xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลตอกกลับ “เหลิม-โรมานอฟ” เหิมรื้อคดีที่ดินรัชดาฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม แจงรื้อคดีทักษิณเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดินรัชดาฯขณะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นคดีอาญา เคยปรากฏว่า มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ หลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ย้ำ การพิจารณาของทั้ง คตส. อัยการ และผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี ไม่ปรากฏว่า มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่ได้เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง จนประมาทเลินเล่อ ด้านโฆษกอัยการ เชื่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คงไม่รื้อคดีขึ้นมาใหม่

วันนี้ (8 ก.ย.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อฟื้นการพิจารณาคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดจำคุก 2 ปีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ ว่า กฎหมายมีบทบัญญัติให้สามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขื้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 โดยการรื้อฟื้นคดีอาญานั้นก็เคยมีให้เห็น เช่น กรณีการจับผู้ต้องหา หรือจำเลยผิดตัว เหมือนคดีฆ่า น.ส.เชอรี่ แอน ดันแคน หรือเรื่องพยานหลักฐานเท็จ ขณะที่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาก็เป็นคดีอาญาเช่นกัน ซึ่งหากฝ่ายผู้แพ้คดีจะยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่ ก็ทำได้ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย ต้องการพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ บัญญัติ

“จะบอกว่า คดีนี้รื้อฟื้นได้หรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นศาลและต้องพิจารณาเรื่องที่อาจจะเข้ามา จึงคงตอบไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการชี้นำในเรื่องที่กำลังเป็นคดี ดังนั้นถ้าจะมีการรื้อฟื้นคดีก็ต้องพิจารณาตามหลักที่มีกฎหมายบัญญัติ ” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีการยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่จริง จะทำให้ผู้ที่ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวในครั้งแรก ทั้ง คตส.อัยการ และผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี มีความผิดหรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด หากไม่ปรากฏว่าไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่ได้เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง จนประมาทเลินเล่อ แล้วกฎหมายย่อมคุ้มครองการฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่นั้นถ้าศาลพิพากษายกฟ้องคดีใดแล้ว พนักงานสอบสวนและอัยการจะต้องถูกฝ่ายผู้แพ้ฟ้องทุกคดี

ด้าน นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม และ พ.อ.อภิวันท์ ยกเรื่องที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเห็นว่าที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งให้กองทุนคืนเงิน โดยเท่ากับว่า การซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น ความผิดจึงไม่เกิดขึ้นในคดีอาญา พ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน ว่า ตนไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษาของศาลแพ่งในส่วนนั้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คงไม่รื้อคดีขึ้นมาใหม่ ซึ่งการจะรื้อคดีขึ้นอยู่ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ ได้บัญญัติหลักในยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาไว้ มาตรา 5 ระบุว่า คดีใดที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อมีเกณฑ์เข้าข่ายตาม (1) พยานบุคคลที่ศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษานั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องกับความจริง (2) พยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานบุคคลตาม (1) ที่ศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษานั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังว่า เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ถ้านำมาสืบในคดีที่ถึงที่สุดแล้วจะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

ขณะที่ มาตรา 6 ระบุผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องไว้ว่าเป็น (1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ (3) ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด (4) บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง (5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

โดยการยื่นคำร้องนั้น มีการกำหนดระยะเวลาไว้ในมาตรา 20 ว่า ให้ยื่นได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามมาตรา 5 หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้นไว้พิจารณาก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น