xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำฟ้อง! คดีแพ่งสืบเนื่องจากคดีลอบสังหารประธานศาลฎีกา (2)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
(ต่อจากตอนแรก) คำฟ้องคดีแพ่งสืบเนื่องจากคดีลอบสังหารประธานศาลฏีกา ยื่นฟ้องวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ ๓๔๕๖/๒๕๕๔ ความแพ่ง ระหว่าง นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ ๑, นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ที่ ๒ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๑, สำนักงานอัยการสูงสุดที่ ๒, สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓ จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่าเสียหาย จำนวนทุนทรัพย์ ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัย ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญว่า ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๔ ใช้จ้างวานจำเลยที่ ๓ ให้หามือปืนไปฆ่านายประมาณ แล้วจำเลยที่ ๓ ให้ใช้จ้างวานนายบรรเจิดให้หามือปืน และนายบรรเจิด ได้ติดต่อนายประทุม และ นายบำรุง ให้หามือปืนไปฆ่านายประมาณ แต่ นายประทุม และ นายบำรุง กลับใจนั้น จึงรับฟังความจริงไม่ได้ และไม่มีมูลเหตุการจ้างฆ่านายประมาณแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ นั้น (ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๐) และคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว (ปรากฏตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๑)

ข้อ ๖.ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ และข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังได้แล้วว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๓ มี่มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการเพื่อบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นกับโจทก์ทั้งสอง มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง แต่กลับละเว้น ละเลยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ระงับเหตุการณ์ทำละเมิดดังกล่าวในวาระที่สามารถกระทำได้แต่ไม่กระทำ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งสอง

โดยในระหว่างที่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดี โจทก์ทั้งสองได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ และได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังจำเลยที่ ๓ เพื่อให้ความเป็นธรรม ซึ่งจำเลยทั้งสามสามารถให้ความเป็นธรรมได้ ในฐานะเป็นองค์กรของรัฐและเป็นองค์กรบริหารราชการแผ่นดินสูงสุด ซึ่งสามารถควบคุมบริหารราชการแผ่นดินโดยตรวจสอบและให้หน่วยงานทางราชการชี้แจ้งแสดงเหตุผล และสั่งการให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้ โดยต้องมีมาตรฐานของการเป็นองค์กรบริหารงานในองค์กรและบริหารราชการสูงสุดของแผ่นดินและจะต้องตระหนักว่าถึงหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ “ทุกข์ของประชาชนนั้นคือ ทุกข์ของแผ่นดิน” แต่จำเลยทั้งสามได้ละเลยละเว้น อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง (หลักฐานและเอกสารจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)

จากการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองได้พยายามแสวงหาความเป็นธรรมจากทุกฝ่าย ทุกองค์กร เท่ที่สามารถจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองต้องต่อสู้คดีต้องแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ แสดงต่อศาลด้วยตนเองทั้งที่ความจริงแล้ว เมื่อไม่มีข้อเท็จจริง หรือการกระทำที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนไม่มีอยู่จริง ก็เป็นธรรมดาที่ว่าไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นจริงปรากฏอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างในสำนวนการสอบสวน ไม่มีพยานบุคคลใดๆ ที่สามารถจะสืบหา เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อใช้ยันกับข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนได้ ดังนั้น การจะทำการสืบพยานเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนที่เป็นเท็จย่อมกระทำได้ยากเป็นอย่างยิ่ง โจทก์ทั้งสองจึงมีเพียงหลักกฎหมายที่จะใช้ต่อสู้คดีเท่านั้น การสร้างพยานหลักฐานเท็จในสำนวนการสอบสวน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในการสอบสวน และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในการฟ้องคดี เพราะได้นำเอาผลของการสอบสวนที่ได้ทำโดยผิดกฎหมายมาฟ้องคดีโจทก์เพื่อดำเนินคดีกับโจทก์

ข้อ ๗.โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของโจทก์ที่ ๑ โดยโจทก์ที่ ๑ ได้ถูกออกหมายจับโดยการเสนอขอออกหมายของ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ และพวกต่อกระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้นกรมตำรวจอยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย) และกระทรวงมหาดไทยก็ได้อนุมัติออกหมายจับโจทก์ที่ ๑ โดยพล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ เป็นผู้ออกหมายจับโจทก์ที่ ๑ อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทำให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ทำให้สูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพ ต้องถูกคุมขัง และไม่ให้ประกันตัว จนโจทก์ที่ ๑ ล้มป่วยและถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ โจทก์ที่ ๑ ได้รับการประกันตัวในระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็ได้รับการข่มขู่ว่าให้ประกันตัวเพราะป่วยและต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น ถ้าหายป่วยและออกจากโรงพยาบาลจะถอนประกันทันที ในระหว่างที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โจทก์ที่ ๑ ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวนขอให้สอบคำให้การโจทก์ที่ ๑ เพิ่มเติม โดยขอให้บันทึกคำให้การของโจทก์ที่ ๑ ตามวิธีการสอบสวนของพนักงานสอบสวนด้วย พนักงานสอบสวนไม่ยอมสอบไปสอบคำให้การของโจทก์ที่ ๑ เพิ่มเติม และเมื่อ โจทก์ที่ ๑ หายป่วยออกจากโรงพยาบาล พนักงานสอบสวนก็ตามตัวโจทก์ที่ ๑ ส่งพนักงานอัยการในวันรุ่งขึ้นทันที โดยไม่ยอมทำการสอบสวนคำให้การของโจทก์ที่ ๑ ทั้งๆ ที่ โจทก์ที่ ๑ ได้ร้องขอ (ปรากฏตามเอกสารร้องขอให้สอบคำให้การโจทก์ที่ ๑ เพิ่มเติม เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๒)

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวโจทก์ที่ ๑ ต่อพนักงานอัยการแล้ว โจทก์ที่ ๑ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบขอให้สอบคำให้การโจทก์ที่ ๑ และพยานโจทก์ที่ ๑ พนักงานอัยการได้แจ้งว่า จะสอบคำให้การโจทก์ที่ ๑ อีกไม่ได้ แต่จะสอบพยานโจทก์ที่ ๑ ตามที่โจทก์ที่ ๑ ร้องขอได้ โจทก์ที่ ๑ ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ โดยขอให้สอบคำให้การพยานโจทก์ที่ ๑ (ปรากฏตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๓)

ต่อมามีการสอบพยานโจทก์ที่ ๑ ตามที่โจทก์ที่ ๑ ร้องขอแต่ก็ยังสอบไม่เสร็จ โดยพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การนางยินดี ต่อสุวรรณ (โจทก์ที่ ๒) ภรรยาโจทก์ที่ ๑ ยังไม่จบคำให้การสอบไปได้เพียงบางส่วน พนักงานสอบสวนได้นัดวันให้มาสอบคำให้การโจทก์ที่ ๒ ไว้แล้ว และยังเหลือพยานอีก ๑ ปาก ที่ยังไม่ได้สอบคำให้การเลย แต่ยังไม่ถึงวันนัดสอบคำให้การโจทก์ที่ ๒ ให้แล้วเสร็จ พนักงานอัยการก็สั่งฟ้องคดีทั้งๆยังสอบคำให้การตามที่โจทก์ที่ ๑ ร้องขอยังไม่เสร็จ พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีโดยที่การสอบสวนยังไม่เสร็จตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ซึ่งหากสอบคำให้การของโจทก์ที่ ๒ จนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการก็จะสั่งส่งฟ้องคดีไม่ได้ เพราะไม่มีมูลเหตุการจ้างฆ่าและไม่มีการใช้จ้างวานระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับนายอภิชิต จำเลยที่ ๓ (ในคดีอาญา) เลย เพราะโจทก์ที่ ๑ กับนายอภิชิตมีเรื่องบาดหมางไม่ไว้วางใจกันในทางธุรกิจมาก่อน เพราะโจทก์ที่ ๑ ได้ฟ้องคดีนายอภิชิตมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ในการสั่งฟ้องของพนักง่านอัยการ พนักงานอัยการก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณาเพื่อสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องแต่อย่างใด ทั้งๆที่ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารที่โจทก์ที่ ๒ ได้อ้างส่งในสำนวนคดีที่พนักงานอัยการได้ส่งให้สอบเพิ่มเติมไว้แล้ว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการนั้น เป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ

การกระทำของพนักงานอัยการสังกัดจำเลยที่ ๒ โดยใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งทำให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติยศ และสิ้นไปซึ่งสิทธิทุกอย่าง ต้องถูกจองจำต้องมีการประกันตัว ไม่อาจติดต่อธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เลย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นโจทก์ที่ ๑ กำลังขยายธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ไปลงทุนก่อสร้างอาคารสูงที่สุดในประเทศจีนในโครงการ Chinese Business Center โดยได้ติดต่อกับรัฐบาลจีนเพื่อขอเช่าที่ดินที่เมืองเซินเจิ้น และได้ดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมเสนอต่อรัฐบาลประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่งก็ได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าวแล้ว กับได้ติดต่อที่จะลงทุนในประเทศกัมพูชาในโครงการ Rainbow offshore lsland โดยขอเช่าเกาะในประเทศกัมพูชา และอยู่ในระหว่างการเสนอแบบก่อสร้างและเจรจา แต่การดำเนินการโครงการดังกล่าวต้องล้มเลิกไป เพราะโจทก์ที่ ๑ ถูกฟ้องคดีอาญา มีข่าวไปทั้วโลก ทำให้ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในตัวโจทก์ที่ ๑ ต้องสูญสิ้นไปด้วย ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายที่กระทบไปถึงการงานของโจทก์ที่ ๑ ความเป็นอยู่ในชีวิต ชื่อเสียง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และอนาคตของโจทก์ต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด (เอกสารและหลักฐานจะเสนอในชั้นพิจารณา)

๗.๑ ในขณะที่โจทก์ที่ ๑ ถูกกล่าวหาและถูกฟ้องคดีนั้น เป็นช่วงเวลาที่โจทก์ที่ ๑ ได้เตรียมการที่จะเอาบริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ เป็นประธานบริษัทอยู่หลายบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำลังดำเนินการสวอปหุ้น ปรับองค์กรบริษัทในเครือใหม่ โดยรวมบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกันในนามของบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด และได้จัดการโฆษณาด้วยการจัดงานและเรียกชื่องานว่า “วันสู่ความสำเร็จ” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เพียงประมาณ ๓ เดือนเท่านั้น ได้มีการประกาศเปิดตัวการปรับโครงการบริษัทใหม่ เพื่อเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์และขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยในขณะนั้นโจทก์ที่ ๑ ได้เตรียมการเอาบริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ คือ
(๑) บริษัท บ้านฉัตรเพชร จำกัด เป็นโครงการบ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุด มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นล้านบาท)
(๒) บริษัทสาธร ยูนีค จำกัด (มหาชน) เป็นโครงสร้างการอาคารชุด มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยล้านบาท)
(๓) บริษัทสีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ จำกัด เป็นโครงการสร้างอาคารชุด มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท)
(๔) บริษัทสกายบีช คอนโดมิเนียม จำกัด เป็นโครงการสร้างอาคารชุด มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่พันล้านบาท)
(๕) บริษัทพาร์คบีช รีสอร์ท จำกัด เป็นโครงการสร้างอาคารชุด มีมูลค่าโครงการประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามพันล้านบาท)
(๖) บริษัทกรีนวู้ด ไฮเทค รีสอร์ท จำกัด เป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งจัดสรรขายทั้งที่ดินเปล่า และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารชุด โรงแรม สนามกอล์ฟ มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าพันล้านบาท)
(๗) บริษัทโกลเด้นบีช การ์เด้นท์ รีสอร์ท จำกัด เป็นโครงการสร้างอาคารชุด มีมูลค่าของโครงการประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยล้านบาท)
และได้มีแผนการที่จะเอาบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทค้าวัสดุหินอ่อนและค้าคอนกรีตผสมเสร็จ คือบริษัท หินสวย จำกัด และบริษัท ยูนิค คอนกรีต จำกัด รวมหุ้นเข้าไปด้วย แต่เมื่อมีเหตุการที่มีการกล่าวหาและดำเนินคดีกับโจทก์ที่ ๑ เกิดขึ้น โครงการที่ดำเนินการทางธุรกิจที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องล้มเลิกไป เพราะการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อมีคดีเกิดขึ้นกับโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ จึงหมดโอกาสที่จะดำเนินธุรกิจโดยจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป
๗.๒ โจทก์ที่ ๑ มีหุ้นในบริษัท สีลม พรีเซียส ทาวเวอร์ จำนวน ๑๑,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น (สิบเอ็ดล้านสองแสนหุ้น) คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในระหว่างที่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดีในศาลโดยที่โจทก์ที่ ๑ ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาล โจทก์ที่ ๑ ได้ต่อสู้คดีและได้ดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ให้เดินต่อไปได้ ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้นั้น พนักงานสอบสวนได้กลั่นแกล้งสร้างเรื่องกล่าวหาโจทก์ที่ ๑ ข่มขู่พยาน เพื่อให้ศาลถอนประกันโจทก์ที่ ๑ และศาลถอนประกันโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๖ จนถึงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๗ เป็นเวลาเกือบ ๖ เดือน ทำให้ธุรกิจโครงการสีลมพรีเซียส ทาวเวอร์ ซึ่งกำลังก่อสร้างและลูกค้ากำลังผ่อนชำระค่าห้องที่จองไว้นั้นได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์ที่ ๑ ถูกจำคุก ธนาคารได้งดการปล่อยสินเชื่อ และลูกค้าหยุดชำระค่าผ่อน ทำให้ผู้ถือหุ้นหวั่นไหวและเสนอจะขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น เมื่อโจทก์ที่ ๑ ได้ขอประกันตัวได้ในเดือนเมษายน ๒๕๓๗ โจทก์ที่ ๑ จึงจำเป็นต้องขายหุ้นให้แก่ นางสาวราศรี บัวเลิศ เพราะไม่สามารถดำเนินกิจการได้อีกต่อไป โจทก์ที่ ๑ จำเป็นต้องขายหุ้นไปในราคาถูก คือ หุ้นละ ๑๐ บาท เป็นเงิน ๓๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยนางสาวราศีได้ชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ที่ ๑ บางส่วน ค้างชำระเงินค่าหุ้นอีก ๑๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่นางสาวราศรีไม่มีเงินจ่ายให้โจทก์ที่ ๑ จึงได้ทำสัญญาเปลี่ยนเป็นหุ้นคิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของทุนจดทะเบียนเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการบริษัท มีทุนจดทะเบียน ๒,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีหุ้น ๒๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น จึงเป็นหุ้นที่โจทก์ที่ ๑ จะได้รับเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ๓๘,๔๐๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นละ ๑๐ บาท คิดเป็นเงิน ๓๘๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว นางสาวราศรีไม่ยอมโอนหุ้นร้อยละ ๑๖ ให้แก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ได้ฟ้องนางสาวราศรี เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ซึ่งในขณะนั้นนางสาวราศรียังไม่เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางสาวราศรี โอนหุ้นบริษัทให้แก่โจทก์ที่ ๑ ร้อยละ ๑๖ ของทุนจดทะเบียน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากโอนไม่ได้ให้ชำระเป็นเงินโดยคิดมูลค่าหุ้นๆ ละ ๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๘๙,๖๐๐,๐๐๐ บาท (ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๒๑/๒๕๔๘ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑๔)

โจทก์ที่ ๑ ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยโอนหุ้นให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ร้อยละ ๑๖ ของทุนจดทะเบียน ๒,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองพันสี่ร้อยล้านบาท) ในมูลค่าหุ้นละ ๑๐ บาท ที่ได้ชำระราคาเต็มแล้วเป็นจำนวนหุ้น ๓๘,๔๐๐,๐๐๐ หุ้น (สามสิบแปดล้านสี่แสนหุ้น) โดยปลอดภาระใดๆให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าหุ้นในมูลค่าหุ้นละ ๑๐ บาท ในจำนวน ๓๘,๔๐๐,๐๐๐ หุ้น รวมเป็นเงิน ๓๘๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๓๘๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ (ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๘๐๗/๒๕๕๓ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๕ ) คดีดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกา คดีถึงที่สุด (ปรากฏตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๖)

เมื่อ นางสาวราศี ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ที่ ๑ ยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว การที่โจทก์ที่ ๑ ต้องการขายหุ้นของโจทก์ที่ ๑ ให้กับนางสาวราศรี ก็เนื่องมาจากโจทก์ที่ ๑ ได้ถูกกล่าวหาและถูกฟ้องเป็นคดีอาญา และถูกคุมขังมาเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเดือนร้อนและเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ได้กระโดยผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ต่อไปได้ และจำเป็นต้องขายหุ้นของโจทก์ที่ ๑ ไป การที่โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าหุ้นก็เป็นเหตุเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามที่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อจะยังไว้ซึ่งความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ต่อไปได้ และจำเป็นขายหุ้นของโจทก์ที่ ๑ ไป การที่โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าหุ้น ก็เป็นเหตุเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว โจทก์ที่ ๑ จึงเสียหายในเงินจำนวน ๓๘๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

นางสาวราศรี ได้ซื้อหุ้นบริษัท สีลม พรีเซียส ทาวเวอร์ ไปทั้งหมด ในขณะนั้นโครงการสีลม พรีเซียส ทาวเวอร์ ได้เริ่มดำเนินการไปมากแล้ว มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า ๑๐ ชั้น มีการขายพื้นที่ให้ลูกค้าไปแล้วเป็นจำนวนมากและรับเงินผ่อนจากลูกค้ามาลงทุนในการก่อสร้างไปทั้งหมด และในการดำเนินการของนางสาวราศรี ที่ได้ซื้อโครงการไปดำเนินการโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ ปรากฏว่า เมื่อโครงการเสร็จเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาขายห้องชุดในโครงการทั้งหมดเป็นเงิน ๑๐,๗๙๖,๑๑๖,๔๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยเก้าสิบหกล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาท) อันเป็นราคาประเมินซึ่งต่ำกว่า ราคาขายประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นราคาขายพื้นที่อาคารทั้งหมดเป็นเงินประมาณ ๑๔,๐๓๔,๙๕๑,๓๒๐ บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันสามสิบสี่ล้านเก้าแสนห้าหมื่นหนึ่งพันสามร้อยยี่สิบบาท) เมื่อหักจากหนี้จำนองแล้ว ๘,๘๙๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการจะมีกำไรประมาณ ๕,๑๔๑,๙๕๑,๓๒๐ บาท เมื่อโจทก์ที่ ๑ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๕๖ จึงเป็นเงินที่โจทก์ที่ ๑ จะได้รับเงินปันผลกำไรจากโครงการเป็นเงินประมาณ ๒,๘๗๙,๔๙๒,๗๓๙ บาท อันเป็นความเสียหายจำนวนน้อยที่สุดที่โจทก์ควรจะได้รับ หากไม่มีคดีเกิดขึ้นและโจทก์ดำเนินโครงการไปจนเสร็จ ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามโดยตรง (หลักฐานและเอกสารจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)
๗.๓ นอกจากนี้ โจทก์ที่ ๑ ยังประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก จากการประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกของโจทก์ โจทก์ได้เป็นสถาปนิกออกแบบร่วมกับบริษัท รังสรรค์ สถาปัตย์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ จำกัด ในการให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมของโจทก์ โจทก์และบริษัทรังสรรค์ สถาปัตย์ จำกัด ได้รับจ้างให้บริการออกแบบโครงการให้กับบริษัทในเครือของโจทก์ที่ ๑ ทุกโครงการ ซึ่งบริษัทต่างๆ ในเครือของโจทก์ที่ ๑ ที่ได้ดำเนินโครงการนั้น บริษัทรังสรรค์ สถาปัตย์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพ โดยคิดค่าออกแบบและค่าบริการวิชาชีพในทุกโครงการ ในอัตราร้อยละ ๓.๕ ของค่าก่อสร้างอาคารโครงการทุกโครงการ และมีโครงการที่โจทก์ที่ ๑ และบริษัท รังสรรค์ฯ ได้ออกแบบไปแล้ว คือ โครงการฉัตรเพชร ทาวเวอร์ เป็นอาคารคอนโดมิเนียม ตั้งอยู่ที่ถนนตกเป็นอาคารสูง ๕๕ ชั้น ค่าบริการวิชาชีพและค่าออกแบบเป็นเงิน ๒๑๐ ล้านบาท โครงการฉัตรเพชรคอนโดมิเนียมที่บางพลี ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงินประมาณ ๖๐ ล้านบาท โครงการฉัตรเพชรบางพลัด ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงิน ๕๒.๕ ล้านบาท โครงการฉัตรเพชรรัชดาภิเษก ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงิน ๕๒.๕ ล้านบาท โครงการฉัตรเพชร รัตนาธิเบศร์ ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงิน ๑๐๕ ล้านบาท โครงการสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงิน ๓๘.๕ ล้านบาท โครงการสีลมพรีเซียส ทาวเวอร์ ค่าบริการวิชาชีพเป็นเงิน ๒๐๙ ล้านบาท โครงการกรีนวู๊ดไฮเทค รีสอร์ท จำกัด ค่าบริการวิชาชีพ ๑๔๐ ล้านบาท โครงการโกลเด้นบีช การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด ค่าบริการวิชาชีพและค่าออกแบบ ๕๒.๕ ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ ๙๒๐ ล้านบาท และเนื่องจากการเกิดเหตุคดีนี้ แบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ได้ออกไปแล้วต้องสูญเปล่า ทำให้ไม่ได้รับค่าออกแบบ และแบบสถาปัตยกรรมเป็นการงานทางทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด เพราะทำให้โครงการทุกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ต้องหยุดลงทั้งหมด เนื่องจากการที่มีเหตุเกิดขึ้นนั้นทำให้สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืม หรือให้สินเชื่อตลอดจนลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุดทุกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ขาดความเชื่อมั่นว่าโครงการทั้งหมดไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้จนเป็นผลสำเร็จ เพราะโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้คิดโครงการและเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการของโครงการให้บรรลุเป้าหมายนั้นอาจจะต้องติดคุก ซึ่งในระหว่างการดำเนินคดีกำลังสืบพยานโจทก์ และโจทก์ที่ ๑ ได้รับการประกันตัวจากศาลนั้น ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๖ พนักงานสอบสวนได้สร้างเรื่องว่ามีการข่มขู่พยาน เพื่อที่จะให้ศาลถอนประกันโจทก์ที่ ๑ และศาลได้ถอนประกันโจทก์ที่ ๑ และสั่งขังโจทก์ที่ ๑ ทำให้การดำเนินการทางธุรกิจในบริษัทต่างๆ ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งพอจะประคับประคองให้ดำเนินการต่อไปได้บ้าง ในระหว่างที่โจทก์ที่ ๑ ยังมีอิสระได้รับการประกันตัวไปจากศาลก็ต้องล้มครืนลงทั้งหมด เพราะสถาบันการเงินและลูกค้าผู้ซื้อห้องชุด ตลอดจนเจ้าหนี้ทางการค้าต่างๆก็หมดความหวังที่จะเห็นได้ว่า โครงการที่กำลังดำเนินการในบริษัทต่างๆของโจทก์จะดำเนินการไม่ได้อีกต่อไป เพราะโจทก์ที่ ๑ ติดคุกไปแล้วจริงๆ ปรากฏออกเป็นข่าวไปทั่วประเทศและทั่วโลกในขณะนั้นจากการดำเนินการเพื่อให้ศาลถอนประกันกับโจทก์ที่ ๑ ของเจ้าพนักงานจำเลยที่ ๑ สถาบันการเงินก็งดการให้สินเชื่อแก่โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นทั้งหมด ลูกค้าผู้ซื้อห้องชุดซึ่งกำลังผ่อนห้องชุดก็หยุดชำระค่าห้องชุด ซึ่งมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เพราะเงินที่ได้จากลูกค้าจะต้องนำมาเป็นเงินลงทุนในการก่อสร้างร่วมกับเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามข้อบังคับและข้อตกลงของสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อที่ต้องให้ผู้ทำโครงการขายห้องชุดให้ได้จำนวนมากพอสมควร เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายนั้นมาสมทบเป็นค่าก่อสร้างอาคารโครงการด้วย ธุรกิจทุกชนิดโจทก์ที่ ๑ รับผิดชอบอยู่ต้องล้มระเนระนาดไปทั้งหมดเพราเหตุเกิดคดีนี้โดยตรง และเกิดจากการที่พนักงานของจำเลยที่ ๑ กลั่นแกล้งโจทก์โดยขอให้ศาลดำเนินการถอนประกันในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการดูแลของพนักงานอัยการของจำเลยที่ ๒ โดยการสร้างเรื่องการข่มขู่พยานขึ้นซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์ที่ ๑ ขาดรายได้อันเป็นรายได้จากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆเป็นจำนวนมาก โจทก์ที่ ๑ ต้องสูญเสียโอกาสในความเจริญและทางทำมาหาได้ในชีวิตของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ควรจะมีรายได้จากโครงการต่างๆคิดเป็นเงินที่เป็นกำไรโครงการไม่น้อยกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ จะมีรายได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของแต่ละโครงการ ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท
๗.๔ ในระหว่างการดำเนินเรื่องเพื่อกล่าวหาให้โจทก์ที่ ๑ ต้องถูกดำเนินคดี เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ได้ใช้วิธีการทางจิตวิทยา เพื่อกลบเกลื่อนการสร้างเรื่องคดีอาญาโดยใช้สื่อมวลชนเสนอข่าวเพื่อให้สาธารณชนเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงและมีเหตุที่จะเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นได้ เพื่อให้สาธารณชนกดดันโจทก์ทั้งสองให้เป็นผู้ต้องหากระทำความผิดให้ได้ โดยพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่, พนักงานสอบสวนและนายประมาณ ชันซื่อ ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งมาที่โจทก์ทั้งสอง โดยมีการสมคบกันกำหนดตัวโจทก์ทั้งสองไว้ล่วงหน้า มีการเปลี่ยนแปลงกันให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุการจ้างฆ่า การให้ข่าวต่อสื่อมวลชนแล้วสื่อมวลชนนำไปลงข่าวนั้น มิใช่เป็นการเสนอข่าวปกติธรรมดา แต่สื่อมวลชนได้นำไปร้อยเรียงเขียนเป็นเรื่องเป็นราวทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง หากไม่มีการให้ข่าวโดยใส่ร้ายป้ายสีกันแล้วสื่อมวลชนก็ไม่สามารถนำไปทำเป็นเรื่องเป็นราวและมีการนำไปทำเป็นหนังสือขายเป็นเล่มๆ ได้ จากการให้ข่าวดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีการนำไปแถลงและอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฏรครั้งที่ ๗ สมัยสามัญครั้งที่ ๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้ขอแถลงในสภาผู้แทนราษฏรซึ่งมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ จากการแถลงในสภาผู้แทนราษฏรของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้อภิปรายที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง และมีการแถลงโดยมุ่งมาที่โจทก์ที่ ๑ โดยระบุว่าเป็นสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการจ้างฆ่า และมุ่งมาที่โจทก์ที่ ๒ ว่าเป็นอดีตข้าราชการในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการอภิปรายให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้บงการอันเป็นการดูถูกเหยียดหยามโจทก์ทั้งสองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการยืนยันการกระทำว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้กระทำการจ้างฆ่านายประมาณ และมีการอภิปรายยกย่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมยุยงให้ตำรวจต้องทำการจับกุมให้ได้ โดยใช้คำสโลแกนว่า “พระต้องสวด เป็นตำรวจต้องจับ” อันเป็นการยุยงให้ทำการจับกุมโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องมีหลักฐานและเหตุผลในทางคดี แต่ให้จับไว้ก่อน ซึ่งนับได้ว่าเป็นคดีเดียวในโลกที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกข่าว ยุยงให้ฝ่ายบริหารจับคน โดยไม่ต้องมีเหตุตามกฏหมายและฝ่ายบริหารซึ่งมีจำเลยที่ ๑ สังกัดอยู่ก็ดำเนินการให้ การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศนั้น ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เป็นการอภิปรายดูถูกเหยียดหยามโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่เชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลอย่างมาก จากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน และการให้ข่าวในสภาผู้แทนราษฏรโดยมีต้นเหตุของการให้ข่าวมาจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้สร้างเรื่องขึ้น โจทก์ที่ ๑ เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและกำลังดำเนินงานทางธุรกิจที่กำลังเจริญรุ่งเรือง โจทก์ที่ ๒ เป็นข้าราชการตุลาการ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหญิงคนแรก เป็นอธิบดีผู้พิพากษาหญิงคนแรกได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นจากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการสร้างคดีอาญาใส่ร้ายปรักปรำโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงและถูกดูถูก เหยียดหยามของคนในสังคม และได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน ๒๐๐ ล้านบาท
๗.๕ การที่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดีอาญาดังกล่าว ทำให้โจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถประกอบกิจการงาน ดูแลธุรกิจของตนเองได้เลย เพราะต้องต่อสู้คดี ซึ่งมีความยากลำบากในการหาทนายความต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก เพราะทนายความเห็นว่าประธานศาลฏีกาเป็น ผู้เสียหาย การมีคดีพิจารณาคดีของศาลก็ดำเนินไปโดยเข้มงวดและนัดคดีกระชั้นชิด โจทก์ที่ ๑ ไม่มีโอกาสได้เตรียมคดี และมีความวิตกกังกวลอย่างที่สุด ซึ่งในคดีอาญาที่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดี โจทก์ที่ ๑ ขอประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนก็แสนยาก การขอประกันตัวในศาลก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้โดยง่าย ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงได้รับการประกันตัว โจทก์ที่ ๑ จึงไม่สามารถที่จะไปดูแลธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ ทำให้ธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วยดี คือ โครงการสกายบีช คอนโดมิเนียม ตั้งอยู่ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยเป็นโครงการของบริษัท สกายบีช คอนโดมิเนียม จำกัด และโครงการพาร์คบีช รีสอร์ท คอนโดมิเนียม ซึ่งตั้งอยู่ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยเป็นโครงการคของบริษัทพาร์คบีช รีสอร์ท จำกัด และโครงการทั้งสองสร้างใกล้เสร็จและมีการขายห้องชุดให้ลูกค้าเกือบทั้งหมดแล้ว แต่เพราะเหตุที่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีข้อหาร้ายแรง มีโทษถึงประหารชีวิต โจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถดูแลดำเนินการทางธุรกิจได้เลย ทำให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสองได้กระทำการถ่ายเทเงินและทรัพย์สินของบริษัททั้งสองออกจากบริษัทโดยอาศัยระบบทางบัญชี ซึ่งเรียกว่าการไซฟ่อนเงินและทรัพย์สินของบริษัทและยักยอกทรัพย์สินออกจากบริษัท โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินที่บริษัททั้งสองต้องสูญเสียรายได้และทรัพย์สินไปเป็นมุลค่าไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท และสร้างหนี้เทียมให้กับบริษัททั้งสอง บริษัททั้งสองได้ถูกฟ้องดำเนินคดีเรียกเงินจากสถาบันการเงินหลายแห่งโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายที่เกิดจากกิจการของบริษัททั้งสองเป็นเงินไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ที่ ๑ ถูกฟ้องคดีอาญาโดยตรง (เอกสารและหลักฐานจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)

อีกทั้งมีการอ้างคดีที่บริษัทสกายบีช คอนโดมิเนียม จำกัด ฟ้องคดีบริษัท สราญชล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับพวกเป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดชลบุรีมาเป็นสาเหตุการจ้างฆ่า โดยมิได้มีการสอบสวนสาเหตุในคดีดังกล่าว และการอ้างคดีดังกล่าวไม่เป็นสาเหตุการจ้างฆ่า จึงมีอุปสรรคในการดำเนินคดี มีความกดดันการดำเนินคดีของบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ต้องยุติการดำเนินคดี โดยที่คดีมิได้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นเงินไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านบาท อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุที่มีการสร้างเรื่องดำเนินคดีกับโจทก์ทั้งสองโดยตรง (เอกสารและหลักฐานจะเสนอในชั้นพิจารณา)
๗.๖ โครงการสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ของบริษัทสาธร ยูนีค จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการอาคารสูง ๔๓ ชั้น โครงการบ้านฉัตรเพชร จำกัด ซึ่งมีอาคารโครงการฉัตรเพชร ทาวเวอร์โครงการฉัตรเพชรบางพลัด โครงการฉัตรเพชรรัชดาภิเษก โครงการฉัตรเพชรรัตนาธิเบศร์ ของบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด โครงการกรีนวู้ด ไฮเทค รีสอร์ท มีที่ดินประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ เป็นโครงการบ้านจัดสรร จัดสรรขายทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาคารชุดในโครงการ โรงแรม สนามกอล์ฟ ซึ่งในนามบริษัทกรีนวู้ด ไฮเทค รีสอร์ท จำกัดและโครงการโกลเด้นบีช การ์เด้น รีสอร์ท เป็นโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินการในนามบริษัท โกลเด้นบีช การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด ทุกโครงการเป็นโครงการที่กำลังดำเนินการทั้งสิ้นในขณะเกิดเหตุ เมื่อมีคดีซึ่งข้อหาร้ายแรงเกิดกับโจทก์ที่ ๑ ทำให้โครงการทุกโครงการมีอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และถูกฟ้องคดีจำนวนหลายคดีจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการ ก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมากเพราะถูกฟ้องคดีโจทก์ที่ ๑ เป็นประธานบริษัทในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้ยืมก็ได้ถูกฟ้องคดีไปด้วย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องคดีมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของจำเลยโดยตรงที่ทำให้เกิดคดีกับโจทก์ (เอกสารและหลักฐานจะเสนอในชั้นพิจารณา)
๗.๗ โจทก์ที่ ๑ มีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในรูปของบริษัทอยู่หลายบริษัท โดยเป็นประธานบริษัททุกบริษัทและเป็นสถาปกนิก โจทกที่ ๑ มีความรู้ในทางวิชาการเกี่ยวกับการก่อสร้างรู้เรื่องการลงทุน การบริหารงานเกี่ยวกับการลงทุน ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดี ก่อนมีคดีโจทก์ที่ ๑ ได้ก่อตั้งบริษัทและทำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ทั้งที่เป็นผู้ลงทุนและรับจ้างออกแบบและบริหารการตลาดให้ผู้ว่าจ้างหลายราย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด โจทก์ที่ ๑ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความรู้และมีเกียรติ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาร้ายแรง และโจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาจ้างฆ่าประธานศาลฏีกา ทำให้เสียชื่อเสียง และเสียหายแก่ธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ เพราะไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนในทุกวงการ รวมทั้งคนในทางธุรกิจ การธนาคาร สถาบันการเงิน ทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นกำลังดำเนินโครงการอยู่หลายโครงการต้องประสบปัญหาในทุกด้าน และล่มสลายขาดทุนย่อยยับ โจทก์ที่ ๑ สูญเสียในศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ในการดำรงชีพได้อย่างบุคคลปกติที่มีความสามารถของตนเองในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับธุรกิจอื่นที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล และสูญเสียศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ในฐานะของความเป็นคนไทยที่จะต้องทำงานในสายอาชีพให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมือง โดยสามารถทำกำไรในการดำเนินโครงการต่างๆ และนำเงินที่เป็นกำไรและรายได้มาเสียภาษี เพื่อทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองของตนเองได้เยี่ยงพลเมืองที่ดีในแผ่นดินแม่ของตนเองได้ ต้องสูญเสียโอกาสนำงานออกแบบสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญามาทำการก่อสร้างให้ปรากฏผลงานทางทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ที่ ๑ ต่อสาธารณะ โจทก์ที่ ๑ ต้องสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นพ่อเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตร ธิดา ตามแผนการณ์ที่ได้วางใจให้แก่ลูกในอนาคตที่ได้เคยวางแผนไว้ได้ โจทก์ที่ ๑ ต้องสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นสามีที่ต้องดูภรรยาได้อย่างมีความสุขเยี่ยงปุถุชนคนทั่วไปได้ ต้องนำความทุกข์ยากมาสู่ครอบครัว มารดาและญาติพี่น้องอย่างไม่อาจประมาณได้ ทำให้มารดาทั้งสองของโจทก์ทั้งสองซึ่งชราภาพมาก และต้องล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยความทุกข์กังวลและห่วงใยอย่างที่สุด เหตุเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงานจำเลยทั้งสาม โจทก์ที่ ๑ เคยมีสถานภาพทางสังคม โดยเป็นอาจารย์สอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มานานเป็นเวลา ๒๕ ปี และได้ลาออกเพื่อมาทำธุรกิจ โจทก์ที่ ๑ เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อพรรคประชารัฐ มีนักการเมืองและบุคคลอื่นเข้าเป็นสมาชิกมากมาย เป็นประธานชมรมพระเครื่องแห่งประเทศไทย เป็นประธานสมาคมการค้าอาคารชุดแห่งประเทศไทย เคยเป็นประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.ต.อ ประมาณ อดิเรกสาร) เป็นที่ไว้วางใจของบุคคลทั่วไป ธุรกิจกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่ต้องวิบัติกลายเป็นผู้มีหนี้สินและถูกฟ้องคดีในทางธุรกิจจำนวนมากเพราะเหตุละเมิดดังกล่าวนั้น
๗.๘ โจทก์ที่ ๒ ก็ได้รับผลกระทบในอาชีพของตนที่เป็นข้าราชการตุลาการ หน้าที่การงานกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่ต้องเสียชื่อเสียงเกียรติคุณ เพราะเหตุละเมิดดังกล่าว ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน และไม่ได้การเลื่อนตำแหน่งในเวลาที่ควรเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน และสิทธิเป็นอย่างมาก มีการไขข่าวแพร่หลายไปทั่ว ทั้งทางหนังสือพิมพ์ การให้ข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุและการสื่อสารแทบทุกชนิด เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญของโจทก์ที่ ๒ และครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง ความเป็นอยู่ในครอบครัวอย่างปกติต้องสูญสิ้นไป มีแต่ความทุกข์ทรมานและวิตกกังวลมาเป็นเวลานานถึง ๑๘ ปี ได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะต้องร่วมกันหรือทดแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๙ โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีนี้ นับตั้งแต่โจทก์ที่ ๑ ถูกดำเนินดคีจนถึงที่สุดเป็นเวลากว่า ๑๘ ปี โดยโจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายอาทิเช่น ค่าทนายความ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับคดีอาญาที่โจทก์ที่ ๑ ถูกฟ้อง ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์ที่ ๑ ตลอดเวลา ๑๘ ปี ต้องต่อสู้คดี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นเงิน ๔๐ ล้านบาท จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลยทั้งสามที่มีต่อโจทก์ทั้งสองให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
ข้อ ๘.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๑ พนักงานอัยการในสังกัดจำเลยที่ ๒ และสำนักนายกรัฐมนตรีจำเลยที่ ๓ ที่กระทำการ ละเว้นกระทำการใดๆ ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีเจตนาที่จะให้โจทก์ที่ ๑ ต้องได้รับโทษทางอาญา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในสิทธิ เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และสิทธิในทุกชนิดของโจทก์ เป็นการ โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องได้รับความเสียหาย สูญเสียอาชีพการงาน ทำให้ธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ และของครอบครัวต้องล้มสลายสูญเสียและเสียหายกว่า ๓๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นล้านบาท) โจทก์ทั้งสองใช้เวลาในการแสวงหาหนทางแห่งความยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง และต้องใช้ระยะเวลา ตั้งปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึงปี พ.ศ.๒๕๕๓ รวมระยะเวลากว่า ๑๗ ปี กว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายกฟ้องอันเป็นการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ โจทก์ทั้งสองต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจมืดที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันหยิบยื่นให้ ไม่ใช่แม้แต่ในการต่อสู้คดี แต่โจทก์ทั้งสองยังต้องตกอยู่ในภาวะกดดันที่สังคมทั่วไปประนาม ดูหมิ่น เหยียดหยาม และไม่ได้รับโอกาสในทางสังคมที่จะฟื้นฟูธุรกิจของตนเองได้เลย โจทก์ทั้งสองต้องถูกฟ้องร้องจากบุคคลที่เคยเป็นลูกค้าเป็นเพื่อนสนิท เป็นผู้ร่วมค้า และผู้ที่เคยให้การสนับสนุน เสมือนโจทก์ทั้งสองถูกสังคมซ้ำเติม เพราะโจทก์ทั้งสองไม่มีโอกาสที่จะทำธุรกิจฟื้นกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้ เพราะเหตุที่ข้อกล่าวหา และโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นสูงมาก โอกาสที่จะได้รับการเยียวยาจึงไม่เกิดขึ้นเลย จนบัดนี้โจทก์ทั้งสองมีอายุ ๗๒ ปี แล้ว ซึ่งต้องถือได้ว่าเป็นอายุของบุคคลที่เข้าสู่วัยชราภาพ ทั้งที่ความจริงแล้ว หากเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นกับโจทก์ทั้งสอง ชีวิตของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวคงมีความสะดวกสบาย มีทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากการประกอบสัมมาชีพ มีชื่อเสียง และเป็นที่เคารพของคนทั่วไป แต่เป็นเพราะจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำ และละเว้นการกระทำโดยไม่ชอบ จนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองและครอบครัวต้องเสียหายคิดเป็นค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามพันล้านบาท)

และก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสาม แลพะจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง (ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับทางไปรษณีย์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑๗ และหมายเลข ๑๘-๒๐ ตามลำดับ)

จากการกระทำของจำเลยทั้งสามที่โจทก์ทั้งสองได้กราบเรียนข้างต้น ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองนั้นมากมายสุดที่จะประมาณได้ อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียวงศ์ตระกูลมาจนทุกวันนี้ ยากที่จะเยียวยาได้ และสูญเสียรายได้จำนวนมาก สูญเสียโอกาสในทางเจริญของครอบครัว ชื่อเสียง เกียรติยศ ซึ่งจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ถึงแม้โจทก์ทั้งสองจะต้องสูญเสียโอกาสและรายได้เป็นจำนวนมาก โจทก์ทั้งสองก็ขอคิดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามพันล้านบาท) ซึ่งโจทก์ทั้งสองขอยึดถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกัน ชดใช้เงินดอกเบี้ยจากในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์ทั้งสองไม่มีทางใดที่จะบังคับกับจำเลยทั้งสามได้ จึงต้องขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
กำลังโหลดความคิดเห็น