“สัก กอแสงเรือง” หลุดเก้าอี้ ส.ว.ศาลฎีกา เลือกตั้ง สั่งเพิกถอนการสรรหา พร้อมให้สรรหาใหม่ แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
ที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 1 ส.ค.2555 ศาลอ่านคำสั่งคดีดำ ลต.(ส.ว.) 1/ 2555 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการสรรหาวุฒิสภา (ส.ว.) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นายสัก กอแสงเรือง ผู้คัดค้าน กรณี กกต.เพิกถอนสิทธิการสรรหาของนายสัก เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115(9) ขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว. เพราะเคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2543 โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 315 วรรคห้ากำหนดให้ ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 เข้าดำรงตำแหน่ง ส.ว.ภายหลังจากชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 อยู่ครบวาระ ส.ว.ชุดเลือกตั้ง ปี 2543 จึงเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 22 มี.ค.2543 เป็นต้นมา โดยมีกำหนดวาระ 6 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2543 - 21 มี.ค.2549 ต่อมาสภาทนายความได้เสนอชื่อนายสัก เข้ารับการสรรหา ส.ว.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2554 โดยขาดคุณสมบัติและพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือพ้นจาก ส.ว.ชุดเลือกตั้งปี 2543 มายังไม่ถึง 5 ปี
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา และการที่ผู้คัดค้านเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 นั้น ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามมาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ส่วนการสิ้นสุดสมาชิกภาพของผู้คัดค้านนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 20/2543 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2543 ว่า สมาชิกภาพ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งเดิมเป็นไปตามมาตรา 315 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2543 แม้การเลือกตั้งวันที่ 4 มี.ค. 2543 จะได้จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ประกาศผลการเลือกตั้งยังไม่ครบ 200 คน และ กกต.ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับจำนวนที่ยังไม่ครบก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงวันสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ว.ตามมาตรา 315 วรรคสาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐสภาและศาลตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สมาชิกภาพ ส.ว.ของผู้คัดค้านซึ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2543 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาชิกภาพของ ส.ว.ชุดเดิมสิ้นสุดลงตามมาตรา 315 วรรคห้า (1) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2543 ไม่ใช่วันที่ 4 มี.ค.2543 อันเป็นวันเลือกตั้ง และผู้คัดค้านครบวาระของการดำรงตำแหน่ง 6 ปีในวันที่ 21 มี.ค.2549 ไม่ใช่วันที่ 3 มี.ค.2549
ดังนั้น การที่สภาทนายความยื่นคำขอลงทะเบียนขององค์กรเสนอชื่อผู้คัดค้านเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2554 ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.ตามมาตรา 115(9) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เนื่องจากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.มาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี จึงต้องถือว่าการสรรหาส.ว.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการสรรหาจากผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาส.ว. อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 240 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 134(1) จึงต้องสั่งให้สรรหาส.ว.ในส่วนของผู้คัดค้านใหม่ แต่ตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุถึงขนาดอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านรู้ดีอยู่แล้วว่าตนมีลักษณะต้องห้าม หรือมีเจตนาหรือจงใจที่จะกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยประสงค์ให้ผลการสรรหา ส.ว.เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จึงยังไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสรรหาส.ว.ในส่วนของผู้คัดค้านและให้ดำเนินการสรรหา ส.ว.ในส่วนของผู้คัดค้านใหม่ คำขออื่นให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายสัก กอแสงเรือง ไม่ได้มาฟังคำสั่งศาล มีเพียงทนายความเดินทางมาเท่านั้น ทั้งนี้ นายสัก ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว.สรรหาจากสภาทนายความ แต่ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้เข้ารับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว.ร้องคัดค้านว่านายสักมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115(9) และ กกต.ได้เพิกถอนสิทธิการสรรหาด้วยมติเอกฉันท์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา กรณีที่ นายสัก พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง หรือพ้นจาก ส.ว.ชุดเลือกตั้งปี 2543 มายังไม่ถึง 5 ปี จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา