กรณีพนักงานอัยการคดีพิเศษ ยื่นขอให้สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกันตัวของแกนนำ นปช. ทั้ง 9 คน ประกอบ ด้วย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 62 ปี อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 44 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 35 ปี นายแพทย์เหวง โตจิราการ อายุ 59 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 45 ปี นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 58 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 52 ปี นายนิสิต สินธุไพร อายุ 54 ปี และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 58 ปี จำเลยที่ 1-8 และ 10 ในคดีก่อการร้าย ซึ่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.ได้กล่าวการปราศรัยพาดพิงสถาบัน เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ซึ่งตรงกับครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ชุมนุมของนปช.และมีผู้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553
โดยวันนั้นอัยการโจทก์ได้เตรียมพยานไว้เบิกความทั้งสิ้น 5 ปาก นำโดย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ฝ่ายสืบสวนดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ถอดเทปคำปราศัย
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เดิมที เมื่อวันที่ 29 เม.ย.54 นายโกวิท ศรีไพโรจน์ พนักงานอัยการฝ่ายคดี 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอถอนประกัน แกนนำ นปช. จำเลยคดีก่อการร้าย ทั้ง 9 คน ตามที่ดีเอสไอ รวบรวมหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการ ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ก็ได้ยื่นศาลอีกครั้ง เพื่อขอเพิ่มเติมคำร้อง มาเป็นขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข การประกันตัว แกนนำ นปช.ทั้ง 9 ราย ให้เหมือนกันทุกคน ส่วนจะมีการถอนประกันหรือไม่ อัยการไม่ได้ระบุไว้ในคำร้อง โดยขอให้เป็นดุลยพินิจของท่านผู้พิพากษา
ก่อนเริ่มไต่สวนคำร้อง อัยการก็ได้แถลงต่อศาล ว่าเมื่อวันที่ 29 เม.ย.อัยการยื่นได้คำร้องต่อศาล ต่อมาวันที่ 2 พ.ค.จึงได้ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมในคำร้อง เพื่อขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจำเลยใหม่ ให้เหมือนกันทั้ง 9 คน เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาของอัยการ ว่าแกนนำ นปช.ได้ไปก่อเหตุหรือชุมนุมที่มีการผิดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาศาล ได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวแกนนำนปช. แต่ละคนไว้ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามเห็นว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับ แกนนำ นปช. ถือเป็นคดีใหญ่ เป็นคดีสำคัญ เข้าใจว่าในการทำงานก็ต้องมีแรงเสียดทานและแรงกดดัน อยู่พอสมควร แต่ด้วยภาระหน้าที่อัยการก็ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นหลักประกันในความยุติธรรม
ต่อมาศาลเริ่มไต่สวนพยานปากแรก คือ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.นั้น รองผบช.ท่านนี้ ก็ได้หอบแฟ้มเอกสาร พร้อมเบิกความยืนยันอย่างหนักแน่น ว่าตรวจสอบหลักฐานการปราศรัย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. มีการพูดจาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง โดยหากฟังครั้งแรก จะเหมือนปราศรัย เตือนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กับ นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะเข้าใจว่า นายจตุพร พูดจาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง เช่น ประเด็น ของ เสธ.เปา ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.และเป็นนายทหารรักษาพระองค์
การเบิกความยืนยัน ดังกล่าว ของ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ถือเป็นพยานปากสำคัญ ที่เบิกความตามพยานหลักฐานคำปราศรัยและคำถอดเทป ซึ่งจะมัดตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ และแกนนำนปช. และถือว่า เป็นโทษ กับ ฝ่ายแกนนำเสื้อแดง ซึ่งค่อนข้างจะผิดไปจากความคาดหมายของคนทั่วไป
ระหว่างนั้น พนักงานอัยการโจทก์ ก็ได้ขออนุญาตต่อศาล เพื่อให้ เปิด วีซีดี คำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.และจำเลยที่ 2 ในคดีก่อการร้าย บนเวที นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงตอน ที่ นายจตุพร พูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง โดยใช้เวลาเปิด นานประมาณ 10 กว่านาที ขณะที่ฝ่ายจำเลย และทนายต่างก็นั่งนิ่งและตั้งใจดู วีซีดีคำปราศรัยที่อัยการนำมาเปิดในห้องพิจารณาคดี ซึ่ง ข้อความตรงกับที่ พล.ต.ต.อำนวย เบิกความ
ขณะที่นายจตุพร ก็ได้แถลงต่อศาล ระบุว่าในการฟังคำปราศรัยที่บันทึกไว้ นั้น อยากศาลให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่แค่บางช่วงบางตอนอย่างที่อัยการเปิดและนำพยานเบิกความ โดยยืนยันว่า การปราศรัยของตน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.มีเจตนาที่จะปกป้องสถาบัน
เมื่อ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน พยานโจทก์ เบิกความเสร็จ ทางฝ่ายทนายจำเลย ทั้ง 9 คน นำโดย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษา ก็ได้ซักค้านพยานโจทก์ ในประเด็นว่า การชุมนุมของ นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.54 เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ปรากฎความวุ่นวาย ที่จะเป็นเหตุผลให้ผิดเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่ง พล.ต.ต.อำนวย เบิกความว่า การชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้มีแต่ การใช้อาวุธ หรือ ใช้กำลังก่อความวุ่นวาย แต่การปราศรัยที่พาดพิงสถาบัน หรือ หมิ่นเบื้องสูง ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน
ศาลได้ให้ดำเนินการไต่สวนพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย ทนายจำเลยทั้ง 9 คน ได้เดินหน้าทำลายความน่าเชื่อถือคำเบิกความ โดยสลับกันซักค้าน พล.ต.ต.อำนวย อย่างดุเดือด หลังจากนั้นศาลจึงเปิดโอกาสให้อัยการถามติงอีกครั้งตามกระบวนการไต่ส่วน นอกจากนี้ศาลยังได้หารือกับอัยการโจทก์และทนายจำเลย ว่าจะนำพยานรายใด เข้าเบิกความในครั้งหน้า โดยอัยการโจทก์แถลงว่า ขอนำพยานเข้าเบิกความอีก 4 ปาก คือ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ดีเอสไอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทำการถอดเทปคำปราศรัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวไปฟังคำปราศรัยในพื้นที่ชุมนุม และขอส่งเอกสารคำถอดเทปรวม 25 ฉบับ และแผ่นวีซีดีบันทึกคำปราศรัยรวม 14 แผ่น ขณะที่ทนายความนายจตุพร จำเลยที่ 2 แถลงขอส่งวีซีดีบันทึกคำปราศรัยจำนวน 1 แผ่น รวมทั้งพยานที่เป็นเอกสาร คำถอดเทป การปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. กระทั่งการไต่สวนดำเนินมา จนถึง เวลา 16.30 น. ซึ่งหมดเวลาราชการแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดการไต่สวนไปเป็น วันจันทร์ที่ 9 พ.ค. เวลา 09.00 น.
สรุปการไต่สวนเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ศาลสามารถไต่สวนพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียว คือ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. ขณะที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งได้เดินทางมาตั้งแต่เช้า และเตรียมตัวที่จะขึ้นเบิกความ แต่ก็ต้องรอเก้อ เนื่องจากการไต่สวนพยานปากแรกใช้เวลานาน กระทั่งนายธาริต อธิบดีดีเอสไอ จึงได้เดินทางกลับไปก่อน โดยไม่รอฟังการไต่สวนในช่วงบ่าย นอกจากนี้เห็นว่าคดีนี้ ดีเอสไอและอัยการได้มีเอกสารหลักฐานที่เป็นบันทึกคำปราศรัย-และคำถอดเทป ของนายจตุพร พรพมพันธุ์ อย่างชัดเจน ครบถ้วนและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมด ก็เพียงพอที่ศาลจะสามารถใช้ดุลยพินิจได้อยู่แล้ว ว่ามีข้อเท็จจริงที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข การปล่อยตัวชั่วคราว หรือ สามารถวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรได้อยู่แล้ว แต่ที่ศาลทำการไต่สวนและเปิดโอกาส ให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยนำพยานมายืนยันต่อศาล ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ตามกระบวนการ ส่วนคำวินิจฉัยของศาล จะออกมาอย่างไร ไม่นานเกินรอมีคำตอบ!