ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 18 ปี “ดา ตอร์ปิโด” ไว้ก่อน รอส่งศาล รธน.วินิจฉัย ประเด็นขัดแย้งเรื่องการพิจารณาคดีลับ
วันนี้ ( 9 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3- 15 ปี กรณีเดือน ม.ค. - มิ.ย.51 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ใช้คำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน เสื่อมเสียพระเกียรติยศ โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 52 ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม จึงจำคุกจำเลย 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 ปี ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีจำเลย ไม่ได้รับการประกันตัว
ต่อมาจำเลย ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้น สั่งพิจารณาคดีลับ ขัดหรือแย้ง สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีลับ เนื่องจากคดีเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและไม่สงบเรียบร้อย โดยศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 177 และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรอการพิพากษาคดีไว้ก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาศาลชั้นต้นจำเลยได้มีทนายความ และมีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้วตามสิทธิกระบวนพิจารณาคดี แต่ที่ศาลชั้นต้น ยกคำร้องจำเลยให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ นั้น การวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย และเมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้วพบว่า ไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ และที่ศาลชั้นต้น ไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี โดยให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี
ภายหลังฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาแจ้งให้ทนายความและจำเลยทราบว่า เมื่อยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยก็จะไม่มีโทษจำคุก ซึ่งระหว่างนี้ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยน่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนจำเลยจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยต้องยื่นประกันส่วนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีนี้ในชั้นพิจารณา น.ส.ดารณี จำเลย เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 ,40 (2) และ 211 กรณีที่ศาลอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ร่วมกันมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับห้ามประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา แต่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 นายประเวศ ประภานุกุล ทนายความจำเลย ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเองเพื่อให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวพร้อมนำสำเนาคำร้องดังกล่าวมายื่นต่อศาลก่อนฟังคำพิพากษา แต่ปรากฏว่าองค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วให้ยกคำร้องเช่นเดิม จึงได้มีการอ่านคำพิพากษาคดีในครั้งแรก
ขัง 18 ปี “นังดา” โอหัง! อาฆาตเบื้องสูง