ฝากขัง “การุณ ใสงาม” คดีร่วมกับ พันธมิตรฯ ชุมนุมสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ทนายยื่นค้านทันควันอ้าง ตร.ฝากขังไม่ชอบ ด้าน"พล.ร.อ.บรรณวิทย์ "หอบเงินสด 2 แสน ยื่นประกัน ศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
วันนี้ (3 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.15 น.ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผกก.สส.บก.น.9 พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมตัว นายการุณ ใสงาม อายุ 59 ปี อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ แนวร่วมเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ผู้ต้องหาคดีร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2386/2553 ลงวันที่ 27 ต.ค.53 มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 ก.พ.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และเสนอสำนวนต่อ ผบ.ตร.เพื่อมีความเห็นทางคดีตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนิน คดีอาญา พ.ศ.2523 ข้อ 9.1.5
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวน ระบุด้วยว่า ไม่ขอคัดค้านการประกันตัว หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่เข้าไปร่วมการชุมนุม หรือกิจกรรมทางการเมืองอื่นใด อันมิใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือให้สัมภาษณ์ต่อสารณชนในทางที่เป็นอุปสรรคต่อการ สืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อ วันที่ 20 พ.ย.- 3 ธ.ค.51 นายการุณ ผู้ต้องหา ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยได้กล่าวปราศรัยพูดปลุกระดมให้กำลังใจผู้ชุมนุม บนเวทีหน้าทำเนียบรัฐบาล และ ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ หลายครั้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยพฤติการณ์ดังกล่าวผู้ต้องหาได้ทำหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกลุ่มพันธมิตรฯ ให้เป็นผู้พูดปราศรัยโดยมีข้อความที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร จึงถือได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสอง ได้ร่วมกระทำผิดลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับผู้ต้องหาอื่นๆ ในคดีนี้ซึ่งได้ละเมิดกฎหมายหลายฉบับ หลายฐานความผิด โดยผู้ต้องหารู้ถึงกระทำที่เล็งเห็นผลในการกระทำนั้น
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญา เมื่อเวลา 00.10 น.วันที่ 3 ก.พ.ซึ่งผู้ต้องหา ถูกกล่าวโทษรวม 4 ข้อหาประกอบด้วย 1.มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 2. เข้า ไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข หรือ ไม่มีเหตุอันควรเข้าไปในอาการหรือสำนักงานที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่น 3.กระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจลาจล 4.กระทำด้วยประการใดๆ ให้การสื่อสารสาธารณะ ทางไปรษณีย์ขัดข้อง 8.ทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 229, 235, 364, 395(1)(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา โดยสอบถามผู้ต้องหาแล้วคัดค้านการฝากขัง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าการฝากขังของพนักงานสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย
ด้าน นายณฐพร โตประยูร ทนายความผู้ต้องหา กล่าวว่า ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีเพียง 4 ข้อหา โดยมีโทษหนักสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 (3) ระบุว่า เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นให้ลงความเห็น โดยไม่ต้องส่งสำนวนให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาขอความเห็นทางคดี จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องฝากขัง ทั้งนี้ หากศาลเปิดไต่สวนคำร้องนายการุณ ขึ้นเป็นพยานเบิกความด้วยตัวเอง
ต่อมา เวลา 14.30 น. ศาลอาญา เปิดห้องพิจารณา 614 ไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน โดย พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผกก.สส.บก.น.9 พนักงานสอบสวน ขึ้นเบิกความเป็นพยานต่อศาลเพียงปากเดียว ขณะที่ นายการุณ ทำหน้าที่เป็นทนายถามค้านด้วยตัวเอง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากยังอยู่ระหว่างขั้นตอนส่งสำนวนการสอบสวนให้ ผบ.ตร.มีความเห็นชี้ขาด พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฝากขังผู้ต้องหาได้ตามกฎหมาย จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ต้องหา
ต่อมา พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีต รองปลัดกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.)ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาท ขอประกันตัวนายการุณ ซึ่ง ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 2 แสนบาท