xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้การจับเอง! ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างชื่อหลอกเหยื่อโอนเงิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามรวบ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ 3 คน ขณะไปกดเอทีเอ็ม
ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามรวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ 3 คน เป็นชาวไทย 2 ไต้หวัน 1 คน ขณะกำลังไปกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็ม หนึ่งในคนร้าย เผย ถูกหลอกให้ไปทำงานในจีน แล้วตกเป็นหนึ่งในแก๊งคอยหลอกเหยื่อ โดยอ้างตัวเป็นรองผู้การบก.ปอศ.แต่ด้วยความที่เจรจาไม่เก่ง จึงถูกส่งกลับมาทำงานคอยกดเงินตามตู้เอทีเอ็มในเมืองไทย ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ 3 เปอร์เซ็นต์ จากเงินที่หลอกเหยื่อมาได้

วันนี้ (10 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.ต.ภูมิรา วัฒนปาณี รองผบช.ก. พ.ต.อ.กิตติ สะเภาทอง รองผบก.ปอศ.และเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันแถลงการจับกุม นายธนูธร หรือ เซียน ชัยดี อายุ 25 ปี น.ส.มณฑิกา แซ่จู อายุ 28 ปี และ นายเยี่ยไฉลู่ อายุ 36 ปี ชาวไต้หวัน พร้อมของกลางเงินสด 97,000 บาท สมุดบัญชีเงินฝากของธนาคารต่างๆ 14 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 12 ใบ โทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง ซิมการ์ด 9 ชุด และสลิปบันทึกรายการเบิกเงินสดอีก 10 ใบ โดยจับกุมได้ขณะผู้ต้องหาทั้งหมดกำลังร่วมกันกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย สาขาอาคารวงศ์เจริญ แมนชั่น ถนนลาดพร้าว ซอย 130 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.

พ.ต.อ.กิตติ กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายหลายรายว่าถูกแก๊ง Call center ใช้อุบายหลอกลวงให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม สร้างความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก จึงทำการสืบสวนร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ของทางธนาคารต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนได้ภาพผู้ต้องหาแก๊งนี้ไปปรากฏจากกล้องวงจรปิดตามตู้เอทีเอ็ม สถานที่ต่างๆ เมื่อชุดจับกุมพิจารณาข้อมูลจนแน่ใจแล้ว จึงรีบนำกำลังไปดักซุ่มดูพฤติกรรม จนทั้ง 3 คนปรากฏตัวพร้อมกัน จึงได้ทำการจับกุมตัว เมื่อสอบสวนจึงยอมรับสารภาพว่าเป็นแก๊ง Call center จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังอาละวาดสร้างความเสียหายให้กับคนไทยอยู่ในขณะนี้จริง จึงพาไปขยายผลตรวจค้นที่ห้องพักสามารถยึดของกลางมาดำเนินคดีได้เป็นจำนวนมาก

จากการสอบสวน นายธนูธร ยอมรับว่า เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เคยถูกคนรู้จักหลอกไปทำงานในประเทศจีน โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานตำแหน่งพนักงานรับโทรศัพท์ แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับถูกยึดหนังสือเดินทาง และถูกส่งตัวไปที่ออฟฟิศแห่งหนึ่งในเมืองเซิ่นเจิ้น พบว่า มีพนักงานชาวไทยด้วยกัน จำนวน 14 คน ประจำอยู่ที่สำนักงาน คอยทำหน้าที่พูดคุยโทรศัพท์ตามสคลิปเพื่อหลอกให้บุคคลปลายทาง ซึ่งก็คือคนไทยเหมือนกันหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีให้แก๊ง Call center ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนั้นคือสำนักงานที่ประจำอยู่เป็นเพียง 1 ใน 500 องค์กรของแก๊ง Call center ที่มีอยู่ทั่วโลกเท่านั้น

นายธนูธร กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการหลอกลวงนั้น ทางออฟฟิศจะมีเครื่อง Random ต่อสายโทรศัพท์ไปยังมือถือเหยื่อชาวไทยที่ขึ้นต้นด้วย 081 และ 089 เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์กลุ่มนี้เปิดใช้งานมานานแล้ว ทำให้เชื่อว่าเจ้าของเบอร์น่าจะค่อนข้างมีทุนทรัพย์ เมื่อเหยื่อยอมรับสายก็จะมีเสียงโอเปอเรเตอร์บอกให้กด 9 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยอ้างว่าเหยื่อติดหนี้บัตรเครดิต จากนั้นเจ้าหน้าที่กำมะลอด่านแรกก็จะหลอกถามข้อมูลของเหยื่อทั้งชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลทางธนาคาร เมื่อได้ข้อมูลจนเป็นที่พอใจแล้ว จะบอกให้เหยื่อวางสายเพื่อรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ.ซึ่งตนจะรับหน้าที่แอบอ้างตัวเป็นตำรวจโดยโทร.กลับไปหาเหยื่อหลังเวลาผ่านไปประมาณ 10-15 นาที พอเหยื่อรับสาย ก็จะใช้อุบายอ้างตัวเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของ บก.ปอศ.โดยเฉพาะชื่อของ พ.ต.อ.กิตติ สะเภาทอง หัวหน้าชุดจับกุมจะแอบอ้างมากเป็นพิเศษ จากนั้นจะข่มขู่เหยื่อด้วยการอิงตามข้อมูลที่ด่านแรกหลอกถามและส่งมาให้ ส่วนใหญ่จะหลอกเหยื่อว่า บัตรเอทีเอ็มโดนขโมยข้อมูลทำให้เงินถูกนำไปใช้หรือไม่ก็ถูกแก๊งมิจฉาชีพแฮกเกอร์เอาบัตรเครดิตไปใช้ พร้อมขอให้เหยื่อรีบนำบัตรเอทีเอ็มไปทำเรื่องใส่รหัสล็อกข้อมูลที่หน้าตู้ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะให้ทำการเปลี่ยนภาษาก่อนโอนเงินในบัญชีตัวเองเข้าสู่บัญชีที่ทางแก๊ง Call center เตรียมเอาไว้

“ด้วยความที่ผมพูดไม่เก่งทำให้มีคนหลงเชื่อน้อย หลังทำงานได้ 17-18 วัน สามารถลวงเหยื่อได้เพียง 4-5 ราย เท่านั้นจึงถูกส่งกลับมาที่ประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ใหม่คือเป็นผู้นำบัตรเอทีเอ็ม ที่ได้จากการว่าจ้างคนไทยในเครือข่ายเป็นผู้เปิดบัญชีให้ไปกดเงินสดตามตู้ มามอบให้ นายเยี่ยไฉลู่ โดยรับค่าตอบแทนคราวละ 3 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินทั้งหมด โดยนายเยี่ยไฉลู่ ก็จะโอนเงินไปให้แก๊ง Call center ที่ประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง ส่วน น.ส.มณฑิกา ที่ถูกจับติดร่างแหมาด้วยเพราะกำลังเรียนรู้วิธีการและจะถูกส่งตัวไปประจำในออฟฟิศที่ประเทศจีนในอีกไม่นานนี้” นายธนูธร กล่าว

เบื้องต้นชุดจับได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ว่า “ร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งเป็นบัตรที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสด” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น