xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอนุญาตส่งประเด็นคดี “อัลรูไวลี” ไปสืบ ตปท.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่
ศาลอาญาอนุญาตอัยการร้องขอส่งประเด็นสืบประเด็นพยานปากสำคัญในการรื้อฟื้นคดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี “พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก” ในต่างประเทศ

วันนี้ (1 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานจำเลยคดีหมายดำ อ.119/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือ สมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต. ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นฯ, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ เพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญากรณีที่กล่าวหาระหว่างว่าวันที่ 12-15 ก.พ.33 จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากจำเลยทั้งห้าเข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุดีอาระเบีย

โดยนัดนี้อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาล ว่า ได้รับคำร้องจากประเทศซาอุฯ ผ่านทางสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่าง ประเทศทางอาญา พ.ศ.2535 เพื่อให้อัยการร้องขอต่อศาลอาญาส่งประเด็นไปสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก พยานโจทก์ปากสำคัญ ที่มาของการรื้อฟื้นคดีนี้ เนื่องจากเป็นพยานที่มีความสำคัญแห่งคดี ซึ่งขณะนี้ทราบว่า พ.ต.ท.สุวิชัย น่าจะพำนักอยู่ที่ประเทศกัมพูชา หรือประเทศซาอุฯ จึงขอให้ศาลอาญา อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบที่ประเทศกัมพูชา และซาอุ ฯ โดยส่งผ่านกระทรงการต่างประเทศ

ขณะที่ทนายความจำเลยแถลงคัดค้าน ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีสนธิสัญญาชัดเจน ว่า ต้องทำตามสนธิสัญญาหรือทำตามวิธีทางการทูต การร้องขอต้องผ่านคณะกรรมการกลาง และยังไม่มีความชัดเจนว่า ตัว พ.ต.ท.สุวิชัย พำนักเป็นหลักแหล่งอยู่ที่ใด อีกทั้งคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องซ้ำที่ศาลอาญาเคยมีคำสั่งให้ตัดพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชัย มาแล้ว พร้อมกับมีคำสั่งให้ออกหมายจับ พ.ต.ท.สุวิชัย ที่หนีหมายเรียกพยานของศาลอาญา ดังนั้น หากมีการขอนั้นควรใช้วิธีการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อได้ตัวมาจะต้องดำเนินคดีฐานหลบหนีเป็นพยานศาล และมาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ และหากมีการร้องเปลี่ยนที่อยู่ของพยานเป็นประเทศอื่นก็ทำให้ต้องร้องขอไปเรื่อยส่งผลเสียต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย อีกทั้งไม่มีเหตุจำเป็นใดที่จะต้องไปสืบพยานต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี หลังจากศาลได้หารืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และตรวจสอบข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งเมื่อเวลา 15.00 น.โดยเห็นว่าแม้ศาลจะเคยมีคำสั่งตัดพยานปากนี้ไปแล้ว แต่เนื่องจากเป็นพยานสำคัญ อีกทั้งคดีมีความสำคัญ อาจกระทบต่อความน่าเชื่อกระบวนการยุติธรรมของศาลไทยในต่างประเทศ ที่ว่าหากพยานยังสามารถที่จะนำสืบได้แต่ไม่ดำเนินการ รวมทั้งอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งอดีตคดีอื่นศาลก็เคยมีคำสั่งส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศ และไม่ปรากฏว่า มีกฎหมายห้ามดำเนินการที่ทนายความจำเลย แถลงคัดค้านยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ ศาลจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์ ส่งประเด็นไปสืบพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชัย ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228 โดยให้อัยการโจทก์ ทำคำถามสืบพยานส่งต่อศาลภายใน 30 วัน เพื่อส่งให้ฝ่ายทนายความจำเลยทำคำถามซักค้านพยานก่อนที่จะส่งเอกสารให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อส่งให้อัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศต่อไป โดยศาลกำหนดนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจสอบคำถามการสืบพยานในวันที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.และให้ยกเลิกกำหนดนัดสืบพยานจำเลยที่นัดไว้ก่อน

ภายหลัง นายกมล ทรงเจริญ ทนายความ พล.ต.ท.สมคิด จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ทีมทนายความจะทำคำคัดค้านเรื่องนี้ ส่งต่อศาลภายใน 15 วัน เนื่องจากเราเห็นต่างเรื่องข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาฯ เกี่ยวกับวิธีการส่งประเด็นสืบพยาน ที่เราเห็นว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลดำเนินการ แต่ให้อัยการสูงสุด พิจารณาหากเห็นว่าต้องสืบพยานก็ให้ส่งประเด็นไปได้เอง อีกทั้งพยานโจทก์ปากนี้ศาลเคยตัดพยาน เนื่องจากติดตามตัวมาสืบที่ศาลอาญาไม่ได้ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้กลัวเรื่องส่งประเด็นสืบพยานในต่างประเทศ แต่เห็นต่างเรื่องวิธีการ ส่วนทนายความจำเป็นต้องเดินทางไปติดตามการสืบพยานปากนี้ในต่างประเทศด้วยหรือไม่ นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะต้องทำคำถามซักค้านพยานส่งตามที่ศาลสั่งด้วย และจะมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์คัดค้านเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ คงต้องหารือในทีมทนายความเพื่อตรวจสอบข้อกฎหมายอีกครั้ง อย่างไรก็ดี หากสุดท้ายได้คำเบิกความพยานปากนี้มา ทนายความจำเลยก็ต้องคัดค้านพยานปากนี้อย่างแน่นอน เพราะไม่มีโอกาสที่ซักค้านพยานได้เต็มที่ เหมือนสืบพยานในศาลไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น