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้ธนาคารออมสินในการผลักดันนโยบายแก้หนี้นอกระบบและธนาคารประชาชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งทุน ดังนั้น ธนาคารออมสินควรยึดหลักการนี้ คือ มุ่งเน้นที่การให้สินเชื่อกับผู้กู้ขนาดเล็กว่าต้องเป็นภารกิจหลัก ไม่ใช่สนับสนุนหน่วยงานรัฐ หรือรัฐบาลที่ช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว

“การเปิดช่องให้อำนาจเต็มที่ตามระเบียบที่ออกมา ก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของคนมีอำนาจว่า จะใช้อำนาจที่มีในมือเป็นประโยชน์ในการตอบสนองนโยบายประชานิยมของตัวเองหรือไม่ หรือตอบสนองความต้องการของพรรคพวก จนทำให้ธนาคารเสียหายอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราผ่านช่วงนั้นมามีการบริหารในลักษณะมืออาชีพมานานพอสมควร ผมไม่อยากให้เห็นธนาคารออมสินกลับเข้าสู่วังวนเดิม” นายกรณ์กล่าว

อดีต รมว.คลังยืนยันด้วยว่า ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีไม่เคยมีหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเกี่ยวกับความบกพร่องของนายเลอศักดิ์ ตามที่มีกระแสข่าวออกมา เพราะนายเลอศักดิ์ไม่เคยมีปัญหากับแบงก์ชาติ จึงเห็นว่าเป็นความพยายามที่จะใช้เป็นข้ออ้างทำให้เกิดความเสียหายต่อนายเลอศักดิ์พื่อนำคนของตัวเองเข้ามาบริหารมากกว่า และอยากให้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา หากผิดก็ดำเนินการ แต่ไม่ควรกล่าวหาลอยๆ เพื่อทำลายชื่อเสียงของนายเลอศักดิ์

สำหรับ นายนิพัทธ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการใน กยอ.ที่มีนายวีรพงศ์ รามางกูร เป็นประธาน และมีความใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเคยเป็นที่ปรึกษาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมอยู่ในทีมเดียวกับนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ซึ่ง ครม.เพิ่งแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ในยุคของนา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย

ประวัติของนายนิพัทธที่น่าสนใจ คือ ในปี 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า นายนิพัทธ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ รับสินบนจาก บ.ซันเอสเตทจำนวน 30 ล้านบาท มีมติให้ดำเนินคดีอาญาและวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตรับสินบน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค.43 อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลังมีมติให้นายนิพัทธออกจากราชการ

ปี 2544 นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รมว.คลังขณะนั้น สั่งให้นายนิพัทธชดใช้เงิน 375 ล้านบาทให้ธนาคารออมสิน หลังจากที่มีการอนุมัติให้ธนาคารออมสินนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับแบงก์บีบีซี เมื่อปี 2540 ในขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารออมสิน โดยปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้นายนิพัทธจ่ายค่าเสียหายให้ธนาคารออมสินรวมดอกเบี้ยกว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากใช้อำนาจประธานกรรมการธนาคารออมสินอนุมัติเงินโดยไม่ผ่านคณะกรรมการ

นายนิพัทธกลับเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจจากการช่วยเหลือของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มต้นจากการดึงนายนิพัทธไปเป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีคำสั่งจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ ก.พ.ทบทวนโทษทางวินัยอีกครั้ง ในที่สุด ก.พ.ก็มีมติในเดือนมกราคม 2546 ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 ว่านายนิพัทธมิได้มีความผิดวินัยร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก แต่เป็นการทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงให้มีโทษแค่ตัดเงินเดือนเท่านั้น ทำให้นายนิพัทธได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งและเกษียณอายุราชการในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังในเดือนกันยายน 2546 ต่อมาในปี 2549 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า นายนิพัทธรับสินบน 30 ล้านบาทและร่ำรวยผิดปกติ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับ นายนิพัทธ ยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสินคนปัจจุบัน ในฐานะเป็นเจ้านายเก่าของนางพรรณี และเป็นผู้ผลักดันให้นางพรรณีดำรงตำแหน่งประธานกรรมธนาคารออมสิน
กำลังโหลดความคิดเห็น