xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์พิพากษา "ยก" คดี"ดา ตอร์ปิโด" มีความหมายอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)  น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
"ดา ตอร์ปิโด" ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูง ศาลอาญายังพิจารณาพิพากษาคดีไม่แล้วเสร็จ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน ย้ำ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาอาญา หมายถึงศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ชี้ให้รอฟังคำสั่งศาลอาญา เพื่อฟังผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 25 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 น.

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2552 ศาลอาญาพิพากษาว่า น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล (ดา ตอร์ปิโด) จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 18098/2553 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ความผิดต่อองค์ พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาทหรือต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ให้จำคุกกระทงละ 6 ปี รวมทั้ง 3 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี จำเลยอุทธรณ์

ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องความเห็นของจำเลยโดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2550 หรือไม่ เสร็จแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือพิพากษาใหม่แล้วแต่กรณี

ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความงุนงงสงสัยแก่สาธารณชนที่มิได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องความเห็นของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย” และ “พิจารณาพิพากษาใหม่หรือพิพากษาใหม่แล้วแต่กรณี” คืออะไร มีเหตุผลที่มาอย่างไร และมีความหมายเช่นใด เพื่อคลายปมความสงสัยดังกล่าว ผู้เขียนจึงขออนุญาตอรรถาธิบายขยายความดังกล่าว

ข้อเท็จจริงแห่งคดีมีว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2552 ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญา พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องว่า เนื่องจากคดีเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี หากเผยแพร่คำเบิกความอาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นลับ ทนายจำเลยคัดค้าน ศาลอาญาเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย ฯลฯ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 อนุญาตให้พิจารณาคดีเป็นลับ อีก 2 วันต่อมา ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า คำสั่งศาลอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 (2) ที่บัญญัติว่า “สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย...” และ “มาตรา 29 ที่บัญญัติว่าจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำผิดมิได้...” กรณีจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยชัดแจ้ง ซึ่งจะกระทำมิได้ ขอให้ศาลอาญาส่งความเห็นของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ศาลอาญามีคำสั่งว่า คำโต้แย้งของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้อง

เห็นได้ว่า ข้อโต้แย้งของจำเลยกับคำวินิจฉัยของศาลอาญามีความแตกต่างกัน ประเด็นจึงมีว่า ที่ถูกต้องแล้ว ถ้าจำเลยโต้แย้งว่าคำสั่งของศาลอาญาหรือศาลอื่นขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลยุติธรรมจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง

ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ให้คำตอบชี้ขาดว่า “การส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 211 วรรคหนึ่ง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือ คู่ความโต้แย้งด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ศาลอาญาต้องส่งความเห็น(ข้อโต้แย้งของจำเลย) ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเสร็จสิ้นเสียก่อน โดยให้รอการพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จไปในทางหนึ่งทางใด และการที่จะวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย ไม่ใช่อำนาจของศาลอาญาซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ...” เว้นแต่กรณีไม่เข้าองค์ประกอบ ตามมาตรา 211 ซึ่งศาลอาญาตรวจสอบแล้ว ยังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาก่อน ศาลอาญาจึงจะต้องส่งความเห็นของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยรอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว การที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีและไม่ส่งความเห็นของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงเป็นการมิชอบ...”

สรุปทางออกทางแก้ที่ถูกต้องในเรื่องนี้ก็ คือ

1) เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยก..” คำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับว่าคดีนี้ศาลอาญาต้องกลับไปดำเนินการใหม่เฉพาะในเรื่องการส่งความเห็นของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพราะคดีมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้นแล้ว

2) คำพิพากษาศาลอาญาที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 18 ปี ก็พลอยสิ้นผลไปชั่วคราวเพราะตามกฎหมายแล้วศาลอาญาจะมีคำพิพากษาได้ก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

3) ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลอาญาที่ให้พิจารณาคดีเป็นการลับนั้นชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรา 211 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ศาลอาญาก็ต้องมาปรึกษากับองค์คณะแล้วมีคำพิพากษาใหม่อีกครั้งว่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยจำคุกหรือยกฟ้องจำเลยอย่างไร และ

4) หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลอาญาไม่ชอบ ขัดหรือแย้งกับมาตรา 211 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอาญาก็ต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยใหม่โดยเปิดเผยห้ามพิจารณาคดีเป็นลับ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจึงพิพากษาใหม่อีกครั้งดังข้อ 3

ดังนั้น ขณะนี้เท่ากับว่าคดีที่ ดา ตอร์ปิโด ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ศาลอาญายังพิจารณาพิพากษาคดีไม่แล้วเสร็จ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน แต่มิได้หมายความว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาอาญาหมายถึงศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด หากท่านผู้อ่านอยากรู้ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในเรื่องนี้อย่างไร โปรดรอฟังคำสั่งศาลอาญา ในวันที่ 25 พ.ค. 2554 เวลา 09.00 น. ตามที่ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น