ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยึดทรัพย์จากการค้ากาม รวม 3.4 ล้านบาท ของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ตกเป็นของแผ่นดิน ศาลพบหลักฐานสำคัญ ซื้อถุงยางอนามัยปี 2545 กว่าแสนบาท ขณะที่พยานให้การยืนยัน มีผู้พาไปทำงานเป็นพนักงานนวดที่สถานบริการอาบอบนวดฮอนโนลูลู ที่จัดให้พนักงานนวดทุกคนร่วมประเวณีกับลูกค้าที่มาใช้บริการ ส่วนการสมัครเข้าทำงานจะต้องตรวจรูปร่างหน้าตาและร่างกายโดยไม่สวมเสื้อผ้า รวมทั้งฝึกสอนวิธีการอาบน้ำให้กับลูกค้า ได้ค่าตอบแทนรอบละ 1,900 บาท ตก 3-5 รอบต่อวัน
วันนี้ (29 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ร้องขอให้ยึดทรัพย์รวม 3,489,453.46 บาท ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และบริษัท โฮ แปซิฟิค จำกัด เป็นผู้คัดค้านที่ 1 และ 2 ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
คดีนี้อัยการสูงสุด ร้องว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้รับรายงานว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ต้องหาในความผิดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นทำการค้าประเวณี เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี เป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี ซึ่งมีบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 แล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยักย้าย ซ่อนเร้นทรัพย์จากการกระทำผิดดังกล่าว จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราว
ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสอง และ น.ส.สุรัชฎา แววศรี ขอให้เพิกถอนคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว พบว่า นายชูวิทย์ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เทอร์เม่ และยังเป็นกรรมการผู้จัดการ บจก.โฮ แปซิฟิค ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ดำเนินกิจการอาบอบนวด ซึ่งรายได้จากกิจการจะนำเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 9 และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ที่มีเงินเหลืออยู่จำนวน 127,725.06 บาท และ 17,128.40 บาท รวมทั้งหุ้นบริษัท เดวิส ไดมอนด์ สตาร์ จำกัด หุ้นบริษัท เดวิส โคปาคาบาน่า จำกัด หุ้นบริษัท เดวิส โกลเด้นสตาร์ จำกัด และหุ้นบริษัท เดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด รวม 33,446 หุ้น มูลค่า 3,344,600 บาท ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านกับพวกรวม 6 รายการ มูลค่ารวม 3,489,453.46 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง ซึ่งผู้คัดค้านทั้ง 2 ยื่นคำให้การว่า ไม่ได้ดำเนินธุรกิจที่เป็นธุระจัดหาเพื่อค้าประเวณี และไมได้เป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี โดย ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกกล่าวหาในคดีอาญา แต่ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่ของผู้คัดค้านที่ 1 แต่เป็นของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งได้มาโดยสุจริตจากทางการค้า จึงขอให้ศาลยกคำร้อง โดยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วให้ยกคำร้องของอัยการผู้ร้อง ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้คืนทรัพย์สินตามคำร้องแก่ผู้คัดค้าน ต่อมาอัยการผู้ร้องยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องระบุว่า จากการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐานได้ความว่า นายชูวิทย์ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เทอร์เม่ ที่ถือใบอนุญาตสถานบริการ และเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ที่เปิดสถานบริการอาบอบนวดฮอนโนลูลู ที่ใช้ใบอนุญาตสถานบริการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เทอร์เม่ และ นายชูวิทย์ ผู้คัดค้านที่ 1 ยังเป็นกรรมการบริษัทในเครือเดวิส กรุ๊ป ส่วนบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ยังเป็นผู้สั่งซื้อถุงยางอนามัยจากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในปี 2545 ได้สั่งซื้อถุงยางเป็นเงินถึง 112,559.95 บาท และจากรายงานการตรวจสอบสถานบริการอาบอบนวดในเครือเดวิส กรุ๊ป ก็พบถุงยางอนามัยใช้แล้วจากกองขยะของสถานบริการโคปาคาบาน่า และบาบาล่า 153 ถุง สถานบริการเอ็มมานูเอล 30 ถุง สถานบริการฮอนโนลูลู 9 ถุง และยังมีพยานให้การยืนยันว่า มีผู้พาไปทำงานเป็นพนักงานนวดที่สถานบริการอาบอบนวดฮอนโนลูลู ที่จัดให้พนักงานนวดทุกคนร่วมประเวณีกับลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยการสมัครเข้าทำงานจะต้องตรวจรูปร่างหน้าตาและร่างกายโดยไม่สวมเสื้อผ้า ตรวจโรค ตรวจเลือด และตรวจภายใน และการฝึกสอนวิธีการอาบน้ำให้กับลูกค้า ซึ่งค่าตอบแทนจะได้รับรอบละ 1,900 บาท ซึ่งวันหนึ่งจะทำงานได้ 3-5 รอบ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายชูวิทย์ ผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ขณะที่ผู้คัดค้านทั้ง 2 นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้ปิดป้ายห้ามค้าประเวณีที่สถานบริการอาบอบนวดฮอนโนลูลู ส่วนบัญชีเงินฝาก 2 ธนาคารเปิดไว้เพื่อรับชำระค่าบริการจากผู้ใช้บริการที่ชำระด้วยบัตรเครดิต ขณะที่การซื้อถุงยางของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ก็นำมาเพื่อจำหน่ายให้ร้านมินิมาร์ทของสถานบริการ เหมือนกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยยืนยันว่า ผู้คัดค้านทั้ง 2 ไมได้กระทำความผิด และทรัพย์สินได้มาด้วยความสุจริต
ศาลฎีกา เห็นว่า ผู้ร้องมีพยาน 2 ปาก ซึ่งทำงานเป็นพนักงานอาบอบนวดที่สถานบริการจูเลียน่า และฮอนโนลูลู ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดตั้งแต่การไปสมัครงาน การให้บริการลูกค้า และยังระบุอีกว่า หากไม่ยอมให้บริการทางเพศกับลูกค้าจะถูกนายสมชาย เจนใจ ทำร้ายพยานทั้ง 2 และยังมี พ.ต.ท.วัจฉลิน วารินหอมหวน พนักงานสอบสวน สน.มักกะสัน เป็นพยานผู้ร้องเบิกความ ว่า ต้นปี 2546 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง จับกุม นายสมชาย กับพวกในข้อหาเป็นธุระจัดหาค้าประเวณี หลังจากมารดาของหญิงสาวที่ทำงานในสถานบริการฮอนโนลูลูเข้าแจ้งความ โดยผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานร่วมทำการสอบสวนกับ สน.ห้วยขวาง เพราะสถานบริการอาบอบนวดฮอนโนลูลู อยู่ในพื้นที่ สน.มักกะสัน โดยพยานร่วมกับมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่พบร้านค้ามินิมาร์ท และป้ายห้ามค้าประเวณี ต่อมาได้ประสานกับสำนักงาน ปปง.ดำเนินคดีกับผู้คัดค้าน นอกจากนี้ ก็ยังมีพยานผู้ร้อง ซึ่งได้กระทำการในลักษณะล่อซื้อการค้าประเวณี เห็นว่า พยานทุกปากไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านทั้ง 2 มาก่อน โดยเฉพาะพยานที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้ง ปรักปรำผู้คัดค้านทั้ง 2 และแม้บริษัทผู้คัดค้านที่ 2 จะมีกฎระเบียบการทำงานของพนักงานโดยห้ามค้าประเวณีหรือมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าในห้องนวดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงหน้าเชื่อว่าเป็นกฎระเบียบที่ออกไว้เป็นพิธีโดยไม่มีการปฏิบัติตามแต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านทั้ง 2 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (2) พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะถูกจับกุมตัวหรือจะต้องคำพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิดและถูกลงโทษในคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายการฟอกเงินให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินทั้ง 6 รายการตามร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งภาระพิสูจน์จะตกอยู่ที่ผู้คัดค้านทั้ง 2 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการมาโดยสุจริต กรณีจึงไม่มีเหตุให้ศาลคืนทรัพย์สินดังกล่าวกับผู้คัดค้าน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำร้องของอัยการผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษากลับว่า ให้เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 9 และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ที่มีเงินเหลืออยู่จำนวน 127,725.06 บาท และ 17,128.40 บาท รวมทั้งหุ้นบริษัท เดวิส ไดมอนด์ สตาร์ จำกัด หุ้นบริษัท เดวิส โคปาคาบาน่า จำกัด หุ้นบริษัท เดวิส โกลเด้นสตาร์ จำกัด และหุ้นบริษัท เดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด รวม 33,446 หุ้น มูลค่า 3,344,600 บาท พร้อมด้วยดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน