xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้ “แกรนด์ ปาร์ค อเวนิว” เสียชีวิต 1-สาเหตุยังไม่ชัดอุบัติเหตุหรือประมาท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ตร.ยังไม่ชัดไฟไหม้โรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือประมาทของตัวบุคคล ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน ชี้บาดเจ็บ 22 เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่รองผู้ว่า กทม. เผยในห้องจัดเลี้ยงไม่มีสปริงเกอร์ ความสูงระหว่างพื้นและเพดานเตี้ยมากจนผิดสังเกต คาดอาจต่อเติมดัดแปลง สั่งโยธาตรวจสอบอีกครั้ง


วันนี้ (9 มี.ค.) จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ภายในห้องจัดเลี้ยงชั้นที่ 4 ของโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ ภายในซอยสุขุมวิท 22 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และมีกลุ่มควันกระจายออกมาอย่างรวดเร็วและหนาทึบ ทำให้มีแขกผู้ที่เข้าพักในโรงแรมดังกล่าว พากันหนีตายอย่างอลหม่าน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อเวลา 04.00 น.(8 มี.ค.) นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ ยังคงปิดให้บริการ โดยมีการนำเชือกมากั้นบริเวณทางหน้าทางเข้าเอาไว้ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป สำหรับลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรมดังกล่าว ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บก็ทยอยกันเช็กเอาต์เก็บข้าวของออกจากโรงแรมไป ส่วนบางรายที่ต้องการพักต่อนั้น ทางโรงแรมได้ทำการย้ายให้ไปพักอยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกัน

สำหรับที่ด้านหน้าประตูทางเข้าโรงแรม โดยทางสำนักงานเขตคลองเตยนำประกาศเรื่องห้ามใช้อาคารอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน มาติดไว้ โดยมีข้อความระบุว่า “เนื่องจากได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ สูง 15 ชั้น ตั้งอยู่เลขที่ 30 ซอยสุขุมวิท 22 แขวงคลองเตย และเขตคลองเตย ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัย เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2555 สำนักงานเขตคลองเตยจึงแจ้งความมายังเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าว ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหรือใช้อาคารตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบอาคารด้านความปลอดภัยจากวิศวกรโยธา ผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันที่เชื่อถือได้ หากฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน”

ต่อมาเวลา 09.00 น. พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ รักสลาม ผกก.สน.ทองหล่อ เดินทางเข้าตรวจสอบภายในโรงแรมที่เกิดเหตุ ก่อนเปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจำนวน 22 คน ในจำนวนนี้มีบาดเจ็บสาหัสจำนวน 1 คน ทั้งหมดถูกส่งตัวไปรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ดังนี้คือ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 10 ราย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 4 ราย โรงพยาบาลเทพธารินทร์ 5 ราย โรงพยาบาลกลาง 1 ราย และโรงพยาบาลจุฬาฯ 2 ราย ทั้งนี้ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 04.00 น.มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตลง 1 ราย เป็นหญิงชาวยุโรป ยังไม่ทราบชื่อและสัญชาติ ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ซึ่งขณะนี้ได้ส่งศพไปชันสูตรที่แผนนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าชื่ออะไร สัญชาติใด เข้าพักอยู่ห้องไหน เนื่องจากช่วงที่นำส่งไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท นั้น ไม่ได้มีเอกสารติดตัวไปด้วย โดยหลังจากนี้จะให้ทางโรงแรมตรวจสอบว่า มีลูกค้าของโรงแรมคนใดหายไปบ้าง เพื่อจะได้ตรวจสอบได้ว่าผู้ตายนั้นเป็นใครมาจากไหน โดยเมื่อช่วงเวลา 06.00 น.ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่นั้นออกจากโรงพยาบาลแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เหลือพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 3 ราย บำรุงราษฎร์ 2 ราย และเทพธารินทร์ 3 ราย ส่วนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ กับโรงพยาบาลกลาง นั้น กำลังตรวจสอบอยู่ว่าผู้บาดเจ็บออกจากโรงพยาบาลไปแล้วหรือยัง เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ของ สน.ทองหล่อ

พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของคดีนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วนแรก คือ ทางคดีอาญา ทางพนักงานสอบสวน พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตยจะเข้าไปตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ที่แท้จริงอีกครั้ง ว่า เกิดจากอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเป็นความประมาทของตัวบุคคล โดยทางพนักงานสอบสวนจะยึดผลของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเป็นหลัก ถ้าผลออกมาว่าเกิดจากตัวบุคคลก็ต้องสอบสวนว่าเกิดจากใครก่อนจะดำเนินคดีต่อไป นอกจากนี้ จะให้พนักงานสอบสวนกับล่ามแปลภาษา กระจายกันไปสอบปากคำผู้ได้รับบาดเจ็บที่กระจายกันรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวต่างชาติ

ส่วนที่ 2 คือ ในส่วนของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งทางสำนักงานเขตคลองเตย และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธาฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เข้าตรวจสอบ โดยเบื้องต้นพบว่าโรงแรมที่เกิดเหตุนี้สร้างหลังปี 2535 ซึ่งมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฉบับใหม่ควบคุมอยู่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบว่าทางโรงแรมได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าหากตรวจสอบพบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิดด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ภายในโรงแรมนั้นมีสปริงเกอร์ติดอยู่ แต่จะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะต้องมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นเวลา 10.30 น. นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผอ.เขตคลองเตย พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตย เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาฯ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางเข้าตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุบนห้องจัดเลี้ยงบนชั้นที่ 5 ของโรงแรม เพื่อหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งความเสียหายของโรงแรมที่ถูกเพลิงไหม้

นางวิภารัตน์ กล่าวภายหลังเดินทางเข้าตรวจสอบภายในโรงแรม ว่า หลังจากตรวจสอบจุดเกิดเหตุแล้ว พบว่า ต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องจัดเลี้ยงชั้นที่ 5 เพลิงไหม้วัสดุอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ตกแต่ง รวมทั้งพรม โดยขณะเกิดเหตุห้องจัดเลี้ยงดังกล่าวนั้นถูกปิดอยู่ไม่ได้ใช้งาน โดยเบื้องต้นทางโรงแรมได้รับแจ้งจากห้องคอนโทรลสัญญาณว่ามีเหตุเพลิงไหม้ภายในห้องดังกล่าว จึงเข้าไปตรวจสอบ และพบว่า มีกลุ่มควันเกิดขึ้นจำนวนมากเล็ดลอดออกมาจากห้อง จนทำผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่สำลักควัน ส่วนสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ที่แท้จริงนั้น ต้องรอเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเป็นผู้ระบุว่าเกิดจากสาเหตุอะไร นอกจากนี้ จะต้องให้เจ้าหน้าที่จากสมาคมวิศวกรรมสถานฯ และเจ้าหน้าที่การโยธาเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้ง ทั้งนี้ทางลูกค้าของโรงแรมที่มีความประสงค์จะพักอยู่ต่อนั้น ทางโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ ก็ได้ย้ายไปพักอยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามไปก่อน

เวลา 11.00 น.นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.เดินทางเข้ามาตรวจสอบภายในโรงแรมที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเปิดเผยว่า จากการเข้าตรวจสอบของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญแล้ว พบว่า อาคารดังกล่าวสูง 17 ชั้น มีการขออนุญาตต่อเติมในปี 2532 หลังจากนั้น ก็ยื่นหนังสือขอดัดแปลงอาคารในปี 2535 โดยทางกทม.ได้อนุญาตในปี 2536 ในการต่อเติมส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบห้องพักและบริเวณอื่นๆ ในโรงแรมนั้นพบว่ามีสปริงเกอร์ทั้งหมด แต่จุดเกิกเหตุภายในห้องจัดเลี้ยงนั้นไม่มีสปริงเกอร์ รวมทั้งความสูงระหว่างพื้นและเพดานนั้นเตี้ยมาก จนผิดสังเกต ด้านหลังของห้องนั้นสามารถทะลุเข้าไปยังลานจอดรถได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการแอบต่อเติมดัดแปลงในภายหลัง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการต่อเติมหรือไม่

นายธีระชน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น ผู้ตายเพิ่งมาเสียชีวิตในช่วงเช้า เนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยช่วงเกิดเหตุที่ได้นำส่งโรงพยาบาลไปนั้นยังหมดสติอยู่ นอกจากนี้ ยังพบคราบเลือดติดอยู่ภายในโรงแรมด้วย ซึ่งคาดว่าผู้ได้รับบาดเจ็บน่าจะทุบกระจกหลบหนีออกมา ซึ่งทาง กทม.จะตั้งชุดตรวจสอบอาคารจำนวน 50 ชุด ประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกัน คือ เจ้าหน้าที่การโยธาฯ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่เทศกิจ และสำนักงานเขตฯ ร่วมกับภาคเอกชน เข้าไปตรวจสอบอาคารทั้งหมดที่สร้างก่อนและหลังปี 2535 โดยภายใน 1 ต.ค.นี้ จะเริ่มทำการตรวจสอบอาคารทั้งหมด 50 เขต ว่า มีใบอนุญาตใบดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารหรือไม่ หากพบก็จะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าเป็นรายวันก็ปรับวันละ 10,000 บาท โดยทางกทม.จะรอผลการประชุมของสภา กทม.ว่า ควรจะมีการกำหนดโทษเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ยื่นแบบดัดแปลงอาคารแล้วยังไม่ปฏิบัติแก้ไขตัวอาคารตามที่ได้ยื่นแบบหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ด้าน นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้ทางวิศวกรรมสถานฯจะเข้ามาตรวจดูว่าทำไมเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ควันไฟจึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า มีบันไดทางขึ้นลงหลักของโรงแรมติดอยู่กับลิฟต์และห้องจัดเลี้ยง แต่ไม่มีผนังหรือประตูกั้นบริเวณบันไดระหว่างชั้น จึงทำให้ควันไฟลอยขึ้นไปยังชั้นอื่น และกระจายไปทั่วโรงแรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องของอาคารเก่าที่บันไดไม่มีประตู หรือผนังกั้นบันไดทางขึ้นหลักอยู่

นายพิชญะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าห้องพักแต่ละชั้นนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ฝั่ง แต่บันไดหนีไฟของโรงแรมที่มีอยู่นั้นมีอยู่เพียงฝั่งเดียว และมีลักษณะไม่ถูกต้อง เนื่องจากแคบ ส่วนห้องพักอีก 2 ด้านนั้น ไม่มีบันไดหนีไฟอยู่ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงทำให้แขกที่พักอยู่ในห้องอีก 2 ฝั่ง ต้องวิ่งออกมาหาบันไดหนีไฟที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีความห่างเกิน 10 เมตร ไม่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของ กทม.ปี 2544 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในเรื่องความเสียหายเบื้องต้น พบว่า ห้องจัดเลี้ยงจุดเกิดเหตุนั้นเสียหายมากที่สุด นอกจากนั้น ก็บริเวณชั้น 5-6 ส่วนชั้นอื่นๆ นั้นได้รับความเสียหายไม่มากนัก ส่วนความเสียหายในเรื่องโครงสร้างนั้นต้องให้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างอาคารเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ รพ.กล้วยน้ำไท 1 ภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.กล้วยน้ำไท 1 จำนวน 8 ราย เสียชีวิต 1 ราย ไม่ทราบชื่อเป็นหญิงชาวรัสเซีย อายุประมาณ 30 ปี ได้ถูกนำศพไปตรวจชันสูตรพลิกศพที่นิติเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นชายต่างชาติไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 50 ปี ขณะนี้นอนเป็นเจ้าชายนิทราหมดสติ อยู่ภายในห้องไอ.ซี.ยู.และ นายคมสัน ดีพร้อม อายุ 26 ปี อาสาสมัครจากสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ได้นอนพักรักษาตัวอยู่ภายใน รพ.ส่วนที่เหลือสำลักควันไฟ หลังจากได้รับการรักษาพยาบาลในเบื้องต้นแล้ว โดยแพทย์ระบุว่าให้เดินทางกลับบ้านได้

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามนายคมสันถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว นายคมสัน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ ว่า หลังจากที่รับแจ้งว่ามีเหตุเพลิงไหม้ ตนและเพื่อนอาสาฯ ได้ใส่ชุดผจญเพลิงเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่ภายในโรงแรม โดยในระหว่างที่ขึ้นไปบนชั้น 4 ที่เป็นห้องจัดเลี้ยง และเป็นชั้นที่คาดว่าเป็นต้นเพลิง ปรากฏว่า มีควันลอยฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณหนาทึบ และช่วงนั้นตนจะขึ้นไปที่บริเวณชั้น 6 ปรากฏว่า มีเพื่อนอาสาฯ กำลังช่วยเหลือหญิงชาวต่างชาติ 2 คน ลงมาอย่างทุลักทุเล โดย 1 ใน 2 คนนั้น เห็นว่า มีลักษณะกำลังหายใจแบบรวยรินตาลอย ตนจึงตัดสินใจถอดวาวที่ต่อจากถังชุดช่วยหายใจ (SCBA) แบบถังเติมอากาศ พร้อมหน้ากากปิดเต็มหน้า ควบคุมด้วยวาล์วส่งอากาศจากถัง มีชุดเกจ์วัดและสัญญานเตือนเมื่ออากาศใกล้หมด ออกจากหน้ากากนำไปใส่ปากให้ผู้หญิงที่มีสภาพกำลังจะหมดสติ ก่อนที่จะนำร่างลงมาด้านล่าง แล้วตนจะหมดสติตามไปด้วย

“ผมเข้ามาเป็นอาสาฯ ได้ประมาณ 6 ปีแล้ว จุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ แม้ว่าผมจะต้องตายก็ยอม รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือหญิงสาวรายดังกล่าวให้รอดชีวิต และผมตั้งปฎิญาณไว้ว่า จะทำความดีช่วยเหลือสังคมต่อไป” นายคมสัน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีใครเข้ามาให้การช่วยเหลือบ้างหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า หลังจากที่ตนถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาที่ รพ.กล้วยน้ำไท 1 ขณะนี้ยังไม่มีใครเข้ามาดูแล นอกจากแพทย์และพยาบาล ซึ่งจะออกจาก รพ.ได้ในเร็วๆ นี้ และไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะค่ารักษาพยาบาลทางโรงพยาบาลเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด แต่ตนอยากจะวิงวอนไปถึงผู้ประกอบการหลายๆ ส่วนอยากจะให้ติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อเข้าไปยังจุดเกิดเหตุ เพราะจะเป็นการง่ายต่อการทำงานและเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้

ทางด้าน นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.กล้วยน้ำไท 1 กล่าวว่า ได้รับผู้บาดเจ็บทั้งหมด จำนวน 10 ราย ซึ่งเมื่อช่วงดึกวานนี้ (8 มี.ค.) เป็นชาวต่างชาติ 9 ราย คนไทย 1 ราย เป็นชาวรัสเซีย 6 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย และไม่ทราบสัญชาติอีก 2 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงชาวรัสเซีย ส่วนใหญ่สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากสำลักควันไฟ สมองขาดออกซิเจน ขณะนี้มีพักรักษาตัวอยู่ภายในรพ. เป็นชาวต่างชาติไม่ได้สติให้การช่วยเหลือ โดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่ออก ความดันต่ำ จะต้องอยู่ภายในห้องไอซียูก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น และอยากจะประชาสัมพันธ์ไปยังญาติชาวต่างชาติรายนี้ ส่วนคนไทย 1 ราย ที่นอนพักรักษาตัวอยู่นั้น คือ นายคมสัน สามารถให้กลับบ้านได้ในวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.)

ตร.รู้ชื่อเหยื่อไฟไหม้แล้ว
เวลา 17.30 น. พ.ต.ท.ศุภกร แก้วทอง รอง ผกก.สส.สน.ทองหล่อ พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล พนักงานสอบสวน (สบ 3) ร.ต.อ.ธีร์ทัศน์ พงษ์โรจน์ พนักงานสอบสวน (สบ 1) สน.ทองหล่อ และเจ้าหน้าที่ชุดพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ เดินทางมายังจุดเกิดเหตุ ภายในโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 เพื่อทำการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่เข้าพักจากเจ้าหน้าที่ของโรงแรมฯ แต่เกิดความขัดข้องที่ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ของทางโรงแรมดังกล่าว ที่ยังไม่สามารถใช้การได้ส่งผลให้การตรวจสอบเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนได้รายชื่อของผู้บาดเจ็บจากทางโรงพยาบาลต่างๆ ที่ส่งมาให้แล้วทั้งสิ้น 21 ราย ยังเหลือที่ไม่ทราบชื่ออีก 3 ราย รวมทั้งผู้เสียชีวิตที่ทราบเพียงเบื้องต้นว่าเป็นหญิงชาวยุโรป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบสวนพนักงานโรงแรมคาดว่า ผู้ที่เสียชีวิตเป็นชาวรัสเซีย เพราะภายในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคณะทัวร์ที่เข้าพักอาศัย ภายในโรงแรมส่วนใหญ่จะเป็นคณะทัวร์จากประเทศรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งตรวจสอบจากคณะทัวร์ของประเทศรัสเซียว่า มีกลุ่มคณะทัวร์ใดมีผู้สูญหายจากเหตุดังกล่าวบ้าง เพื่อจะนำมารวบรวมและหาพยานหลักฐานสรุปคดีต่อไป
เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้อีกครั้ง
เจ้าหน้าที่ตรวจจุดเกิดเหตุห้องจัดเลี้ยงโรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ
บริเวณด้านหน้าโรงแรมกั้นไว้ไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้า
กำลังโหลดความคิดเห็น