“เหลิม-ประชา” ถกข้อเสนอผลงานรอบ 3 เดือน คอ.นธ.รับลูกเสนอปรับปรุงบังคับใช้มาตรา 112 การดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง มอบให้ สตช.และ ดีเอสไอ รับไปสานงานต่อให้เข้มข้นขึ้น ชี้ หารือครั้งต่อไปจะเชิญเลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน
วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่กระทรวงยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในรอบ 3 เดือน เกี่ยวกับข้อเสนอแนะคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ.จำนวน 5 ข้อ คือ 1.ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจราจรกรณีเจ้าพนักงานจราจรเรียกรับเงินจากผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แก้กฎระเบียบภายในเรียกปรับไม่เกิน 100 บาท 2.ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหา หรือจำเลยที่จะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีการตั้งข้อกล่าวหาโทษรุนแรงจึงทำให้เงินประกันตัวมีอัตราสูง
3.ปัญหาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ข้อ 4.ให้แก้ไขการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกองทัพไทย ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา 25 และ 5.ให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร
โดยการประชุมวันนี้มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมร่วมประชุมหารือด้วย
สำหรับประเด็นปัญหาดังกล่าวทั้ง 5 ข้อ นายอุกฤษ ได้เสนอให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา
พล.ต.อ.ประชา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ว่า สำหรับข้อเสนอข้อที่ 4 การแก้ไขการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกองทัพไทย ถือเป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม จึงไม่ได้นำมาหารือในการประชุมครั้งนี้ ส่วนข้อเสนอที่ 5.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ายุติแล้วเพราะที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนข้อเสนอที่เหลืออีก 3 ข้อ ยังไม่ได้ข้อยุติ เพียงแต่ได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเรื่องปัญหาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไปดำเนินการตามกฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ แต่ให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ ในการหารือกันครั้งหน้าจะเชิญเลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติ