xs
xsm
sm
md
lg

เด็ก 10 ขวบกระทำผิดต้องติดคุกหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
อีกแล้ว มีข่าวสลด เด็ก 10 ขวบ เล่นปืนแก๊ปไทยประดิษฐ์ ลั่นใส่อกเด็ก 6 ขวบ ดับอนาถ ตำรวจชี้เป็นอุบัติเหตุ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุ คนยิงกันตาย ไปถึงที่เกิดเหตุได้พบศพเด็กชายวัย 6 ขวบ ไม่ทราบชื่อ ถูกอาวุธปืนแก๊ปยิงเข้าที่ลำตัว เสียชีวิต โดยจากการสอบสวนเบื้องต้น ทราบว่าผู้ยิงคือ เด็กชายวัย 10 ขวบซึ่งญาติได้บอกว่า เด็ก 10 ขวบ ไม่มีพ่อแม่ มาอาศัยกับญาติ และนำเอาปืนแก๊ปยาวแบบไทยประดิษฐ์ ที่แขวนไว้บนฝาผนังมาเล่นและปืนเกิดลั่นขึ้นล่าสุด ได้ทำการสอบสวนญาติที่เป็นเจ้าของปืนแล้ว ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเป็นการเลียนแบบละครทีวีหรือไม่

ข่าวสั้นๆ ทางหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มิใช่เป็นเหตุการณ์แรก แต่เป็นสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนับครั้งไม่ถ้วนและเชื่อว่าจะมีเกิดขึ้นอีกในอนาคตเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสลดใจยิ่ง เพื่อความเข้าใจของบิดามารดาผู้ปกครองและประชาชน ผู้เขียนจึงขอพูดถึงความรับผิดในทางกฎหมายอาญาของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีในเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กอย่างไรบ้าง

คำถามแรกที่คนทั่วไปอยากทราบคือ เด็กน้อยวัยไม่เกิน 10 ขวบ จะต้องรับผิดหรือรับโทษในทางอาญาหรือไม่ คำตอบในเรื่องนี้ มีบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาของไทย มาตรา 73 ว่า “เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

ความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 ก็คือ เด็กอายุตั้งแต่ 10 ปี ลงไป แม้จะได้กระทำความผิด แต่เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ โดยให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กดำเนินการต่อไป เหตุที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นโทษให้ เพราะผู้กระทำความผิดยังมีอายุน้อย อ่อนด้อยด้วยวุฒิภาวะขาดการคิดไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจหรือรู้ผิดชอบชั่วดีและขาดเจตนาชั่วร้าย แม้กระทำการนั้นกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ก็ไม่สมควรต้องรับโทษ ส่วนการคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นกระบวนการแก้ไขบำบัดเยียวยาเป็นภารกิจกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่จะต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยของเด็กที่กระทำผิดและบุคคลอื่นที่อาจเป็นเหยื่อจากความคึกคะนองหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก สืบค้นปัญหาสาเหตุพฤติกรรม ดูแลป้องกันมิให้เด็กไปก่อเหตุร้ายซ้ำ และแสวงหามาตรการขจัดปัดเป่าป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันขึ้นอีก

ส่วนเด็กที่มีอายุกว่า 10 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ในวันกระทำความผิด หากกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เด็กหรือเยาวชนนั้นก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เว้นแต่คดีดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดี หรือมีการฟ้องเด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลยต่อศาล และคดีนั้นมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินยี่สิบปีกับเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนมีคำพิพากษา ผู้เสียหายและโจทก์ไม่ค้านและพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร รวมทั้งยังมีองค์ประกอบเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย ทั้งสองกรณี กฎหมายออกแบบใหม่ว่าสามารถใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาได้ กล่าวคือ ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู โดยไม่ต้องมีคำพิพากษาของศาล หากเด็กหรือเยาวชนสามารถปฏิบัติตามแผนฯ ในกรณีแรกให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ ส่วนกรณีที่สอง ให้ศาลเยาวชน ฯ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับเช่นกัน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 86 ถึง มาตรา 92 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับข่าวนี้ได้แก่ ความรับผิดในทางแพ่ง คือการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน จริงอยู่แม้เด็กที่กระทำผิดจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่อาจต้องมีความรับผิดในฐานะเป็นผู้กระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

ส่วนบิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องรับผิดร่วมกับเด็กนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

ดังนั้น การที่เด็กชายวัย 10 ปี ได้กระทำความผิดทางอาญา แม้จะไม่ต้องรับโทษอาญาตามกฎหมาย แต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่ง และบิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องร่วมรับผิดกับเด็กด้วย เว้นแต่จะใช้ความระมัดระวังในการดูแลเด็กแล้ว จึงเป็นอุทาหรณ์ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กทั้งหลายที่จะต้องระมัดระวังดูแลเด็กในปกครองของตนเป็นอย่างดี เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะต้องเป็นคดีความทั้งในทางแพ่งและทางอาญาได้

เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น