คำฟ้องคดีแพ่งสืบเนื่องจากคดีลอบสังหารประธานศาลฎีกา ยื่นฟ้องวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ ๓๔๕๖/๒๕๕๔ ความแพ่ง ระหว่าง นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ ๑, นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ที่ ๒ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๑, สำนักงานอัยการสูงสุดที่ ๒, สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓ จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่าเสียหาย จำนวนทุนทรัพย์ ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
คำฟ้องคดีแพ่งสืบเนื่องจากคดีลอบสังหารประธานศาลฏีกา
ยื่นฟ้องวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔
ศาลแพ่ง
คดีหมายเลขดำที่ ๓๔๕๖/๒๕๕๔ ความแพ่ง
ระหว่าง นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ ๑, นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ที่ ๒ โจทก์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ๑, สำนักงานอัยการสูงสุดที่ ๒ ,
สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓ จำเลย
ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่าเสียหาย
จำนวนทุนทรัพย์ ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๑ .โจทก์ที่ ๑ เป็นข้าราชการบำนาญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก และยังเป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างอาคารและสร้างบ้านพักอาศัยขายแก่ประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน กำลังเจริญรุ่งเรืองในทางทำมาหาได้ และเกียรติคุณของตน มีบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัท
โจทก์ที่ ๒ เป็นภริยาของโจทก์ที่ ๑ ในขณะเกิดเหตุละเมิด เป็นข้าราชการตุลาการกำลังเจริญรุ่งเรืองในตำแหน่งหน้าที่ของตน ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ
จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ ดูแลควบคุมและกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญา, รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร, ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๖ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๑๑ และเป็นผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๑๔(๓) เดิมในขณะที่เริ่มเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ เป็นกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้แทนกรมตำรวจ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นผู้บังคับบัญชา พล.ต.ต.สมบัติ อมรวิวัฒน์ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ พ.ต.อ.สติ ตูวิเชียร พ.ต.อ.เฉลิม สิตานนท์ พ.ต.อ.รังสรรค์ ชำนาญหมอ พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย พ.ต.ท.ทัศนัย ศิริสนธิ พ.ต.ท.การุณ จิตรภักดี พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง พ.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ร.ต.อ.การุณ อิงประสาร ร.ต.อ.ประวุธ วงศ์สีนิล ฯลฯ
จำเลยที่ ๒ เป็นส่วนราชการที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นและเป็นนิติบุคคล โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้แทนนิติบุคคลให้ข้าราชการฝ่ายอัยการสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๗ “ข้าราชการฝ่ายอัยการ” หมายความว่า ข้าราชการฝ่ายอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ “พนักงานอัยการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัตินี้ ตามมาตรา ๔ เดิมในขณะที่เริ่มเกิดเหตุละเมิด จำเลยที่ ๒ เป็นกรมอัยการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอธิบดีกรมอัยการเป็นผู้แทนกรมอัยการ ในขณะเกิดเหตุมี นายสหาย ทรัพย์สุนทร นายวรท ศรีไพโรจน์ และนายธวัชชัย ชำนาญหล่อ เป็นพนักงานอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาสำนวนสั่งฟ้องคดีและดำเนินคดี
จำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นกระทรวงและเป็นนิติบุคคล มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม และจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน ดูแลกำกับบังคับบัญชาหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ข้อ ๒.เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ มาจนถึงปัจจุบันนี้ จำเลยทั้งสามโดยข้าราชการในสังกัดของจำเลยทั้งสาม ได้ร่วมกับประชาชนที่ตนมีอำนาจสั่งการ หรือบังคับให้กระทำการใดๆได้ ร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสอง และครอบครัวให้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินและสิทธิของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว และได้ร่วมกันไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ทั้งสอง เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ ทางเจริญของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสามต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยมีการกระทำละเมิดที่สำคัญดังต่อไปนี้
กล่าวคือ นับแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ ๑ เช่น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ต.สมบัติ อมรวิวัฒน์, พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ, พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย, พ.ต.ท.ทัศนัย ศิริสนธิ, พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง, ร.ต.อ.ประวุธ วงศ์สีนิล, ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์, พ.ต.อ.รังสรรค์ ชำนาญหมอ, พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค, พ.ต.อ.สติ ตูวิเชียร ยศและตำแหน่งในขณะนั้น และข้าราชการตำรวจอีกหลายนายได้ปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ราชการ ได้ทำการสืบสวนและสอบสวน โดยร่วมสมคบกับราษฎรจำนวนหลายคน เช่น นายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา, นายบรรเจิด จันทนะเปลิน, นายประทุม สุดมณี, นายบำรุง ชัยเมือง ฯลฯ เป็นต้น โดยร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกล่าวหาโจทก์ทั้งสองว่าการกระทำความผิดอาญา โดยจะทำการลอบฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา โดยมีเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญามีโทษถึงจำคุก โดยปรักปรำโจทก์ทั้งสองจากมูลเหตุหลายมูลเหตุที่อ้างขึ้นมา แล้วแบ่งงานกันทำเป็นขั้นตอนเป็นตอนเพื่อให้เห็นว่ามีเหตุการณ์ลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ จริง โดยอ้างเอาสาเหตุ จาการที่ นายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา มีความโกรธและไม่พอใจโจทก์ที่ ๑ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๕ หรือก่อนหน้านั้น เพราะหนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๐๒(๙๓) ๒๓ ต.ค.-๒๙ ต.ค.๒๕๓๕ หน้า ๑๘ ถึงหน้า ๒๐ บทความโดยปิยนาท วรศิริ ได้นำเรื่องราวที่ได้พูดคุยกับโจทก์ที่ ๑ ไปลงข่าวพิเศษฉบับต้นเดือนตุลาคม ๒๕๓๕ โดยมิได้เป็นการให้สัมภาษณ์และโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ประสงค์ให้นำเรื่องที่พูดคุยกันนั้นไปลงเป็นข่าว แต่นักข่าวก็ได้นำไปลงข่าวในหัวข้อว่า “รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เปิดใจ ใครก่อปัญหาตุลาการ” โดยบทความตีพิมพ์ เสนอว่า โจทก์ที่ ๑ ออกความเห็นวิจารณ์เกี่ยวกับวงการตุลาการความประพฤติ และคุณสมบัติของนายประมาณ ชันซื่อ รวมทั้งการทวนพระราชกระแสในการแต่งตั้ง ประธานศาลฎีกา ซึ่งบทความที่ตีพิมพ์คำวิจารณ์ของโจทก์ที่ ๑ ที่นักข่าวนำไปลงนั้น ไปกระทบต่อ นายประมาณ ชันซื่อ อย่างร้ายแรง ทำให้นายประมาณ ชันซื่อ และพวกไม่พอใจโจทก์ที่ ๑ เป็นอย่างมาก หนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ขายทั่วราชอาณาจักร ทำให้เรื่องที่โจทก์ที่ ๑ ที่กล่าวถึงวงการตุลาการและนายประมาณเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ปรากฏตามภาพหนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๐๒ (๙๓) ๒๓ ต.ค.-๒๙ ต.ค. ๒๕๓๕ หน้าที่ ๑๘ - ๒๐ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑)
จากบทความที่ตีพิมพ์ของหนังสือข่าวพิเศษดังกล่าว เป็นเหตุให้นายประมาณ ชันซื่อ มีความโกรธแค้นโจทก์ที่ ๑ นายประมาณ ชันซื่อ ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจและความโกรธที่มีต่อโจทก์ที่ ๑ โดยให้การต่อพนักงานสอบสวนในในเวลาต่อมา โดยนำไปอ้างเป็นสาเหตุการจ้างฆ่านายประมาณว่า “ ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ข่าวพิเศษรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๘๐๒ ลงวันที่๒๓-๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๕ มีข้อความโจมตีข้าฯอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงทั้งสิ้นในฐานะที่ข้าฯเป็นตุลาการ การจะฟ้องร้องนายรังสรรค์ (โจทก์ที่ ๑) กับเรื่องนี้อาจจะทำให้คนเข้าใจว่า ข้าฯไปรังแกนายรังสรรค์ (โจทก์ที่ ๑) ข้าฯจึงไม่ดำเนินการใดๆทั้งๆที่ข้าฯได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก (ปรากฏตามภาพถ่ายคำให้การของนายประมาณ ชันซื่อ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๒)
การที่นายประมาณ ชันซื่อ โกรธเคืองโจทก์ที่ ๑ แต่ไม่กล้าฟ้องโจทก์ที่ ๑ จึงเป็นจุดให้สร้างเรื่อง สร้างข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ โดยร่วมมือกับผู้ใต้บังคับบัญชา และข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ และราษฎรที่บังคับได้ ทำการใส่ร้ายโจทก์ทั้งสอง และสร้างเรื่องว่าโจทก์ทั้งสองจะลอบฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา
ในการสืบสวนสอบสวนการจ้างฆ่านั้น ข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ ได้นำราษฎรผู้มีชื่อที่อยู่ภายใต้การบังคับของข้าราชการตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ เข้าร่วมขบวนการ โดยกำหนดให้เป็นผู้หามือปืน คือ นายประทุม สุดมณี และนายบำรุง ชัยเมือง หลานชายนายประทุม สุดมณี โดยนายประทุม สุดมณี ถูกตำรวจในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ ต้องสงสัยว่า จะเกี่ยวข้อง หรือเป็นคนร้ายฆ่านายวิโรจน์ เหลืองสวรรค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ต.ลาดยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ และมีคดีติดตัวหลายคดีที่นายประทุม สุดมณี เป็นผู้สงสัยเป็นผู้ฆ่าผู้อื่น คือ ประมาณ ปี ๒๕๒๙ คดีฆ่าคนในตระกูลพฤกษาสวยตาย ๓ ศพ บาดเจ็บ ๒ คน เหตุเกิดทีอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ปี ๒๕๓๕ คดีฆ่า ส.จ.ช้วน บุญเกิด ที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และยังมีคดีอีกหลายคดีที่จังหวัดอื่นเป็นจำนวนมาก แต่นายประทุม สุดมณี ไม่ถูกดำเนินคดีเลย แต่ได้มาร่วมสร้างเรื่องกล่าวหาโจทก์ทั้งสอง และไม่ต้องถูกดำเนินคดีฆ่านายวิโรจน์ เหลืองสวรรค์ อีกด้วย เอกสารและพยานหลักฐานจะขอกราบเรียนในชั้นพิจารณา
เมื่อได้ นายประทุม สุดมณี และนายบำรุง ชัยเมือง ผู้มีชื่อมารับสมอ้างเป็นผู้หามือปืน จากนั้นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมาย กระทำการโดยผิดกฎหมาย โดยกำหนดให้มีการนำเอานายประทุม สุดมณี ราษฎรที่กำหนดไว้มาให้ถ้อยคำต่อตำรวจกองปราบปรามซึ่งมีหน้าที่สืบสวนสอบสวน จับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามทราบว่า มีคนมาว่าจ้างราษฎรผู้มีชื่อคนนี้ไปทำการฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีอยู่จริงแม้แต่น้อย แต่เป็นการกำหนดให้มีการเอาเรื่องเท็จดังกล่าวมาแจ้งต่อกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้กองบังคับการกองปราบปรามมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน โดยมิได้มีการดำเนินการตามกระบวนการการดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด ไม่มีการ้องทุกข์กล่าวโทษ หรือร้องขอให้ช่วยเหลือของนายประทุม สุดมณี
ข้าราชการตำรวจในสังกัดของกองบังคับการกองปราบปรามซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องกระทำการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ได้ร่วมกันทำสำนวนการสอบสวนโดยผิดกฎหมาย ไม่ทำการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย เป็นการสืบสวนโดยผิดกฎหมาย โดยไม่มีการสืบสวนเพื่อพิสูจน์ว่ามีความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่เสียก่อน เพราะไม่ได้ทำการสืบสวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่นายประทุม สุดมณี นำมาเล่าเรื่องแต่อย่างใด ไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนสถานที่มีการติดต่อจ้างฆ่า สาเหตุจ้างฆ่า สถานที่จ่ายเงินจ้างฆ่า ไม่ได้ทำแผนที่เกิดเหตุไว้ ไม่ได้มีการยึดของกลางที่อ้างว่าเป็นเงินค่าจ้างฆ่าไว้แต่อย่างใด มีแต่ทำบันทึกคำให้การเป็นเรื่องเล่าไว้ในสำนวนการสอบสวน การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย แต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการสร้างเรื่องเพื่อให้เห็นว่าเรื่องที่นายประทุมและตำรวจกองปราบปรามได้ร่วมกันทำบันทึกไว้นั้นเป็นเรื่องจริง นอกจากจะไม่ทำการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายแล้ว ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามกลับเอาเรื่องที่จะมีคนมาฆ่านายประมาณ ชันซื่อไปเล่าให้นายประมาณ ชันซื่อ ฟัง นายประมาณฟังแล้วก็เชื่อทันทีว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และได้ระบุว่า ผู้ที่เป็นตัวบงการจะต้องเป็นนายรังสรรค์ นางยินดี ต่อสุวรรณ โจทก์ทั้งสอง
การระบุตัวผู้บงการของ นายประมาณ ชันซื่อ ดังกล่าวเป็น การกำหนดตัวผู้กระทำความผิดโดยให้โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้บงการฆ่านายประมาณ ชันซื่อ โดยตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามไม่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อเป็นการพิสูจน์คำพูดของนายประมาณแต่อย่างใดเลย แต่ตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม กลับทำการสอบสวนและสร้างพยานหลักฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเหตุในการจับกุม ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ทั้งสองต่อไป
จากการที่ นายประมาณ ชันซื่อ ระบุชื่อโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ว่าเป็นผู้บงการฆ่านายประมาณ ชันซื่อนั้น เป็นการเริ่มต้นของตำรวจกองปราบปรามที่จะสืบสวนสอบสวน และจับกุมโจทก์ทั้งสอง โดยเริ่มเหตุการณ์ว่าในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามและตำรวจอื่นได้ร่วมกันจับกุมนายเณร มหาวิลัย และนายสมพรหรือหมา เดชานุภาพ ได้ที่บริเวณหน้าบ้านนายประมาณ ชันซื่อ ซอยหมู่บ้านศรีนคร แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดยได้แจ้งข้อกล่าวหานายสมพร เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัยว่าร่วมกันใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมให้ฆ่าผู้อื่น (นายประมาณ ชันซื่อ) โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และได้นำตัวไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการกองปราบ ซึ่งการจับกุม นายสมพร เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัยนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รายละเอียดเนื่องจากเป็นเอกสารจำนวนมาก ขอกราบเรียนในชั้นพิจารณา
ในระหว่างที่ นายสมพร เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัยถูกควบคุมตัว ต่อมาตำรวจกองปราบปรามก็ได้เสนอผลประโยชน์ให้แก่ นายสมพร (หมา) เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย เพื่อให้ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปราม เพื่อชัดทอดไปยังนายบรรเจิด จันทะเปลิน และในวันเดียวกันนั้นเอง ตำรวจกองปราบปรามก็ได้ทำการจับกุมนายบรรเจิด จันทะเปลิน ที่จังหวัดนครสวรรค์
นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ได้ร่วมมือกับตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม ให้การซัดทอดโจทก์ทั้งสอง ว่าเป็นผู้บงการฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ แต่ นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ด้วยเดิมมีสาเหตุโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวด้านชู้สาวกัน นายอภิชิต อังศุธรางกูร ซึ่งเคยเป็นเพื่อสนิทกันมาก่อน ก็ได้อาศัยเหตุนี้กลั่นแกล้ง นายอภิชิต อังศุธรางกูร โดยใส่ร้ายนายอภิชิต อังศุธรางกูร ว่าเป็นบุคคลที่รับจ้างมาจากโจทก์ที่ ๑ ให้มาหามือปืนเพื่อฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ แล้วนายอภิชิต อังศุธรางกูร ก็ได้มาใช้จ้างวาน นายบรรเจิด จันทนะเปลิน อีกทอดหนึ่ง เพื่อนายบรรเจิด จันทนะเปลิน หวังในทรัพย์สินเงินทองของนายอภิชิต อังศุธรางกูร
เมื่อ นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ให้การซัดทอดนายอภิชิต อังศุธรางกูร แล้ว ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ตำรวจกองปราบปรามก็ได้ทำการจับกุม นายอภิชิต อังศุธรางกูร ที่บ้านพักที่กรุงเทพ และแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับ นายสมพร เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย และในขณะที่ถูกควบคุมที่กองบังคับการปราบปราม ตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม ก็ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ นายอภิชิต อังศุธรางกูร ให้การซัดทอดโจทก์ทั้งสองว่าเป็นผู้ใช้จ้างวาน นายอภิชิต อังศุธรางกูร ให้หามือปืนเพื่อฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ แต่ นายอภิชิต อังศุธรางกูร ให้การปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามแต่อย่างใด ซึ่งการสอบสวนของตำรวจกองปราบปรามเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย รายละเอียดและพยานหลักฐานขอเสนอในชั้นพิจารณา
เมื่อ นายอภิชิต อังศุธรางกูร ไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามจึงต้องใช้วิธีการสอบสวนโดยผิดกฎหมายให้นายบรรเจิด จันทนะเปลิน และผู้ต้องหาอื่นเป็นผู้ให้การซัดทอดว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวา นนายอภิชิต อังศุธรางกูร และ นายอภิชิต อังศุธรางกูรมาว่าจ้างตนอีกทอดหนึ่งโดยสร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จว่า ได้พบเห็นโจทก์ที่ ๑ สนิทสนมกับนายอภิชิต อังศุธรางกูร และการจ้างให้หามือปืนในครั้งนี้ นายอภิชิต อังศุธรางกูร เป็นผู้บอกนายบรรเจิด จันทะเปลินว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ใช้จ้างวาน (หลักฐานและเอกสารจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)
เมื่อตำรวจกองปราบปรามได้ให้นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ให้การซัดทอดโจทก์ทั้งสองแล้ว ตำรวจกองปราบปรามก็ได้ออกหมายจับโจทก์ที่ ๑ และต่อมาในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๖ โจทก์ที่ ๑ ก็ได้เข้ามอบตัวกับกองบังคับการกองปราบปรามเพื่อต่อสู้คดี
ในระหว่างนั้น ได้มีตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๑ ได้เข้ามาเสนอให้โจทก์ที่ ๑ ซัดทอดบุคคลอีกหลายคนในวงการตุลาการ และวงการเมืองในขณะนั้น ว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานโจทก์ที่ ๑ เพื่อฆ่านายประมาณ ชันซื่อ โดยโจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถรู้ได้ถึงเจตนาร้ายดังกล่าวได้เลยว่า ตำรวจต้องการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นเพราะสาเหตุใด แต่โจทก์ที่ ๑ ก็มิได้ให้ความร่วมมือ และขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ในช่วงเวลานับแต่ที่มีการจับกุม นายสมพร (หมา) เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย แล้ว ตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๑ กับพวกหลายฝ่ายก็ได้ไขข่าวแพร่หลาย เพื่อชักนำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า มีการกระทำความผิดฐานใช้จ้างวานฆ่านายประมาณ ชันซื่อ จริง พร้อมทั้งมีการพยายามเสนอข่าวในลักษณะมุ่งเน้นไปยังโจทก์ทั้งสองว่าเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ก่อนหน้าที่จะมีการจับกุมโจทก์ที่ ๑ ซึ่งทำให้ครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง พี่น้อง เพื่อนฝูง ต่างหวาดกลัว หวาดระแวง สงสัยและบางคนถึงกับด่าว่าโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองและครอบครัวต้องตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก เพราะคู่กรณีเป็นถึงประธานศาลฎีกา พยานหลักฐาน และรายละเอียดเนื่องจากเป็นเอกสารจำนวนมากขอกราบเรียนในชั้นพิจารณา
ข้อ ๒.การที่ตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองกับพวกต้องรับโทษทางอาญานั้น ยังมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหลายครั้งได้แก่ การที่พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ เป็นผู้กล่าวโทษ ทั้งๆที่พล.ต.ต.ล้วนไม่เคยพบไม่เคยเห็นพฤติการณ์ต่างๆที่ความเกิดขึ้น และไม่มีผู้ใดเป็นผู้เสียหาย แม้แต่นายประมาณ ชันซื่อก็ไม่ได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพล.ต.ต.ล้วน แต่อย่างใดเลย และการกล่าวหานายอภิชิตหรือเล็ก อังศุธรางกูร ว่ากระทำความผิดเป็นผู้ใช้จ้างวานโดย พล.ต.ต.ล้วน ไม่เคยพบเห็นการกระทำผิดเช่นกัน โดยกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๕ จนถึง ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๖ คืออ้างว่าทำผิดตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๕ ที่หนังสือพิมพ์ “ข่าวพิเศษ” ลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของโจทก์ที่ ๑ อันเป็นการกล่าวโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ปรากฏตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษของ พล.ต.ต.ล้วน ผู้กล่าวโทษ กับ พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผู้รับคำกล่าวโทษ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓)
การที่ นายประมาณ ชันซื่อ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสองว่าเป็นผู้บงการจ้างฆ่านั้น เป็นการกำหนดตัวบุคคลผู้ใช้จ้างวาน และทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำที่เป็นความผิดแล้ว ทางตำรวจจึงหาแนวทางสร้างเรื่อง ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และกองบังคับการกองปราบปรามต้องสืบสวนสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ จึงมีการเสนอเรื่องเท็จดังกล่าวไปยังกรมตำรวจ เพื่อให้มีคำสั่งแต่งตั้งกองบังคับการปราบปราม พ.ต.อ.รังสรรค์ ชำนาญหมอ กับ พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค, พ.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ตำรวจภูธร เป็นคณะพนักงานสอบสวนเพื่อจะสอบสวนเอาความผิดกับโจทก์ทั้งสองให้ได้รับโทษทางอาญา โดยอธิบดีกรมตำรวจก็ได้ร่วมถึงการสร้างเรื่องเท็จดังกล่าว และได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนโดยอ้างว่า อาศัยอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๒.๕ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวไมได้บัญญัติให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานสอบสวนได้แต่อย่างใด การแต่งตั้งพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหาย (ปรากฏตามคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๖๑/๒๕๓๖ เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวน สั่ง ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔)
แต่ปรากฏว่า คำกล่าวโทษเกิดขึ้นในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยกรมตำรวจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ซึ่งก็เป็นคำสั่งแต่งตั้งที่ได้กระทำผิดกฎหมายนั้น ตำรวจกองปราบปรามได้ทำการสอบสวน นายประทุม นายบำรุง นายสมพร หรือ หมา นายเณร นายบรรเจิด พล.ต.ต.ล้วน ในฐานะพนักงานสอบสวนก่อนวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖ อันเป็นการสอบสวนที่ได้กระทำโดยผิดกฎหมาย เพราะมิใช่เป็นการรวบรวมพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษแต่อย่างใด แต่เป็นการรวบรวมเอาการกระทำที่ได้ร่วมกันวางแผนสร้างขึ้นมาทำเป็นสำนวนการสอบสวน เพื่อกล่าวหาปรักปรำใส่ร้ายโจทก์ทั้งสองว่ากระทำผิดอาญา เป็นผู้บงการใช้จ้างวานให้ฆ่านายประมาณ และได้กระทำโดยที่ไม่มีผู้เสียหายใดร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นความผิดแต่อย่างใด รายละเอียดในการทำสำนวนการสอบสวนพร้อมข้อเท็จจริง และข้ออ้างต่างๆเนื่องจากเป็นเอกสารจำนวนมา ขอกราบเรียนในชั้นพิจารณา
๒.๑ จากการทำสำนวนการสอบสวนโดยผิดกฎหมายที่ได้ทำบันทึกเรื่องที่นายประทุมนำมาเล่าให้ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามทำบันทึกไว้ และจากการที่ นายประมาณ ชันซื่อ ได้กำหนดให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้บงการใช้จ้างวานให้ฆ่าตนแล้ว ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามตำรวจภูธร และ นายประทุม สุดมณี นายบำรุง ชัยเมือง ราษฎรก็ได้ร่วมทำการวางแผนจับกุมนายสมพร หรือ หมา เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัย ที่หน้าบ้านนายประมาณ ชันซื่อ โดยสร้างเรื่องให้ นายประทุม สุดมณี นายบำรุง ชัยเมือง มากับ ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ ตำรวจกองปราบปราม โดยอ้างว่า ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ เป็นมือปืนใหม่ เพื่อหลอกให้ นายสมพร หรือ หมา เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัย จ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ มือปืนใหม่ที่นายประทุม นายบำรุง พาไปแนะนำให้รู้จัก เพื่อให้ นายสมพร เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย ว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล แล้วให้ ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ พาทุกคนมาที่หน้าที่หน้าบ้านายประมาณ ชันซื่อ แล้วทำการจับกุม นายสมพร เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิไล นั้น เป็นเรื่องที่ตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม อ้างว่า เป็นการสืบสวนเพื่อจับกุมผู้ที่กระทำผิดนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการใช้นายประทุม นายบำรุง ซึ่งเป็นราษฎรร่วมทำการสืบสวน ซึ่งกระทำไม่ได้ เพราะพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเท่านั้นที่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗ ราษฎรไม่มีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา การกำหนดเรื่องราวว่า มีการใช้นายประทุม นายบำรุง ร่วมทำการสืบสวนโดยพา ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ ไปหลอกให้นายสมพร (หมา) เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัย ว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ มือปืนปลอม แล้วพามาจับที่หน้าบ้านนายประมาณ เป็นการใช้ราษฎรร่วมสืบสวนจับกุมโดยให้ ส.ต.อ.ไพศาล สมมติว่า เป็นมือปืนไปหลอกนายสมพร เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิลัย กระทำความผิดฐานใช้ ส.ต.อ.ไพศาล ทรพย์อนันต์ ให้ฆ่านายประมาณ ชันซื่อ แล้วพามาจับที่หน้าบ้าน นายประมาณ ชันซื่อ เพื่อให้เห็นว่าจะมีการฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ นั้น จึงเป็นการสืบสวนจับกุมที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการจับ นายสมพร เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย โดยที่คนทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ แม้คนทั้งสองจะหลงเชื่อว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ ให้ไปฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ ก็ไม่เป็นความผิดอาญาในข้อหาใช้จ้างวานให้ ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ ให้ไปฆ่านายประมาณ เพราะ ส.ต.อ.ไพศาล ไม่มีเจตนาที่ไปฆ่า นายประมาณ การฆ่านายประมาณไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยเด็ดขาดแม้คนทั้งสองจะจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ให้ไปฆ่านายประมาณก็ตาม การกระทำของนายสมพรและนายเณรจึงไม่เป็นความผิดอาญา เพราะหลงเชื่อว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล และไม่เป็นความผิดฐานพยายามใช้จ้างวานให้ฆ่า เพราะความผิดฐานใช้จ้างวาน ให้ฆ่าผู้อื่น ไม่มีความผิดฐานพยายามใช้จ้างวาน การสืบสวนโดยผิดกฎหมายแล้วทำการจับกุม นายสมพร และ นายเณร ที่หน้าบ้านนายประมาณซึ่งก็เป็นการจับกุมโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
๒.๒ และในความผิดอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหายจะใช้การล่อให้กระทำความผิดไม่ได้เลย เพราะขัดกับหลักกฎหมายในเรื่อง “ความรับผิดในทางอาญา” เพราะบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยเจตนา ได้แก่ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล้งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสง๕ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้” การสืบสวนสอบสวนเพื่อจับนายเณรและนายสมพร โดยวางแผนหลอกให้ว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล มือปืนปลอมแต่เป็นตำรวจกองปราบปราม แล้วขับรถพามาจับที่หน้าบ้านนายประมาณ เพื่อให้เห็นว่านายประมาณจะเป็นผู้ถูกจ้างให้ฆ่านั้น จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายขัดต่อหลักการแสดงเจตนาในความรับผิดทางอาญา แม้นายสมพรและนายเณรจะหลงเชื่อว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ให้ไปฆ่านายประมาณ การกระทำของนายสมพร และนายเณร ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้จ้างวานให้ ส.ต.อ.ไพศาลฆ่า นายประมาณ เพราะนายสมพร และ นายเณร ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่า ส.ต.อ.ไพศาล ไม่ใช่เป็นมือปืนที่จะมารับจ้างฆ่าหรือจะไปฆ่านายประมาณ ซึ่งจะถือว่านายสมพรและนายเณรมีเจตนาใช้จ้างวานให้ฆ่านายประมาณ ไม่ได้ การจับกุมนายสมพร และ นายเณร ที่หน้าบ้าน นายประมาณ จึงเป็นการสืบสวนจับกุมโดยผิดกฎหมาย การสอบสวนผู้ต้องหาและพยานที่ได้กระทำต่อมาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น การสืบสวนจับกุม นายบรรเจิด จันทนะเปลิน การสืบสวนจับกุม นายอภิชิต อังศุธรางกูร รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนเพื่อจับกุมโจทก์ ทั้งสองเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น เพราะเป็นผลเนื่องมาจากการกระทำการสืบสวนสอบสวนจับกุมที่ผิดกฎหมายมาแต่แรกเริ่ม ตามหลักทฤษฎี “ผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ” ซึ่งจะนำมาใช้ดำเนินการใดๆเพื่อให้เป็นคดีอาญากับโจทก์ทั้งสองไม่ได้เลย
๒.๓ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ตำรวจกองปราบปรามได้ทำการสอบสวนนายประทุม พล.ต.ต.ล้วน ในฐานะพนักงานสอบสวน, นายสมพร หรือหมา, นายเณร, นายบรรเจิด และ นายบำรุง นั้น ก็เป็นกระทำที่ผิดกฎหมายที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะเป็นการสอบสวนอันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายที่ใช้นายประทุม นายบำรุงซึ่งเป็นราษฎรร่วมกันทำการสืบสวนจับกุมนายเณร และ นายสมพร หรือ หมา และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่ใช้วิธีการล่อให้กระทำความผิดในคดีอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหายซึ่งกระทำไม่ได้ โดยทฤษฎีทางกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายผู้ใช้บังคับกฎหมายจะต้องทราบเป็นอย่างดี การสอบสวนคำให้การดังกล่าวเป็นขบวนการสร้างเรื่องเพื่อให้โจทก์ทั้งสองต้องถูกดำเนินคดีอาญา
๒.๔ การร้องทุกข์ของ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ได้กระทำโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่มีผู้ใดกล่าวโทษแจ้งความต่อ พล.ต.ต.ล้วน พล.ต.ต.ล้วน ไม่ได้พบเห็นการกระทำความผิดอาญาใดเกิดขึ้น ไม่ได้พบเห็นความเสียหายเกิดขึ้นกับนายประมาณ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหาย และนายประมาณไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ และปรากฏจากคำร้องทุกข์กล่าวโทษของ พล.ต.ต.ล้วน เป็นการร้องทุกข์โดยเอาข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นโดยการวางแผนใช้ให้นายประทุม นายบำรุง ไปล่อ นายเณร นายหมา มาจับที่หน้าบ้าน นายประมาณ ชันซื่อ แล้ว ได้มีการจับนายบรรเจิดและนายอภิชิตแล้ว บันทึกการร้องทุกข์ของ พล.ต.ต.ล้วน จึงเป็นการร้องทุกข์ที่ได้กระทำโดยผิดกฎหมาย เพราะมิใช่เป็นการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย หรือของผู้พบเห็นการกระทำความผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการร้องทุกข์จากการสร้างเรื่องที่ได้มีการร่วมกันวางแผนกับนายประทุม นายบำรุง ล่อ นายเณร และ นายหมา มาจับที่หน้าบ้านนายประมาณ เพื่อดำเนินคดีอาญากับโจทก์ทั้งสองว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ฆ่านายประมาณ
๒.๕ การจับ นายเณร นายหมา ที่หน้าบ้านนายประมาณ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเนื่องจากเป็นการสร้างเรื่องขึ้น เมื่อมีการจับนายเณร นายหมา ที่หน้าบ้านนายประมาณก็ได้มีการจับนายประทุม นายบำรุง พร้อมกัน ๔ คน แต่ได้มีการปล่อยนายประทุม นายบำรุงไป เพราะพนักงานสอบสวนรู้ว่า นายประทุม นายบำรุง ไม่ได้เป็นมือปืนที่รับจ้างฆ่านายประมาณและไม่ได้ทำผิดอาญาแต่อย่างใด แต่เป็นผู้ที่พนักงานสอบสวนขอให้มาร่วมสืบสวนเพื่อจับนายเณร นายหมาให้ได้ที่หน้าบ้านนายประมาณเท่านั้น ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้รับความร่วมมือจาก นายประทุม นายบำรุง และรู้ว่านายประทุม นายบำรุง ไม่ได้รับจ้างนายเณร นายหมา ให้ไปฆ่านายประมาณ จึงต้องปล่อยตัวนายประทุมไป การปล่อยตัวนายประทุม นายบำรุงไปภายหลังที่มีการจับนายประทุม นายบำรุงแล้ว ก็แสดงว่านายประทุม นายบำรุง ไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ (เพราะบุคคลเมื่อถูกจับเป็นผู้ต้องหาแล้ว จะหลุดพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาได้ พนักงานอัยการจะต้องสั่งไม่ฟ้องเท่านั้น) การที่พนักงานสอบสวนปล่อยตัวนายประทุม นายบำรุง ก็แสดงว่าพนักงานสอบสวนรู้ว่านายประทุม นายบำรุงไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ เมื่อนายประทุม นายบำรุงไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ นายเณร นายหมาก็ไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ ที่ถูกจับในขณะที่มาที่หน้าบ้านนายประมาณด้วย การจับคนทั้งสี่ไว้พร้อมกันแล้วปล่อยนายประทุม นายบำรุงไป จึงเป็นการสร้างเรื่องขึ้น ดังนั้นการจับนายเณร นายหมา ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะนายเณร นายหมา ไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ การจับนายเณร นายหมาโดยไม่ได้กระทำผิดอาญาก็เป็นการจับที่ผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย (หลักฐานและเอกสารจะเสนอในชั้นพิจารณา)
๒.๖ การกันนายบรรเจิด ไว้เป็นพยานก็ได้กระทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องกันนายบรรเจิดไว้เป็นพยานแต่อย่างใด แต่เป็นการปล่อยนายบรรเจิดเพื่อจับโจทก์ที่ ๑ โดยพนักงานอัยการไม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายบรรเจิดและสั่งให้สอบสวนนายบรรเจิดไว้เป็นพยานก่อนแต่อย่างใด คำให้การของนายบรรเจิดที่ได้สอบสวนไว้ในสำนวนการสอบสวน โดยที่พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายบรรเจิดเสียก่อนนั้น จึงเป็นคำให้การของผู้ต้องหาและไม่มีการสอบสวนนายบรรเจิดไว้ในฐานะเป็นพยาน การปล่อยนายบรรเจิดเพื่อจับโจทก์ที่ ๑ และเอาคำให้การของนายบรรเจิดมาดำเนินการสั่งฟ้องคดีกับโจทก์ที่ ๑ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหาย (เอกสารและหลักฐานจะเสนอในชั้นพิจารณา)
๒.๗. ในการสร้างเรื่องให้เป็นคดีอาญาจะปรากฏว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำการสอบสวนเรื่องที่นายเณร นายหมา ใช้จ้างวานนายประทุม นายบำรุงให้ฆ่านายประมาณ แต่พ.ต.ท.ประพันธ์ได้ทราบเรื่องราวดังกล่าว โดยนายประทุมและนายบำรุงมาเล่าเรื่องให้ฟังเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๖ พ.ต.ท.ประพันธ์นำเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้พ.ต.ท.ทัศนัย ศิริสนธิ ซึ่งเป็นตำรวจกองปราบปรามฟังเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ต่อมาตำรวจกองปราบปรามคนอื่นรวมทั้งพล.ต.ต.ล้วนก็ทราบเรื่องดังกล่าวจากพ.ต.ท.ประพันธ์ และนายบำรุงเล่าให้ฟังเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ รุ่งขึ้นตำรวจกองปราบปรามก็นำเรื่องไปเล่าให้นายประมาณฟัง ดังนั้นการรู้เรื่องการว่าจ้างนายประทุม นายบำรุงให้ไปฆ่านายประมาณ จึงเป็นการบอกเล่าต่อๆกันมาในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๙-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ แต่ก็ปรากฏหลักฐานที่เป็นคำสั่งของพล.ต.ต.ล้วนสั่งให้ทำการสืบสวนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๖ จนถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ นั้น จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างเรื่องขึ้น เพราะคำสั่งของพล.ต.ต.ล้วนเป็นคำสั่งให้ทำการสืบสวนย้อนเวลามาจนถึงวันที่พล.ต.ต.ล้วนออกคำสั่ง คือวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และแสดงว่า เรื่องที่เกิดขึ้นย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๖ นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง พฤติการณ์จึงเป็นการสร้างเรื่องขึ้น ( เอกสารและหลักฐานจะเสนอในชั้นพิจารณา)
๒.๘ อีกทั้งตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวนตามคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวข้างต้น ทำการสืบสวนสอบสวนโดยผิดกฎหมายในการดำเนินคดีอาญากับโจทก์ทั้งสอง โดยตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม และตำรวจภูธรดังกล่าวในคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนได้ใช้ราษฎรร่วมทำการสืบสวนจับกุมนายสมพร (หมา) เดชานุภาพ นายเณร มหาวิลัยนั้น ตำรวจกองบังคับการกองปราบปรามและตำรวจภูธรกับราษฎรดังกล่าวร่วมกันดำเนินการตามแผนได้วางไว้ก่อนหน้า แล้วทำการจับกุมเอง ต่อจากนั้น พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ก็ขอแต่งตั้งพวกที่ร่วมวางแผนและจับกุมเป็นพนักงานสอบสวนเองแล้วทำการสอบสวนคดีเอง โดยมีการอ้างเอาพนักงานสอบสวนที่ได้ร่วมกันสร้างเรื่อง มาอ้างตนเข้าเป็นพยานในคดีที่ตนเองเป็นผู้สอบสวนเองอีกด้วย และมีความเห็นสั่งฟ้องคดีเอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนคดีนี้เป็นผู้วางแผนร่วมกับราษฎรจับกุมนายสมพรและนายเณรเอง แล้วดำเนินการตามแผนหลอกลวงให้ฆ่านายประมาณเพื่อจับกุมเอง เมื่อจับกุมได้แล้วก็ขอแต่งตั้งตำรวจที่ร่วมกันวางแผนหลอกจับนั้น เป็นพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนการกระทำการหลอกลวงของตนเองให้เป็นเรื่องที่ผู้ถูกหลอกลวงกระทำความผิดอาญาเสียเอง แล้วพนักงานสอบสวนก็มีความเห็นสั่งฟ้องคดีเสียเอง กระบวนการดำเนินดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยผิดกฎหมายเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะมุ่งไปถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองด้วย การดำเนินการใดๆ ของข้าราชการตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ ร่วมกับราษฎรตามที่อ้างว่าเป็นการสืบสวนสอบสวน ทั้งที่ได้กระทำก่อนหน้าและภายหลังวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ที่มีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ก็เป็นการสอบสวนที่ได้ทำขึ้นโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เมื่อตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ได้อ้างว่าทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีความเห็นเสนอไปยังจำเลยที่ ๑ เพื่อมีความเห็นทางคดี และจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งฟ้องโจทก์ที่ ๑ กับพวกในความผิดฐานเป็นผู้ใช้จ้างวาน ยุยงส่งเสริม หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แล้วนำสำนวนเสนอต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป แต่ยังไม่มีหลักฐาน โดยจะทำการสืบสวนสอบสวนหาหลักฐานต่อไป โจทก์ที่ ๒ ก็ยังเป็นผู้กระทำผิดอยู่ (ปรากฏตามสรุปสำนวนการสอบสวนของตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๕)
ข้อ ๓.การสร้างเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองทั้งทางด้านสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสอง มีการเผยแพร่เรื่องบงการจ้างฆ่านายประมาณไปทั่วราชอาณาจักร โดยหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โทรทัศน์ทุกช่องและแพร่ขยายไปที่ต่างประเทศด้วยทำให้ชื่อเสียงและการทำมาหากินในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ ๑ ต้องได้รับความเสียหายล่มจมและต้องหยุดชงัก ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไป ตามคำให้การของนายอภิชิตหรือเล็กฯ ผู้ต้องหาที่ ๔ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หมายความว่าผู้ต้องหาที่ ๔ ไม่ได้ซัดทอดว่าโจทก์ที่ ๑ ที่เป็นผู้ต้องหาที่ ๕ บงการจ้างฆ่านายประมาณแต่อย่างใด ไม่มีประจักษ์พยานยืนยัน มีแต่นายประมาณที่ระบุชื่อโจทก์ที่ ๑ ว่าเป็นผู้บงการ แต่นายประมาณก็ไม่พบเห็นการบงการของโจทก์ที่ ๑ นั้นเลย มีแต่ความเชื่อว่า ความเข้าใจว่าโจทก์ที่ ๑ โกรธแค้นนายประมาณ เสียผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนายประมาณ ส่วนนายบรรเจิดก็เช่นเดียวกัน มีแต่ความเชื่อความเข้าใจของนายประมาณว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จ้างฆ่านายประมาณ แต่ไม่ได้เห็นการจ้างฆ่าด้วยตนเอง พนักงานสอบสวนก็ยังสั่งฟ้องโจทก์ที่ ๑ แม้จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยัน ส่วนคดีของโจทก์ที่ ๒ นั้น แม้จะไม่ถูกจับ แต่โจทก์ที่ ๒ ก็ยังมีชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิดติดสำนวนการสอบสวนอยู่ จะถูกจับเมื่อใดก็ยังไม่ทราบ เนื่องมาจากนายประมาณเชื่อว่าโจทก์ที่ ๒ ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แต่ในชั้นสอบสวนยังขาดพยานและหลักฐานที่จะเสนอขอรับความเห็นชอบออกหมายจับและจับกุม ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป แสดงว่าโจทก์ที่ ๒ ยังคาหรือยังค้างอยู่ในสำนวนการสอบสวนอยู่ จะถูกจับกุมเมื่อใดก็ยังไม่ทราบจากการสร้างเรื่องดังกล่าวนั้น ทำให้หน้าที่การงานของโจทก์ที่ ๒ ในการเป็นข้าราชการตุลาการมีปัญหาหยุดชงัก ตำแหน่งหน้าที่การงานตุลาการที่กำลังเจริญรุ่งเรืองต้องหยุดชงัก ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน ไม่มีใครกล้าคบค้าสมาคมด้วย ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีพอย่างแสนสาหัส ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดดังกล่าวนั้น
๓.๑ ในระหว่างการดำเนินคดีโจทก์ที่ ๑ ได้รับการประกันตัวในระหว่าการพิจารณาคดี เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ก็ได้สร้างเรื่องเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ที่ ๑ ให้ต้องคุมขัง โดยร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของ นายประมาณ ชันซื่อ กล่าวหาว่าโจทก์ที่ ๑ ข่มขู่พยานทั้งที่ไม่เป็นความจริง และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโจทก์ที่ ๑ และมีคำสั่งขังโจทก์ที่ ๑ ในระหว่างการพิจารณาเป็นเวลานานเกือบ ๖ เดือน เพราะการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในทางชีวิต ร่างกาย อิสรภาพ และเสียหายทางธุรกิจอย่างมหาศาล และโจทก์ที่ ๒ ได้รับความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจอย่างแสนสาหัส ต้องรับภาระและปัญหาทุกอย่างโดยลำพัง ( เอกสารและหลักฐานจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)
ข้อ ๔.เมื่อพนักงานอัยการ หรืออัยการในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบในคดี ได้รับสรุปสำนวนสั่งฟ้องโจทก์ที่ ๑ กับพวก จากพนักงานสอบสวนในข้อหาร่วมกันใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔, ๒๘๘ และ ๒๘๙(๔) แล้ว พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบก็ได้ทำผิดต่อกฎหมาย เพราะพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาการทางกฎหมาย เมื่อเห็นสำนวนการสอบสวนโดยบริบูรณ์แล้วย่อมทราบเป็นอย่างดีว่า พนักงานอัยการจะต้องพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งสำนวนด้วยความรอบคอบเยี่ยงผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในกฎหมายและรู้ชั้นเชิงทางกฎหมาย จะต้องทราบได้ด้วยความรู้เชี่ยวชาญของตนเองในฐานะของความเป็นพนักงานอัยการว่า กระบวนการสอบสวนดังกล่าวในหลักวิชาชีพทางกฎหมายนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องสืบสวนอย่างไร มีเหตุผลและหลักกฎหมายที่จะต้องลำดับขั้นตอนกันอย่างไร ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้แล้ว มิใช่ตัดตอนพิจารณาเฉพาะส่วน เพื่อหวังผลตามอำเภอใจ หรือเพื่อให้เป็นไปตามกระแสของสังคม เพราะพนักงานอัยการจะต้องตระหนักถึงการกรระทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการทางอาญาว่าเป็นกระบวนการที่ได้ดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วหรือไม่ พนักงานอัยการไม่ได้มีหน้าที่ส่งทอดผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในศาลเท่านั้น แต่จะต้องตรวจสอบและคานอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ถ้าพนักงานอัยการได้ทำหน้าที่ในฐานะพนักงานอัยการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว คดีที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนสั่งฟ้องโจทก์ที่ ๑ กับพวกมานั้น ไม่ใช่เป็นการสอบสวนในการกระทำความผิดอาญา แต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่สร้างขึ้น ไม่มีมูลคดีอาญาเกิดขึ้น ไม่มีการกระทำความผิดใดๆ แต่เกิดจากความโกรธแค้นโจทก์ที่๑ ของนายประมาณฯในเรื่องที่โจทก์ที่ ๑ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ทำให้นายประมาณ ได้รับความเสียหายมาก ซึ่งก็มีพยานหลักฐานปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน พนักงานอัยการที่รับสรุปสำนวนสั่งฟ้องจากพนักงานสอบสวนนั้น ก็จะเห็นหนังสือพิมพ์ดังกล่าวและพิจารณาแล้ว พนักงานอัยการก็ได้ร่วมกันทำผิดกฎหมาย โดยได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสำนวนการสอบสวนนั้น เกิดจากการกระทำของพนักงานสอบสวนที่ได้ร่วมกันวางแผนกับ นายประทุม สุดมณี นายบำรุง ชัยเมือง ซึ่งเป็นราษฎรทำให้เกิดข้อเท็จจริงให้มีการหลอกนายสมพร (หมา ) เดชานุภาพ นายเณร มหาวิลัย ถูกจับกันที่หน้าบ้าน นายประมาณ ชันซื่อ อันมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาใดๆของนายสมพร (หมา) เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย แต่อย่างใด และ นายประมาณ ก็ไม่ใช่เป็นผู้เสียหายจากการจัดให้มีการจับที่หน้าบ้านนายประมาณ ชันซื่อ และการใช้วิธีการล่อจับนายสมพร (หมา) และนายเณร มหาวิลัย อันเป็นการกระทำการจับที่ผิดกฎหมายและการจับดังกล่าวก็เกิดจากการที่นายประทุม สุดมณี ผู้มีชื่อมาเล่าเรื่องให้พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค ฟังว่า มีคนมาว่าจ้างให้ตนไปฆ่านายประมาณ ชันซื่อ โดยพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนก่อนเลยว่า การบอกเล่าของ นายประทุม สุดมณี นั้นเป็นความจริงหรือมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องทราบได้ด้วยความรู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพทางกฎหมายได้ว่าการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นคดีอาญาแต่อย่างใดเลย
อีกทั้งพนักงานอัยการสังกัดจำเลยที่ ๒ หากได้พิจารณาความโกรธแค้นของ นายประมาณ ชันซื่อ ที่มีกับโจทก์ที่ ๑ แล้ว ก็จะต้องทราบได้ว่า คดีดังกล่าวเกิดจากความโกรธแค้นของนายประมาณ ชันซื่อ ที่ไม่กล้าฟ้องโจทก์ที่ ๑ ด้วยตนเอง จึงร่วมมือกับตำรวจสร้างเรื่องขึ้นให้ตำรวจสั่งฟ้องและพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนนายประมาณ ชันซื่อ จะได้ไม่มีใครมากล่าวหาว่านายประมาณ รังแกนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ (โจทก์ที่ ๑) แต่กลับไปพิจารณาเรื่องคดีต่างๆและเรื่องอื่นๆ ที่ นายประมาณ ชันซื่อ นำมาอ้างว่า ที่นายประมาณ ชันซื่อ เชื่อว่า หรือคิดว่า หรือเข้าใจว่า การที่โจทก์ที่ ๑ ว่าจ้างคนให้ฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ นั้น มีสาเหตุมาจากการเสียประโยชน์ของโจทก์ที่ ๑ โดย นายประมาณ ชันซื่อ ก็ไม่ได้ยืนยันการเสียผลประโยชน์และไม่มีประจักษ์พยานที่ได้พบเห็นการกระทำผิดใดๆ ของโจทก์ที่ ๑ เลยในสำนวนคดีความในศาล และเรื่องอื่นต่างๆที่นายประมาณ ชันซื่อ นำมาอ้างเป็นมูลเหตุการจ้างฆ่าต่อพนักงานสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ทำการสอบสวนมูลเหตุการจ้างฆ่าดังกล่าวว่า จะเป็นเหตุชักจูงใจหรือไม่ อีกทั้งไม่มีหลักฐานปรากฏชื่อของนายประมาณ ชันซื่อ ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆในคดีความที่จะทำให้โจทก์ที่ ๑ จะทราบและจะโกรธแค้นนายประมาณ ชันซื่อ และหากไม่ฆ่านายประมาณ ชันซื่อแล้ว โจทก์ที่ ๑ จะเสียผลประโยชน์เพราะนายประมาณ ชันซื่อได้แต่อย่างใด
๔.๑ พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีโดยผิดกฎหมาย เพราะนำเอาคำให้การของนายบรรเจิด จันทนะเปลิน ซึ่งให้การไว้ในฐานะเป็นผู้ต้องหามาสั่งฟ้องคดี เพราะขณะที่สั่งฟ้องคดีนั้น พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายบรรเจิด แล้วสั่งให้สอบสวนนายบรรเจิดไว้เป็นพยานเสียก่อน พนักงานสอบสวนปล่อยนายบรรเจิดเพื่อจับโจทก์ที่ ๑ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พนักงานสอบสวนดำเนินการกันนายบรรเจิดไว้เป็นพยานแต่อย่างใด การนำเอาคำให้การของนายบรรเจิดมาสั่งฟ้องคดี จึงเป็นการนำเอาคำให้การของผู้ต้องหาด้วยกันเองมาฟ้องโจทก์ที่ ๑ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการจึงเป็นการสั่งฟ้องคดีโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
๔.๒ ก่อนที่พนักงานอัยการ สังกัดจำเลยที่ ๒ จะมีคำสั่งฟ้องคดีโจทก์ที่ ๑ กับพวก โจทก์ที่ ๑ ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพนักงานอัยการ สังกัดจำเลยที่ ๒ เพื่อขอให้ความเป็นธรรมโดยร้องขอให้อัยการมีคำสั่งให้สอบพยานเพิ่มเติม แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไปแล้ว แต่พนักงานสอบสวนยังสอบพยานไม่เสร็จ พนักงานอัยการก็ได้ทำผิดต่อกฎหมายโดยมีคำสั่งฟ้องคดี โดยที่การสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการยังไม่เสร็จ เป็นการสั่งฟ้องคดีแบบเร่งรีบผิดหลักการของการเป็นพนักงานอัยการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน และผิดหลักการของการทำหน้าที่กึ่งอำนาจตุลาการของพนักงานอัยการ การทำหน้าที่ของพนักงานอัยการในคดีนี้ จึงเสมือนเป็นเพียงเครื่องมือของพนักงานสอบสวน โดยเป็นบันไดเลื่อนส่งผู้ต้องหาเข้าสู่ขบวนการทางศาลเท่านั้น (เอกสารและหลักฐานจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา) พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องโจทก์ที่ ๑ และพวกเป็นจำเลยที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเป็นโจทก์ฟ้องนายสมพรหรือนายหมา เดชานุภาพ ที่ ๑ นายเณร มหาวิลัย ที่ ๒ นายอภิชิต หรือเล็ก อังศุธรางกูร ที่ ๓ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ (โจทก์ที่ ๑) ที่ ๔ เป็นจำเลย โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖
โดยฟ้องของอัยการสังกัดจำเลยที่ ๒ บรรยายฟ้อง ว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า “เมื่อระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ติดต่อกันเวลาใดไม่ปรากฏ จำเลยทั้งสี่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ด้วยการใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยจำเลยที่ ๔ เป็นผู้บงการ วางแผน ใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจำเลยที่ ๓ ให้จัดหาบุคคลไปฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ ให้ถึงแก่ความตาย หลังจำเลยที่ ๓ ตกลงรับการบงการใช้ จ้างวาน จากจำเลยที่ ๔ แล้ว จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใช้ จ้าง วาน นายบรรเจิด จันทนะเปลิน ให้ไปจัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ โดยให้ค่าจ้างบุคคลที่ฆ่านายประมาณเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และให้ค่าจ้างแก่นายบรรเจิดเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ มอบเงินค่าจ้างบางส่วนให้แก่นายบรรเจิดไป ๒ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปให้บุคคลที่รับจ้างฆ่านายประมาณ นายบรรเจิดตกลงตามที่จำเลยที่ ๓ จ้างวาน จึงติดต่อจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้จัดหาบุคคลไปฆ่านายประมาณ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยเป็นผู้จ้าง วาน ให้ ยุยงส่งเสริมให้นายประทุม สุดมณี และนายบำรุง ชัยเมือง กับพวกไปฆ่านายประมาณจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ตกลงให้ค่าจ้างแก่บุคคลทั้งสองกับพวกเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ มอบเงินค่าจ้างบางส่วนเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ให้นายประทุมและนายบำรุงกับพวกรับไปแล้ว นายประทุมและนายบำรุงกับพวกตกลงจะฆ่านายประมาณตามที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ จ้าง แต่นายประทุมและนายบำรุงกับพวกยังไม่ได้กระทำความผิด โดยกลับใจไม่กระทำภายหลัง นายประมาณจึงไม่ถูกฆ่าตาย เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำโพ ตำบลบึงเสนาท อำเภอเมืองนครสวรรค์ ตำบลสร้อยละคร อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และแขวงลาดยาว เขตจตุจักร แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓, ๘๕ (ปรากฏตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๙๐/๒๕๓๖ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖)
ฟ้องของจำเลยที่ ๒ ก็ขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฟ้องว่า มีการจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล ทรัพย์อนันต์ให้ฆ่านายประมาณ ตามแผนที่หลอกนายสมพร หรือ หมา เดชานุภาพ นายเณร ให้ว่าจ้าง ส.ต.อ.ไพศาล แล้วหลอกพามาจับที่หน้าบ้านนายประมาณแต่อย่างใด แต่ฟ้องว่ามีการจ้างนายประทุม สุดมณี นายบำรุง ชัยเมือง และพวกให้ฆ่านายประมาณ ชันซื่อ ซึ่งก็ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน เพราะในสำนวนการสอบสวนนายประทุม นายบำรุง เป็นเพียงคนหามือปืน ไม่ใช่เป็นมือปืนที่รับจ้างจากนายสมพรและนายเณรแต่อย่างใด อันเป็นการฟ้องเพื่อให้ครบองค์ประกอบของความผิด ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวน (หลักฐานและเอกสารจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)
ข้อ ๕. ในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ โจทก์ที่ ๑ และนายสมพร (หมา) เดชานุภาพ และ นายเณร มหาวิลัย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายประเด็น และในประเด็นข้อ บังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๒.๕ ที่อธิบดีกรมตำรวจอ้างเพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนตามคำสั่งกรมตำรวจที่ ๘๖๑/๒๕๓๕ เป็นข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ หรือไม่ (ปรากฏตามคำร้องให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑, ๒ และ ๔ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗)
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓ ในประเด็นเกี่ยวกับข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๒.๕ ว่าข้อบังคับดังกล่าวไม่ใช่เป็นกฎหมาย เพราะข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งดังกล่าวมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ (ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ท้ายคำฟ้องหมายเลข ๘)
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว คำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนของกรมตำรวจที่ ๘๖๑/๒๕๓๖ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่เป็นกฎหมาย คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจึงผูกพันอง๕กรของรัฐทุกองค์กรว่า ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่เป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ การแต่งตั้งพนักงานสอบสวนของกรมตำรวจจึงเป็นการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนโดยผิดกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ ได้พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดแก่โจทก์ที่ ๑ ทั้งในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทำการไต่สวนและให้มีคำพิพากษายกฟ้อง ร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมตำรวจ และอัยการสูงสุด ตลอดจนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการให้พนักงานอัยการถอนฟ้องให้กับโจทก์ที่ ๑ แต่ปรากฏว่า ทุกหน่วยงานที่โจทก์ที่ ๑ ได้ร้องขอไปไม่ได้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเวลาเนิ่นนานมาถึง ๑๐ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในปี ๒๕๕๓ ระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการถอนฟ้องเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายในทางธุรกิจของโจทก์มาอย่างต่อเนื่อง (หลักฐานและเอกสารจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา)
เมื่อเสร็จการพิจารณาคดีศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา (๒๘๙ (๔) ประกอบกับมาตรา ๘๓, ๘๕ ความผิดมาตรา ๒๘๙ (๔) มีระวางโทษประหารชีวิต เมื่อความผิดมิได้กระทำลงเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง เท่ากับลดมาตราส่วนโทษลงสองในสาม โดยให้ลดโทษประหารชีวิตหนึ่งในสามเป็นจำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา ๕๒(๑) และให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นโทษสองในสามของโทษประหารชีวิตเป็นจำคุก ๕๐ ปี ตามมาตรา ๕๓ ซึ่งต้องลงโทษจำเลยทั้งสี่หนึ่งในสามของโทษประหารชีวิต คือ กึ่งหนึ่งของโทษจำคุก ๕๐ ปี เป็นจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ ๒๕ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาทา ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑๖ ปี ๘ เดือน เป็นเลขคดีดำของศาลอาญากรุงเทพใต้หมายเลขดำที่ ๙๙๐/๒๕๓๖ หมายเลขแดงที่ ๓๐๖๙/๒๕๕๑ โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๔ ในคดีดังกล่าวได้ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก ๒๕ ปี เสียชื่อเสียงและเสียหายมาก ( ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ ๓๐๖๙/๒๕๕๑ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๙) จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
(มีต่อ)