ปัจจุบัน การก่ออาชญากรรมในสังคมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตามวิวัฒนาการของสังคมและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนไทยลดน้อยลงทุกที ที่ผ่านมาการดูแลป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แหล่งอบายมุขต่างๆอาทิ ตู้ม้า บ่อนการพนัน สถานบันเทิงและสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่มักเป็นภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีอำนาจสืบสวนจับกุมดำเนินคดีโดยตรง แต่ปัญหาต่างๆนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ที่เห็นได้ชัด คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนแออัด ของ กทม.ย่านหัวเมืองใหญ่นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา และต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีกิจการด้านสถานบริการสถานบันเทิง ที่มักจะเปิดเกินเวลา หรือปล่อยให้วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการจนกลายเป็นแหล่งรายได้และเม็ดเงินมหาศาล โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือพูดให้ชัดเจนก็คือสภาพการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคม
ดังนั้นการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ตรงจุด สังคมและคนในชุมชนต้องเข้ามาช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแส ให้กับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เดิมทีหากประชาชนหรือพลเมืองดีพบเห็นการกระทำหรือสิ่งผิดกฎหมาย ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือร้องเรียนไปยังโรงพักหรือสถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งเรื่องราวที่แจ้งเข้าไปอาจได้รับการแก้ไข แต่กับอีกหลายกรณีก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความชัดเจน อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่มีกำลังไม่เพียงพอ เรื่องราวร้องทุกข์ที่ประชาชนแจ้งเข้าไปไม่น่าสนใจ เห็นเป็นเรื่องปกติ บางครั้งก็เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลใกล้ชิดร่วมกระทำผิดเสียเองก็มี
นับจากนี้ชาวบ้านหรือคนในชุมชนที่ไม่นิ่งเฉยกับปัญหาที่พบเจอในชุมชน หมู่บ้านของตนเอง จะได้มีช่องทางใหม่ในการแจ้งเบาะแส ดูแลความปลอดภัยและป้องกันอาชญากรรมผ่านทาง“สน.ยุติธรรม”อีกช่องทางหนึ่ง
โครงการ”สน.ยุติธรรม”เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสบรมราชาภิเษกครบ 60 ปี ที่กระทรวงยุติธรรม ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับแจ้งเบาะแสการกระทำผิด ทั้งอบายมุข สถานบริการ ยาเสพติดและปัญหาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เจ้ากระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวเรือใหญ่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า ต้องการให้ประชาชนในชุมชนที่มีเวลา มีจิตอาสา ได้เข้ามาเป็นหูเป็นตาทำงานในพื้นที่ นอกเหนือจากมี สน.ตำรวจ อยู่แล้วก็มี สน.ยุติธรรม เป็นที่พึ่งเพิ่มขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่ง หากใครพบเห็นปัญหาแจ้งความตำรวจ สน.ไหนแล้วไม่คืบหน้า ก็สามารถแจ้งได้ที่ สน.ยุติธรรม
“เราจะรับแจ้งทุกเรื่อง ทั้งเรื่องยาเสพติด อบายมุข สถานบันเทิง และเรื่องไหนทำได้ก็จะทำเอง หากทำไม่ได้ก็จะประสานตำรวจหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้ แม้ สน.ยุติธรรม ไม่มีอำนาจในการสอบสวน แต่มีอำนาจตรวจสอบ หากใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็จะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ต่อไป”
ทั้งนี้โครงการ“สน.ยุติธรรม”ตั้งขึ้นตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม เปิดตัวครั้งแรก ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2553 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวถึง“สน.ยุติธรรม”ว่า สิ่งที่สะท้อนใจหลายครั้ง คือการละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจนต่อหน้าประชาชนทั้งเรื่องยาเสพติด สถานบันเทิง
อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และสารพัดปัญหา บางเรื่องรับรู้โดยทั่วไปและบางเรื่องเป็นปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัญหามาจากความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง จนประเทศไทยถูกมองว่ามีจุดอ่อนด้านการบังคับใช้กฎหมาย
การแก้ปัญหาโดยภาครัฐทำมาหลายยุคทั้งแก้กฎหมาย ตั้งองค์กรตรวจสอบ แต่ไม่เป็นผล เพราะแท้ที่จริงแล้วคนรู้ปัญหาไม่ใช่รัฐ เพราะประชาชนที่อยู่และสัมผัสกับปัญหาคือผู้รู้ปัญหาที่แท้จริง
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รักความถูกต้องยุติธรรมและพร้อมที่มีจิตอาสา นี่คือประกาศิตของนายกรัฐมนตรี ที่มองหาหนทางเยียวยา แก้ไขปัญหาที่ถือว่าซ้ำซาก เน่าเหม็นและพบเห็นจนชินตาในสังคมไทย
ระยะแรกของการดำเนินการจัดตั้ง สน.ยุติธรรม จะเริ่มจากพื้นที่นำร่องในกทม. 4 แห่ง ได้แก่ เขตดินแดง หลักสี่ ตลิ่งชัน และดุสิต เพื่อทดลองว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และปีหน้าจะดำเนินการเต็มรูปแบบ
สำหรับจังหวัดอื่นๆที่อยู่ในแผนงานได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี แพร่ ลำพูน พิษณุโลก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด โดยมีการวางเป้าหมายว่าภายในปี 2554 จะเปิด สน.ยุติธรรม ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ได้ทั้งสิ้น 12 แห่ง ก่อนขยายไปยังทั่วประเทศ
สำหรับโครงสร้างของ“สน.ยุติธรรม” แต่ละแห่ง มีดังนี้ คือ คณะกรรมการ สน.ยุติธรรมทั้งหมด 9 คน มาจากตัวแทนกระทวงยุติธรรมหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด จำนวน 2 คนและ จากตัวแทนหรือคณะกรรมการชุมชุน จำนวน 7 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 3 ปี
นอกจากนี้ก็มีหัวหน้าสน.ยุติธรรม ฝ่ายบริหารงานทั่วไปฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ และฝ่ายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
ส่วนบุคลากรที่จะมาทำงานให้กับสน.ยุติธรรม คัดจากประชาชนหรือบุคคลที่สนใจพร้อมอุทิศตน เสียสละเวลามาทำงานให้ส่วนรวม ส่วนหนึ่งก็เป็น“สมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม”ที่กระทรวงยุติธรรมได้ ดำเนินการฝึกอบรมและตั้งไว้แล้วกว่า 1.5 หมื่นคน
จากนั้นจะให้การอบรมด้านบทบาท ภารกิจ และความรับผิดชอบโดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมคอยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยวางพื้นฐานด้านบริหารจัดการให้
ส่วนรูปแบบการดำเนินงาน จะจัดหาพื้นที่ในชุมชนตั้งเป็นสำนักงาน สน.ยุติธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมไปประจำและคอยรับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้คำปรึกษาร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นและเกินกว่าหน้าที่ ก็จะประสานหรือส่งเรื่องต่อไป
แต่หากพบว่าเกี่ยวข้องกับสถานบริการสถานบันเทิง อบายมุข และยาเสพติด ก็จะให้ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมดำเนินคดีกับท้องที่ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยกระทรวงยุติรรมได้เปิดสน.ยุติธรรม เฉลิมประเกียรติแห่งแรกแล้ว ที่แฟลตดินแดง อาคาร 14 ซึ่งเป็น สน.ยุติธรรมพื้นที่เขตดินแดง
ดังนั้น“สน.ยุติธรรม”จึงเปรียบเสมือนกระทรวงยุติธรรมขนาดย่อย และเป็นเสมือนแขน ขา ที่จะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการการ ทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท. ทั้งนี้สุดท้าย สน.ยุติธรรม จะประสบความสำเร็จ สามารถถ่วงดุล แบ่งเบาภาระหรือตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งปล่อยปละละเลยมานานกับปัญหาสถานบันเทิง สถานบริการ ยาเสพติด ตลอดจนแหล่งอบายมุขในพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาดเหมือนกับที่ประชาชนคาดหวังหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าสนใจและใคร่ติดตามอย่างยิ่ง