xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบข้อเสนอ คอ.นธ.ตั้ง กก.ยกร่าง รธน.โดยไม่มี ส.ส.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด (แฟ้มภาพ)
ครม.ถวายพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” พร้อมรับทราบ 5 ข้อเสนอ คอ.นธ.ตั้ง คกก.ยกร่าง รธน.โดยไม่ต้องแก้ ม.291 ให้มี ส.ส.ร.พร้อมส่ง “เฉลิม” ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับ ก.ยุติธรรม

วันนี้ (15 ม.ค.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ ครั้งที่1 ณ สำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ว่า ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเรื่อง การถวายพระสมัญญา “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” แด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่วงการศึกษาของไทยในโอกาสวันครบครบ 120 ปี ในวันพระราชสมภพ 1 ม.ค.2555 ซึ่งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

นอกจากนี้ ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการทำงานรอบ 3 เดือน และเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ.ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน โดยเป็นการเสนอเรื่องผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ศึกษาความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อศึกษาหรือนำไปปฏิบัติ แล้วนำกลับเข้า ครม.อีกครั้ง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า โดยเอกสารของ คอ.นธ.เป็นการรายงานและเสนอสภาพปัญหา พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางจำนวน 5 เรื่อง คือ 1.เป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจรจาจรที่เจ้าพนักงานจราจรเรียกใบขับขี่รถจากผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการจราจร โดยเห็นสมควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการออกระเบียบภายในเพิ่มเติมโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย

2.ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ได้รับการการปล่อยตัวชั่วคราว แม้จะมีสิทธิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามที่รัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายและวิธีความอาญารับรองไว้ แต่ในทางปฏิบัติมักจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือหลักเกณฑ์ของกฎหมาย จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการยึดมั่นในหลักความยุติธรรม ความเสมอและสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจควรอยู่ในกรอบของกฎหมายและหลักเมตตาธรรมในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้น

3.ปัญหาการดำเนินการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบในทางการเมือง จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีดังกล่าวให้มีความเป็นเอกภาพและดำเนินงานร่วมกันอยางบูรณาการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นเรื่อง “ลับมาก” ในกรณีและทุกขั้นตอน และปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีดังกล่าวของ สตช.

4.การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและส่วนราชการในกองทัพไทย ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม 2551 โดยเห็นว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการบริหารราชการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่ประการใด

และข้อเสนอข้อที่ 5.เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับกระทบวนและขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์และวิธีการของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมละกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันแล้วนำเสนอต่อ ครม.เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น