xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรม แจงพิจารณาคดีแดงก่อการร้ายตามหลักสากล!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(ภาพประกอบข่าว)
รองเลขาธิการสนง.ศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีนปช.ยื่นศาลอาญาโลกสังเกตการณ์พิจารณาศาลไทยคดี 19 นปช. ก่อการร้าย ยันกระบวนการพิจารณาคดีอาญาของศาลไทยเป็นไปตามหลักสากล ให้สิทธิจำเลยเต็มที่

วันนี้ (7 ม.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงกรณีนางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ส่งหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศขอให้ส่งผู้สังเกตการณ์ฟังการพิจารณาและการไต่สวนของศาลไทยในคดีที่ 7 แกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 19 คนเป็นจำเลยคดีก่อการร้าย ว่า กระบวนการพิจารณาคดีอาญาของประเทศไทยเป็นไปตามหลักสากล โดยพิจารณาคดีเปิดเผยต่อหน้าจำเลยดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ดังนั้น ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ย่อมสามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ นอกจากนี้ สิทธิต่าง ๆ ของจำเลยก็ได้รับการรับรองคุ้มครองให้เป็นไปตามหลักสากล เช่น ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมในโอกาสแรก มีสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว มีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน มีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย

นอกจากนี้ ภายหลังเวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม แต่งทนายความในชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้น ตลอดจนชั้นอุทธรณ์และฎีกา มีสิทธิปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว มีสิทธิตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือรูปถ่ายสิ่งนั้นๆ มีสิทธิตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวน หรือเอกสารประกอบคำให้การของตน ภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามกฎหมาย

สำหรับเรื่องของการขอปล่อยชั่วคราว นั้น ศาลจะพิเคราะห์ข้อเท็จจริงเป็นรายคดีไป โดยคำนึงถึงความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วในคดี พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว หากศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น