จากคดีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหน้ารัฐสภา เมื่อ 7 ต.ค.2551 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้ง สั่งฟ้องคดีชุมนุมหน้ารัฐสภา โดยมีหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 21 คน ให้ไปรายงานตัวในวันที่ 10 ก.พ.2554 ที่ สน.ดุสิต อาจจะเป็นจุดเร่งให้สถานการณ์ให้ร้อนแรงมากขึ้น นั้น
สำหรับคดีดังกล่าวเป็นคดีที่พนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รวบ พยานหลักฐานตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นต้นมาซึ่งมีคดีที่เกี่ยวพันทั้งหมด 3 คดี ได้แก่คดีที่มีการปิดล้อมรัฐสภา บุกทำเนียบ หมิ่นประมาทนายเนวิน ชิดชอบ โดยสำนวนทั้งหมดพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ ตร.พิจารณาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบในขณะนั้นพิจารณาลงความเห็นสั่งฟ้อง แต่เนื่องจากสำนวนดังกล่าวมีเนื้อหามากจึงใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร จนกระทั่ง พล.ต.อ.ธานี เกษียณอายุราชการ จึงมีการเปลี่ยนหัวหน้าพนักงานสอบสวนหลายครั้ง จนล่าสุดเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา(สบ10) ได้เห็นสมควรสั่งฟ้องและส่งสำนวนกลับมาที่ บช.น. เพื่อนัดหมายผู้ต้องหาทั้งหมดเพื่อเข้าพบอัยการตามกำหนดวันที่ 10 ก.พ.54
แหล่งข่าวในชุดสอบสวน เปิดเผยว่าหลังจาก ตร.ได้ใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนของคดี 7 ต.ค. นานประมาณ 1 ปี ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 35 แฟ้ม จึงได้ลงความเห็นให้มีการสั่งฟ้องแกนนำทั้ง 21 คน และได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวกลับมาให้พนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้รวบรวมเพื่อส่งฟ้องอัยการตามนัดคือวันที่ 10 ก.พ. 2554 ในเวลา 8.30 น.
สำหรับคดีดังกล่าว เป็นคดีที่ตั้งเรื่องโดย พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.นายตำรวจที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง กรณีสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด โดยมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.นายตำรวจเสื้อแดง ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน(ขณะนั้น)เป็นผู้สนองตอบ ด้วยการสอบสวนฝ่ายเดียว มีกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในอาคารรัฐสภาในวันเกิดเหตุ เข้าเป็นผู้กล่าวหาร่วมรวม 32 คน ก่อนย่องเงียบส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นสั่งฟ้องให้กับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งคดี ภายใต้ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง
คือฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือ กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้ประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่าง หนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือ ทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกันกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย, อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 215, 216, 309 และ 310"
โดยมีกลุ่มผู้ต้องหารวม 21 คน ประกอบด้วย 1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 2.นายพิภพ ธงชัย 3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 4.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 5.นายสุริยะใส กตะศิลา 6.นายอมร อมรรัตนานนท์ 7.นายสำราญ รอดเพชร 8.นายศิริชัย ไม้งาม 9.นายสาวิทย์ แก้วหวาน 10.นายพิชิต ไชยมงคล 11.นายอำนาจ พละมี 12.นายวีระ สมความคิด 13.นายกิตติชัย ใสสะอาด 14.นายประยุทธ วีระกิตติ 15.นายสุชาติ ศรีสังข์ 16 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 17.นายศุภผล เอี่ยมเมทาวี 18.นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก 19.นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ 20.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 21.นายประพันธ์ คูณมี อายุ 52 ปี
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตุว่า การเร่งรัดคดีนี้ เป็นการสั่งฟ้องคดี หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งตรวจสอบเอาผิดกับ พันธมิตรฯที่ชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อคัดค้านบันทึกร่วม เจบีซี ไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2553 โดยที่น้ำเสียงของ พล.อ.ประวิตร ในวันนั้น เป็นการสั่งการให้เอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้
ขณะที่วันเดียวกัน พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายตำรวจสีน้ำเงิน ได้สรุปสำนวนคดีการชุมนุมหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง พร้อมมีความเห็นสั่งฟ้องพันธมิตรรวม 114 คน ฐานก่อการร้ายและข้อหาอื่น โดยส่งสำนวนสอบสวนให้กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.สั่งคดี
อีกทั้งหากย้อนกลับไปดูคดีความของนายตำรวจ ที่นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือว่าหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง วันนี้ คดีความยังไม่คืบหน้า และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กลับไม่ทำอะไรเลย
เหตุการณ์ตุลาเลือด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสลายการชุมนุมครั้งดังกล่าว ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สั่งฟันทางอาญาและทางวินัย
ในส่วนของคดีอาญา ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี บุคคลทั้ง 4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 70
แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ ทำให้ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานผู้แทนอัยการสูงสุด และคณะทำงานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ และหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดี นั่นก็หมายความว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการฟ้องคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ แต่อย่างใด
ขณะที่การดำเนินการทางวินัย ภายหลัง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง กับ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง พร้อมกับได้ส่งเรื่องมายังผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจทั้ง 2 นาย
ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 90 ระบุว่า“ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจตาม มาตรา 72 สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก”ฉะนั้นในกรณีของนายตำรวจทั้ง 2 นายเมื่อถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดวินัยร้ายแรง โทษที่ได้รับจึงมีเพียง 2 สถาน คือ ปลดออกและไล่ออก ซึ่งทั้งหมดถูกลงโทษปลดออก ซึ่งถือเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดแล้ว
แต่ทว่าต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อ้างว่าไม่ได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล และก็เป็นไปตามคาด เพราะ ก.ตร.ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 และวันที่ 15 ม.ค.2553 เห็นชอบตามความเห็นคณะอนุฯก.ตร.อุทธรณ์ที่มี พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เพื่อนซี้ร่วมก๊วน พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นประธาน ให้ยกโทษให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ รวมถึงกรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผบก.ภ.จ.อุดรธานี ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกรณีปล่อยให้กลุ่มนปช.ทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2551 พร้อมมีมติให้รับนายพลทั้ง 3 นาย กลับเข้ารับราชการตามเดิม นอกจากนี้ ก.ตร.ยังมีมติให้ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริงทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีรับ ทราบ และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
การมีมติดังกล่าวของ ก.ตร.ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเพราะเป็นการสวนมติ ป.ป.ช.ทำให้องค์กรอิสระองค์กรนี้ถูกมองเป็นเสือกระดาษ นอกจากนี้ถูกมองว่าเป็นการอุ้ม 3 นายพลให้พ้นผิด ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ทำได้เพียงร่อนหนังสือให้ ก.ตร.ทบทวนมติ แต่ก็ไม่เป็นผล
กระบวนการอุ้ม 3 นายพลจึงดำเนินการต่อไป มีการรับลูกกันเป็นทอดๆ เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2553 พล.ต.ท.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยผบ.ตร.ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านายตำรวจผู้นี้เปรียบเสมือนมือขวาของ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ชงเรื่องให้รับ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการ โดยอ้างมติดังกล่าว ขณะที่สำนักงานกำลังพลได้เตรียมกำหนดตำแหน่งรองรับการกลับเข้ารับราชการของ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ แต่ทว่าพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.(ขณะนั้น)ยังไม่ลงนามรับ 2 นายพลกลับเข้ามารับราชการ เนื่องจากต้องรอดูท่าทีของนายอภิสิทธิ์ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ พล.ต.อ.พัชรวาท เรื่องจึงยังต้องคาราคาซังอยู่
จะว่าไปแล้วกรณีนี้ถูกมองว่าเป็นการเล่นปาหี่ของ 2 ผู้ยิ่งใหญ่"อภิสิทธิ์-สุเทพ"เพราะอย่างที่ทราบกันดีนายอภิสิทธิ์ นั้นเล่นบทพระเอก เพื่อเอาใจประชาชนผู้รักความถูกต้อง หากยังจำกันได้ในช่วงแรกเมื่อรับทราบมติ ก.ตร. นายอภิสิทธิ์ ก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วยท่าทีที่ขึงขังหลายต่อหลายครั้ง ว่า มติของ ก.ตร.เป็นมติที่ขัดกฎหมาย และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่าฝ่ายบริหารไม่สามารถกลับมติของ ป.ป.ช.ได้ ดังนั้น รัฐบาลจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีและส่งเรื่องให้ศาลรัฐ ธรรมนูญตีความแน่นอน "คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่า ครม.ไม่มีอำนาจที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะการที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องขัด แย้งกัน แต่ ก.ตร.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้ ครม.จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว"
แต่ทว่าต่อมา ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ กลับเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2553 หลังการเข้าพบของ พล.ต.อ.ปทีป เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ กลับออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า จะมีการนำเรื่องนี้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งหนังสือตอบกลับว่า นายกฯ จะต้องทำตามมติ ก.ตร. ถอนคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ขณะเดียวกัน ไม่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เนื่องจากไม่ใช่กรณีความขัด แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร
ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ ที่กลับไปกลับมาจนหลายคนมองว่า เป็นการตี 2 หน้าเพื่อรักษาสมดุลในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ขณะที่บทบาทของ นายสุเทพ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมติอัปยศดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น คงไม่มีอะไรมากนอกจากต้องการ “ซื้อใจ”ตำรวจ และทำหน้าที่ผู้จัดการรัฐบาลเพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ประวิตร พี่ชายของ พล.ต.อ.พัชรวาท เท่านั้น
และเพื่อทบทวนความทรงจำ นายอภิสิทธิ์ เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งขณะเป็นผู้นำฝ่าย ค้าน ได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ถึงนายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ว่า "สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าสลายการ ชุมนุมของประชาชนบริเวณรอบอาคารรัฐสภาและพื้นใกล้เคียงจนเป็นเหตุให้มี ประชาชนได้รับบาดเจ็บกว่า 400 คนรวมทั้งเจ้าหน้าที่และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเมื่อวัน ที่ 7 ตุลาคม 2551
"พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการสั่งการและปฏิบัติการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงยามวิกาลทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากถือเป็นการ กระทำที่ขัดต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสมควรที่จะต้อง สอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการลงโทษต่อผู้กระทำความผิดต่อไปอาศัยความ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 15 ข้อ 2 ว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิ มนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ ประเทศไทยเป็นภาคีและเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่ กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการ ดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
"พรรคประชาธิปัตย์จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินสอบสวน เบื้องหน้าเบื้องหลังอันเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตาม อำนาจหน้าที่เป็นการเร่งด่วนเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป"
หนังสือดังกล่าวเขียนขึ้นในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ยังคงไม่มีอำนาจ เป็นเพียงผู้นำฝ่ายค้าน แต่มาถึงวันนี้เมื่อครองอำนาจเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศ มีอำนาจที่จะสร้างความเป็นธรรม ความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่เพียงเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล แล้วกลับปล่อยให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น โดย"นายกฯอภิสิทธิ์"ไม่ทำอะไรเลย
ขณะที่ความเดิมก่อนหน้า พี่ชายร่วมสายเลือด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขาถามเสียงดังฟังชัดว่า"น้องชายเขาผิดอะไรหรือ"พร้อมๆ กับได้แสดงบทบาทในการปกป้อง ช่วยเหลือผู้เป็นน้อง อย่างสุดๆถึงขั้นทำการฟ้องร้องสื่อในเครือเอเอสทีวี ผู้จัดการ ที่ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับชีวิตสีกากีฉาวของ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนถูกปลดพ้นตำแหน่ง
ดังนั้น การสั่งฟ้องคดีพันธมิตรชุมนุมหน้ารัฐสภาวัน 7 ตุลาเลือด การรุกคืบสั่งฟ้องคดีชุมนุมหน้าสนามบินสุวรรรภูมิและสนามบินดินเมือง ถือเป็นการล่ามโซ่พันธมิตร อีกทั้ง หากวันนี้ ครม.มาร์ค มีมติ ออก พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อให้อำนาจ ตำรวจ ทำการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯที่ชุมนุมเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินประเทศไทย ถือว่า นายอภิสิทธิ์ ได้สั่งสลายม็อบ ตายรอย อดีตนายกฯสมชาย ที่โหดร้ายยิ่งกว่า หลายเท่าตัว!!!