xs
xsm
sm
md
lg

ตอบโจทย์ “มาร์ค-เทพ” ปาหี่อุ้ม 3 นายพลมือเปื้อนเลือด!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด และถูกแดงถ่อยล้อมทำร้ายที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ถือเป็นโศกนาฏกรรมความขัดแย้งทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ของไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภาทมิฬ ซึ่งฆาตรกรมือเปื้อนเลือดเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เหมือนผักปลายังคงลอยนวลทั้งสามครั้ง


เหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด และปล่อยกุ๊ยรุมทำร้ายประชาชนที่หนองประจักษ์ ก็มีท่าว่าฆาตกรมือเปื้อนเลือดยังคงลอยนวลเหนือกฎหมาย เสมือนว่าเลือดและชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์กลายเป็นสิ่งไร้ค่า เพราะหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติสั่งฟันวินัยและอาญา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.อุดรธานี แล้วก็มีหัวหมู่ทะลวงฟันดาหน้าออกมาปกป้องนายพลทั้งสามอย่างออกนอกหน้าโดยเฉพาะพวกเหล่าคนสีเดียวกัน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งเป็นประธาน ก็ผ่านมติรับอุทธรณ์ พล.ต.อ.พัชรวาท พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการตามเดิมโดยไม่สนใจมติ ป.ป.ช.ซึ่งถูกมองว่าเป็นเหมือนเสือกระดาษเท่านั้น


ย้อนกลับไปก่อนถึงมติอัปยศรับอุทธรณ์ดั่งว่า... ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่างแสดงบทบาทเล่นละครตบตาประชาชนภายใต้โจทก์เดียวกันคือ อุ้ม 3 นายพลมือเปื้อนเลือดให้พ้นผิด


เริ่มจากบทของนายกฯ มาร์ค ที่ถือว่าแสดงได้แนบเนียนสุดๆๆๆกล่าวคือหลัง ก.ตร.มีมติครั้งแรกว่าคำอุทธรณ์ของนายตำรวจทั้ง 3 ฟังขึ้น และไม่ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล พร้อมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณารับนายตำรวจทั้ง 3 กลับเข้ารับราชการ รวมถึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจของ ป.ป.ช.ในการพิจารณาชี้มูลความผิดดังกล่าว

วันนั้น...“นายกฯ มาร์ค” เล่นบทไม่บ้าจี้ทำตามเกม โดยยืนยันว่า"กรณีดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นมาอย่างชัดเจนว่า เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วในอดีตว่า การอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคล จะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษ ดังนั้นจะไปกลับข้อเท็จจริงหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ทำได้เพียงแค่การอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ"


พร้อมๆ กับยกตัวอย่าง “สมมติว่าสอบมาว่าผิดวินัยร้ายแรง มีการลงโทษไล่ออกก็อาจจะอุทธรณ์ให้เป็นปลดออกได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่จะไปอุทธรณ์แล้วกลับสิ่งที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยมาไม่ได้ อันนี้ชัดเจนและมีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งผมกำลังจะแจ้งความเห็นของกฤษฎีกานี้ให้นายสุเทพ ดำเนินการต่อไป”

อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ยังพูดไว้ในครั้งนั้นว่า นายตำรวจทั้ง 3 นายสามารถที่จะไปขอความเป็นธรรมได้ในช่องทางของศาลปกครอง ซึ่งในอดีตก็เคยมีศาลปกครองที่กลับคำวินิจฉัยที่เคยเกิดขึ้นจาก ป.ป.ช. แต่ในส่วนของฝ่ายบริหาร ไม่มีอำนาจที่จะไปกลับคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ แต่หากเป็นศาลปกครองนั้นทำได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกัน

สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 บัญญัติว่า “ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ ก็ได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ในประเด็นที่เกี่ยวกับดุลยพินิจในการชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงของ ป.ป.ช. แต่ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในส่วนการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 90 ระบุว่า “ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจตาม มาตรา 72 สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก” ซึ่งในกรณีของนายตำรวจทั้ง 3 นาย เมื่อถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดวินัยร้ายแรง โทษที่ได้รับจึงมีเพียง 2 สถาน คือ ปลดออกและไล่ออก ซึ่งทั้งหมดถูกลงโทษปลดออก ซึ่งถือเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดแล้ว การอุทธรณ์เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

ด้านบทบาทของ “เทพเทือก” ถือว่ามีท่าทีสนับสนุน และยังเป็นตัวตั้งตัวตี ในการอุ้ม 3 นายพล โดยครั้งหนึ่งให้สัมภาษณ์ในลักษณะหักดิบข้อกฎหมายอย่างชัดเจน เมื่อเขาย้ำว่า “ทุกอย่างว่าไปตามกฎเกณฑ์ กติกา ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ ก.ตร.เป็นประธานในที่ประชุม ดำเนินการในที่ประชุม เมื่อพูดจากันด้วยเหตุผล และเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ก็ดำเนินการไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายจะถูกหรือผิด ก็ต้องมีคนวินิจฉัยที่จะต้องชี้ขาดต่อไป ว่ากันไปตามขั้นตอน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายปฏิบัติ ว่าใครจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร กรณีอย่างนี้ถ้านายกฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้ตนนำเรื่องไปให้ ก.ตร.ทบทวน ตนก็นำเรื่องไปให้ ก.ตร.ทบทวน ส่วน ก.ตร.ทบทวนแล้วจะมีผลอย่างไร ตนก็ทำตามนั้น ไม่มีปัญหาอะไร”

จากปมประเด็นร้อนที่เริ่มต้นด้วยรอยด่างบทบาทของ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก.ตร.เพื่อนชี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เปิดยุทธการณ์ดันทุรังช่วยคนผิดให้พ้นโทษ กลับดำให้เป็นขาว จนสุดท้ายกำชัยชนะ ก.ตร.(เทพเทือก)มีมติรับ 3 นายพลกลับเข้ารับราชการ

ขณะที่ความเดิมก่อนหน้า พี่ชายร่วมสายเลือด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขาถามเสียงดังฟังชัดว่า"น้องชายเขาผิดอะไรหรือ"พร้อมๆ กับได้แสดงบทบาทในการปกป้อง ช่วยเหลือผู้เป็นน้อง อย่างสุดๆถึงขั้นทำการฟ้องร้องสื่อในเครือเอเอสทีวี ผู้จัดการ ที่ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับชีวิตสีกากีฉาวของ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนถูกปลดพ้นตำแหน่ง

วันนี้ หลัง ก.ตร.มีมติ 12 ก.พ.ผู้มีอำนาจสูงสุดอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่ปริปากพูดถึงเรื่องนี้ ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถือว่าได้ทำภารกิจในฐานะประธาน ก.ตร.เสร็จสิ้นแล้ว ส่วน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.พูดเพียงว่า...พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการเลยหรือไม่ ต้องดูในรายละเอียด ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ไม่ได้มีกรอบเวลากำหนดไว้

ดังนั้น จากเรื่องราวหลักฐานข่าวข้างต้น ถือว่าไม่ธรรมดา และสามารถฟันธงได้เลยว่า หาก 3 นายพลไม่มีคนตระกูล วงษ์สุวรรณ รวมอยู่ด้วย เหตุการณ์อุ้มคนผิดจะไม่เกิดขึ้น หรือว่าบทบาทของ “อภิสิทธิ์ และ สุเทพ” เพื่อสนองตอบ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถามว่า น้องชายผมผิดอะไรหรือ?

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.อุดรธานี
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม
กำลังโหลดความคิดเห็น