ดีเอสไอควบคุมตัวผู้ใหญ่บ้าน และอดีตผู้ใหญ่บ้าน แกนนำเสื้อแดงขอนแก่นฝากขังศาล คดีพาพรรคพวกเสื้อแดงขอนแก่นรวมตัวปิดถนนสกัดกั้นเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนของภูธรหนองคาย ขณะกำลังเดินทางเข้า กทม. เพื่อช่วยดูแลความสงบระหว่างเสื้อแดงชุมนุมช่วง เม.ย.53
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัว นายฉวี เข็มทอง อายุ 63 ปี และนายนฤเบศ ปาปะขัง อายุ 65 ปี ผู้ใหญ่บ้าน และอดีตผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่น ที่ 537/2553 และ 538/2553 มาขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.- 7 ก.พ.54 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบพยานอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา
ทั้งนี้ ตามคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25-26 เม.ย. 53 เวลา 06.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนแสดงตัวเป็นแกนนำ (นปช.) พากลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 400-500 คน รวมตัวกันปิดถนนสกัดกั้นการเดินทางของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนของตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ที่กำลังเดินทางผ่านถนนสายชุมแพ-อุดรธานี หน้าตู้บริการประชาชน บึงทามจักจั่น พร้อมกับบังคับให้เจ้าหน้าที่นำรถยนต์ไปจอดรถในสถานีบริการน้ำมัน ต.วังเพิ่ม อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เพื่อไม่ให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ใน กทม.ช่วงที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้เลิกการชุมนุมก็ไม่เลิก จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งภายหลังผู้ต้องหาได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในวันที่ 26 ม.ค.54 เวลาประมาณ 09.00 น. เพื่อมอบตัวแสดงตนต่อเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยกระทำการเป็นหัวหน้าหรือผู้ที่มีหน้าที่ทำการในการมั่วสุม ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ผู้กระทำความผิดไม่เลิก ร่วมกันกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่เกิดอันตราย หรือเสียหายแก่ยานพาหนะ หรือ บุคคล รวมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข่มขืนใจผู้อื่น กระทำการใดให้ผู้อื่นกระทำการใดไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น เป็นความผิดตาม ป.อาญามาตรา 215 วรรค 3, 216, 309 วรรค 2 ประกอบมาตรา 83, พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2549 มาตรา 39, 72 โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยท้ายคำร้องระบุด้วยว่า เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองมีสถานภาพเป็นผู้ใหญ่บ้าน และอดีตผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการควบคุมตัวมาดำเนินคดี จึงไม่มีเหตุคัดค้านการประกันตัว โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว สอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้ฝากขังได้