ตำรวจท่องเที่ยว ประสานศูนย์สืบสวนภาค 3 จับ 3 ไต้หวันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้เหยื่อโอนเงิน 5 แสน หลังจากตระเวณกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเมืองพัทยา
วันนี้ (19 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พล.ต.ต. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ผบก.ทท. นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงผลการจับกุม นายเฉิน ยี่ หลิน อายุ 35 ปี นายโก ยี่ เหิน อายุ 40 ปี และ นายเย็น ยี่ ชุน อายุ 36 ปี สัญชาติไต้หวัน พร้อมของกลางบัตรเดบิตธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย 9 ใบ สมุดบัญชีธนาคารกรุงเทพ 27 เล่ม สมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทย 29 เล่ม โทรศัพท์มือถือ 10 เครื่อง โดยจับกุมได้ที่อพาร์ตเมนต์ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ซอย 10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2553 ได้มีผู้เสียหายถูกคนร้ายกลุ่มดังกล่าวหลอกโอนเงิน 5 แสนบาท เหตุเกิดในพื้นที่ บช.ภ.3 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผกก.1 บก.ทท. พ.ต.ท.ประพจน์ โชติเกียรติคุณ รอง ผกก.2 บก.ทท. พ.ต.ท.จิรพงศ์ รุจิรดำรงชัย สว.งานสืบสวน กก.1 บก.ทท. พ.ต.ต.อรรถพงษ์ แสนใจวุฒิ สว.งานสืบสวน กก.2 บก.ทท.พร้อมพวกจึงได้ประสานกับตำรวจ บช.ภ.3 พ.ต.อ.ภาณุ บูรณศิริ รอง ผบก.ศสส.บช.ภ.3 และเจ้าหน้าที่ธนาคาร จนได้ภาพถ่ายของคนร้ายที่กำลังถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งจากการวิเคราะห์จุดเฝ้าระวัง พบว่า เป็นบริเวณถนนพัทยากลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2554 เวลา 19.30 น.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสามารถจับกุม นายเฉิน ยี่หลิน และ นายโก ยี่ เห็น ได้บริเวณด้านหน้าอพาร์ตเมนต์ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ซอย 10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ก่อนที่จะเข้าไปตรวจค้นที่ห้องพัก D5 ภายในอพาร์ตเมนต์ดังกล่าว พบ นายเย็น ยี่ ชุน พร้อมด้วยของกลางทั้งหมด
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า ได้ร่วมกันกระทำผิดจริง โดยจะตระเวนขับขี่จักรยานยนต์ไปถอนเงินตามตู้เอทีเอ็มต่างๆ ในพื้นที่พัทยา จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นในประการที่ น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งบัตรที่ผู้ออกได้ให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสด” ซึ่งการกระทำผิดของคนร้ายได้สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจากนี้จะขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการที่เหลือต่อไป
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวด้วยว่า พฤติการณ์ของคนร้ายจะใช้วิธีการหลอกลวงโดยตั้งคอลเซ็นเตอร์ ในต่างประเทศ โดยใช้ระบบโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถกำหนดหมายเลขให้โชว์ที่เครื่องโทรศัพท์ของผู้เสียหาย ให้เป็นเบอร์ของธนาคาร โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารต่างๆ พร้อมอ้างด้วยว่าผู้เสียหายมีหนี้ค้างชำระค่าบัตรเครดิต หรือถูกขโมยข้อมูลทางการเงินเป็นเหตุให้สูญเสียเงินในบัญชี จึงใช้กลอุบายหลอกลวงให้ไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม ให้โอนเงินไปยังบัญชีของคนร้าย ทั้งนี้ กลุ่มคนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีกลุ่มคนไทยไปทำหน้าที่เป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่มาหลอกลวงที่โทรศัพท์มือถือของเหยื่อ โดยตั้งคอลล์เซ็นเตอร์อยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ มีกลุ่มที่ทำหน้าที่ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนหรือไต้หวัน โดยจะทำการถอนจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยและไต้หวัน กลุ่มจัดหาบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งจะไปว่าจ้างคนทั่วไปให้ไปเปิดบัญชี และเปิดใช้เอทีเอ็ม โดยผู้เปิดจะได้ค่าตอบแทนบัญชีละ 1,000-2,000 บาท กลุ่มจัดการทางการเงินโอนเงินผ่านโพยก๊วน หรือฝากเงินสดเข้าตู้รับฝากเงินอัตโนมัติ และกลุ่มระดับสั่งการจะอยู่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
รอง ผบช.ก.กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดในลักษณะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ถึง 200 ราย โดยล่าสุดศาลได้พิพากษาจำคุกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ นายหลิน หยางจิ้น, นายหวัง เซิน หง ,นายเลี่ยว ไค่ หมิง สัญชาติไต้หวัน และ น.ส.เฉิน หมิง สัญชาติจีน คนละ 140 ปี แต่คงลงโทษไม่เกิน 20 ปี