จากบทความเรื่อง “ทำอย่างไรเมื่อถูกจับผิดตัว” ที่ได้กล่าวถึงการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายซึ่งได้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงสิทธิในการร้องขอให้ปล่อยตัวของผู้ถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
จากแนวคิดที่ว่าสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 จึงได้มีบทบัญญัติคุ้มครองให้ “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” และหากมีการกระทำใดๆซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย มาตรา 32 กำหนดให้ “ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้”
อย่างไรก็ดี นอกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้ผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายสำคัญอีกฉบับที่ต้องพิจารณาประกอบ คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ผู้เสียหายและประสงค์จะฟ้องคดีต้องมีความเข้าใจในเบื้องต้นว่าการกระทำละเมิดนั้นเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่เป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ มาตรา 5 กำหนดให้ “ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” และ “ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิด” ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5824/2543 ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามเข้าจับกุมโจทก์ ซึ่งถือได้ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว การควบคุมตัวโจทก์เพื่อไปส่งที่สถานีตำรวจย่อมถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามทำร้ายร่างกายโจทก์ขณะควบคุมโจทก์ไปส่งสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามสังกัดอยู่ได้
แต่ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำละเมิดไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มาตรา 8 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐจ่ายให้แก่ผู้เสียหายคืนได้ อย่างไรจะถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป โดยอาจพิจารณาจากลักษณะของการกระทำของบุคคลนั้นว่าได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังตามมาตรฐานของบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมาก เช่นตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1789-1790/2518 กรณีโรงงานของจำเลยเผาเศษปอ ทำให้มีควันดำปกคลุมถนนจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า จนเป็นเหตุให้มีรถขับมาชนท้ายรถโจทก์ซึ่งจอดอยู่ได้รับความเสียหาย และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่จำเลยก็ปล่อยปละละเลยไม่เปลี่ยนวิธีการเผาเศษปอ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 6 กำหนดให้ “เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้” ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยให้ความเห็นไว้ในกรณีการยักยอกเงินขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำทะลุ ว่าการที่หัวหน้าส่วนการคลังได้เขียนเช็คเบิกเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่ตั้งเบิกและนำไปเบิกเงินจากธนาคาร และรับเงินที่ราษฎรมาชำระภาษีและค่าธรรมเนียม แล้วไม่นำเข้าบัญชีเงินฝากของ อบต. แต่เบียดบังเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ เป็นการกระทำความผิดทางอาญา มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับการที่จะใช้สิทธิทางศาลยังศาลใด ระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2547 ได้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลที่น่าสนใจไว้ในคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า ระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี ควบคุมตัวผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้ ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ใส่กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหาอื่น ทำให้ผู้ต้องหาอื่น 9 คน เข้ารุมทำร้ายผู้ตายในห้องควบคุมจนถึงแก่ความตาย โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่ห้ามปรามทั้งที่สามารถกระทำได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ตายถึงแก่ความตายขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการใช้อำนาจในการควบคุมตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา และเป็นการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง จึงต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
เช่นเดียวกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 213/2549 และ 65/2553 ที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจตามกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา และมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ ถือเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองจึงต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
การใช้สิทธิทางศาลไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เสียหายสามารถเลือกใช้วิธีการร้องขอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 11 และหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาคำขอโดยไม่ชักช้าให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และสามารถขอขยายเวลาได้อีก 180 วัน
จะเห็นได้ว่า จากสภาพปัจจุบันการจะบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอาจเป็นไปได้ยาก หรือ ในบางกรณีแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้พยายามและระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังสามารถที่จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์แก่ผู้เสียหายที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม โดยมีทางเลือกในการดำเนินการสองทาง คือ การใช้สิทธิทางศาล และการร้องขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำละเมิด
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม