การที่ประชาชนซึ่งมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ ความคิด ฐานะ การศึกษา และความเป็นอยู่ ได้มาอยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ย่อมอาจมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น การกักขัง หรือจำคุก อันเป็นวิธีการที่สำคัญประการหนึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็มุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้กระทำความผิด ซึ่งรู้ว่าตนกระทำความผิด มีโอกาสได้ปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตนเอง การใช้วิธีการร้องขอให้มีการอภัยโทษ หรือ ขอให้มีการนิรโทษกรรมจึงเป็นวิธีการหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้
การพระราชทานอภัยโทษ
การพระราชทานอภัยโทษ (Pardon or Grace) นั้นหมายความถึงการยกเว้นโทษให้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษนั้นโดยยังถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและเคยต้องคำพิพากษา การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 191 เพราะการต้องโทษจะมีได้ก็โดยคำพิพากษาของศาลซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 197 ดังนั้น การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นพระราชอำนาจและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ต่อพสกนิกรชาวไทย
การพระราชทานอภัยโทษนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ และใช้เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 กำหนดให้ “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือบุคคลที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ “ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่”
ในการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น นอกจากผู้ต้องคำพิพากษาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวได้แล้ว มาตรา 261 ยังกำหนดให้ “ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้” โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยต้องโทษให้ประหารชีวิต มาตรา 247 ที่บัญญัติ “ห้ามมิให้บังคับตามคำพิพากษา จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอภัยโทษแล้ว”
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเองก็สามารถทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษได้เช่นกัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 261 ทวิ ที่กำหนดว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้” และการพระราชทานอภัยโทษตามที่คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำนั้น กฎหมายกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่มีสาระสำคัญในการพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษ โดยกำหนดเงื่อนไขในการที่จะได้รับพระราชทานปล่อยตัวไปหรือลดโทษ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
ทั้งนี้ เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ย่อมมีผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน แต่ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่อาจทำให้สิทธิต่างๆที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาเหมือนก่อนมีคำพิพากษา
การนิรโทษกรรม
การนิรโทษกรรม (Amnesty) นั้นหมายความว่า การที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำบางการกระทำเป็นความผิด และโทษซึ่งเป็นผลสำหรับการนั้นไม่จำเป็นต้องถูกนำมาบังคับใช้ ซึ่งตามปกติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด หรือเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด ให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลย คือให้ลืมความผิดนั้นเสีย ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่ตัวการกระทำผิดนั้นเอง ซึ่งถูกถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดซึ่งจะตกไปยังตัวบุคคลผู้กระทำการนั้นย่อมต้องถูกลบล้างตามไปด้วย นิรโทษกรรมนั้นเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือ รัฐสภา จะต้องออกเป็น “พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้ทำผิดนั้นๆมิได้กระทำความผิดเลยก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง( Non-Retroactive) แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กระทำความผิดจึงสามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้น จึงควรให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา เป็นผู้ออกกฎหมายประเภทของการนิรโทษกรรม
การนิรโทษกรรมสามารถกระทำได้ทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษาและอาจมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีผู้ร้องขอ เงื่อนไขทั่วไปของกฎหมายนิรโทษกรรมถูกกำหนดไว้ 3 เงื่อนไขคือ ระยะเวลาในการกระทำความผิด การกำหนดตัวผู้กระทำความผิด และประเภทของความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยอาจแบ่งประเภทของกฎหมายนิรโทษกรรมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไปหรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political Offence) ทุกประเภท หรือ ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน การนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองนี้อีกนัยหนึ่งถูกมองว่า เป็นการแสดงออกให้มีผลเป็นกฎหมายของการกระทำทางการเมือง เพื่อส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและในหลายกรณีเกี่ยวข้องกับการกลับคืนสู่หรือสร้างเสถียรภาพแก่ประชาธิปไตย
2. การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไขหรือโดยไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือ เป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่นั่นเอง การนิรโทษกรรมโดยเด็ดขาดนั้นเป็นการออกกฎหมายมาแล้วเพียงแต่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่หากการนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข ผู้กระทำความผิดจะได้รับผลของการนิรโทษกรรมต่อเมื่อตนได้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
ผลของการนิรโทษกรรม
ผลของการนิรโทษกรรมให้ถือเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำผิดนั้นๆขึ้นมาก่อนเลย หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้องแล้วแต่กรณีนั้นเสีย แต่หากได้ถูกฟ้องร้องต่อศาลแล้วพนักงานอัยการต้องดำเนินการถอนฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้อง เมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีไปและสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วยหากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้วผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำหรือหากผู้กระทำความผิดกำลังรับการลงโทษก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดมาก่อนเลย ศาลจะพิพากษาเพิ่มโทษโดยอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำไม่ได้ จะไม่รอการลงโทษหรือไม่รอลงอาญาก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทำความผิดใดๆมาก่อน
การนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิดแต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบของกฎหมายทำให้ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาเท่านั้น หากมีผู้ใดได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญา และการกระทำความผิดนั้นได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ที่ได้รับความเสียหายยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดทางแพ่ง เช่น ความผิดในมูลละเมิดได้
ส่วนสิทธิอื่นๆที่เคยสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษานั้น ก็จะได้รับกลับคืนมา เช่น สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ แต่ไม่มีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน และไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ก็อาจได้รับกลับคืนตามกฎหมายอื่นได้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมอำนาจในการนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงต้องกระทำโดยการตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่กรณีเร่งด่วนซึ่งรัฐบาลสามารถตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นใช้บังคับได้โดยต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติในภายหลัง การนิรโทษกรรมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการนิรโทษกรรมที่ออกให้แก่การกระทำความผิดทางการเมือง อย่างไรก็ดีหลักของการนิรโทษกรรมคือเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิด เพื่อให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่กระทำลงไป จึงสามารถจำแนกกฎหมายนิรโทษกรรมได้เป็น 2 รูปแบบ คือ กรณีที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง และกรณีที่ไม่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง
สำหรับกรณีที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองนั้นต้องเป็นการกระทำความผิดต่อองค์การการเมืองแห่งรัฐ ต่อรูปแบบการปกครอง หรือต่อสิทธิทางการเมืองของประชาชน ซึ่งอาจพิจารณาได้จากสภาพความผิดหรือมูลเหตุจูงใจ หรือจุดประสงค์ในการกระทำความผิด
ทั้งนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง มีทั้งกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ได้แก่กฎหมายดังต่อไปนี้ คือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำความผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2500 พ.ศ. 2500 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2501 พ.ศ. 2502 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2514 พ.ศ. 2515 พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2515 พ.ศ. 2517 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 พ.ศ. 2519 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2520 พ.ศ. 2520 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 พ.ศ. 2520 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2524 พ.ศ. 2524 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครอง แผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช2534 พ.ศ. 2534
และที่ปรากฏล่าสุดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 309 ที่บัญญัติว่า “บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”
นอกจากนี้การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมืองในกรณีอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารอันอาจเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มบุคคลเข้าร่วมกันเพื่อต่อต้านนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาล และภายหลังรัฐบาลอาจเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีหรือลงโทษผู้กระทำการเช่นนั้น เช่น กรณีของผู้กระทำการต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามเอเซียบูรพา หรือ การประท้วงรัฐบาลในกรณีต่างๆ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2489 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532
จากพระราชบัญญัติการนิรโทษกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเคยออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทางการเมืองไว้หลายฉบับ และเหตุผลในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมไม่จำกัดว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในการปฏิวัติรัฐประหาร แต่บางกรณีอาจเกิดจากการที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับคณะปฏิวัติและมีการใช้สิทธิทางศาล อันมีผลให้ต้องถูกจำคุกโดยคำสั่งคณะปฏิวัติจากการใช้สิทธิเช่นว่านั้น เช่น การออกพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2515 พ.ศ. 2517 ซึ่งมีข้อเท็จจริงมาจากการที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำอดีตสมาชิกสภาผู้แทนได้เป็นโจทก์ ฟ้อง จอมพล ถนอม กิตติขจร กับพวกรวม 17 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาฐานกบฏ และต่อมาหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ทำการจับกุมบุคคลทั้งสาม และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2515 ให้ลงโทษจำคุกนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไว้มีกำหนด 10 ปี และให้จำคุกนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ไว้มีกำหนดคนละ 7 ปี ต่อมาจึงได้มีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งฉบับนี้ และให้ปล่อยตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับทันที โดยให้เหตุผลว่าการที่บุคคลทั้งสามทำการฟ้องร้อง จอมพล ถนอม กิตติขจร กับพวกเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและเป็นการแสดงความคิดเห็นตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน การใช้สิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรมย่อมจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดมิได้ การที่หัวหน้าคณะปฏิวัติมีคำสั่งให้จำคุกบุคคลทั้งสามจึงเป็นการกระทำที่มิชอบ เป็นการสมควรตรากฎหมายยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยให้ถือว่าบุคคลทั้งสามนั้นมิได้กระทำความผิดและมิเคยต้องโทษตามคำสั่งของดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดทางการเมืองมักใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดระเบียบโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายในภายหน้า เพื่อให้ลืมและไม่ลงโทษในการกระทำความผิดที่ทำมาก่อนนั้นและชักจูงให้ผู้กระทำผิดได้เริ่มต้นกระทำการที่ถูกกฎหมายต่อไป ซึ่งกฎหมายประเภทนี้มักจะไม่ใช้คำว่านิรโทษกรรมโดยตรงแต่เนื้อหาของบทบัญญัติแสดงให้เห็นว่าหากมีการกระทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ได้ออกมาบังคับใช้ภายหลังแล้ว ผู้กระทำผิดก็จะได้รับการยกเว้นและไม่ต้องถูกลงโทษจากการกระทำนั้น ตัวอย่างของกฎหมายนิรโทษกรรมประเภทนี้ได้แก่ พระราชบัญญัติยกความผิดให้แก่ผู้ทำผิดพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร และผู้ขาดหนีราชการทหารและตำรวจ พ.ศ. 2475 หรือ พระราชบัญญัติยกโทษและทัณฑ์ให้แก่ทหารกองประจำการซึ่งขาดหรือหนีราชการ พ.ศ. 2532 ที่บัญญัติยกโทษยกความผิดให้แก่ผู้หนีทหาร พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติยกเว้นโทษและจูงใจให้ประชาชนที่มีอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่างๆที่บัญญัติไว้ มาขอรับอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นำอาวุธสงครามมามอบให้แก่ทางราชการ หรือในกรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีหรือเสียไม่ครบถ้วนให้เข้ามาเสียภาษีโดยจะไม่ถูกลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ดังเช่นคำพิพากษาฎีกาที่ 1425/2530 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 เป็นบทบัญญัติเปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรสำหรับเงินได้ รายรับที่มีอยู่ก่อนปีภาษี 2527 หรือในปีภาษี 2527 หรือในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม 2527 ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 จนถึงสิ้นกรกฎาคม 2529 เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากผู้ใดยื่นคำขอเสียภาษีภายในเวลาดังกล่าว และได้ชำระภาษีอากรภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดนั้นแล้ว ก็เป็นอันได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบไต่สวน การประเมินหรือคำสั่งให้เสียภาษีอากร ตลอดจนได้รับยกเว้นความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ความตอนท้ายของบทบัญญัติมาตรานี้บัญญัติยกเว้นไว้ว่าถ้าผู้ใดที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์และเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับการผ่อนผันสำหรับเงินได้ หรือรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหรือสั่งให้เสียไว้นั้น
เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีของจำเลย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ใช้บังคับแล้ว เมื่อจำเลยได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2529 อันเป็นเวลาภายในระยะเวลาตามที่มาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติไว้ จำเลยจึงไม่ต้องเสียภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมินการคำนวณภาษีอากรตามมาตรา 30 ดังกล่าวกำหนดไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเรื่องคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด กรณีหลังหากไม่มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดก็ต้องคำนวณจากยอดเงินได้ถัวเฉลี่ยย้อนหลังตามจำนวนปีที่มีเงินได้หรือรายได้แต่ไม่เกิน 5 ปี ก่อนปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนในวันที่ 31 ธันวาคม 2527 โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเสร็จสิ้นการชำระบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคม 2527 เท่านั้น จึงจะถือว่ามีทรัพย์สินสุทธิที่จะเปรียบเทียบเงินได้เฉลี่ย การที่จำเลยแจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2526 และเสร็จสิ้นการชำระบัญชีวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 การที่จำเลยยื่นคำขอเสียภาษีอากรต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายได้ถัวเฉลี่ย 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523-2526 โดยเปรียบเทียบกับยอดทรัพย์สินสุทธิในวันที่ 31 กันยายน 2526 ซึ่งเป็นวันเลิกกิจการ เป็นการเสียภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
บทสรุป
การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมีหลักการที่คล้ายกันประการหนึ่ง คือมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด แต่มีเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างกันไป เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว และมีการทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ย่อมมีผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน แต่ไม่อาจทำให้สิทธิต่างๆที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาเหมือนก่อนมีคำพิพากษา
ในขณะที่การนิรโทษกรรมนั้น เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยจะต้องออกเป็น “พระราชบัญญัติ” ยกเว้นให้การกระทำผิดนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิดอีกต่อไปและสามารถออกกฎหมายยกเว้นได้ทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษา โดยไม่จำต้องมีผู้ร้องขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และเมื่อมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว ย่อมถือว่าผู้กระทำความผิดเช่นว่านั้นไม่เคยกระทำความผิดใดๆมาก่อน มีผลให้สิทธิอื่นๆที่เคยสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษานั้น ก็จะได้รับกลับคืนมา เช่น สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิที่จะเข้ารับราชการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่าเป็นข้อยกเว้นของหลักกฎหมายทั่วไป จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นแล้วและควรใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเท่าที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม