“พีระพันธุ์” เปิด “สน.ยุติธรรม” เพิ่มช่องทางชาวบ้านแจ้งปัญหา “ยาเสพติด-อบายมุข-สถานบันเทิง” หากไปแจ้งตำรวจแล้วไม่ดำเนินการ สามารถแจ้งที่ สน.ยุติธรรม ได้ทุกเรื่อง พร้อมประสาน ป.ป.ท.เอาผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (10 ธ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบนโยบายการดำเนินงาน สน.ยุติธรรม ว่า รูปแบบของการก่อตั้ง สน.ยุติธรรม เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยุติธรรมในระดับชุมชน ตนจึงนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีเวลา มีจิตอาสา และส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรมอยู่แล้วเข้าร่วมงาน โดยให้รวมตัวจัดตั้งเป็นคณะกรรมการ และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลบริหารจัดการ พร้อมทั้งให้ความรู้ ซึ่งบทบาทของ สน.ยุติธรรม จะเปรียบเสมือนกระทรวงยุติธรรมขนาดย่อย นำภารกิจต่างๆ ของกระทรวงยุติธรรมไปเผยแพร่ให้คนในชุมชนรับทราบด้วย
“เราจะให้บุคคลเหล่านี้ เป็นหูเป็นตาทำงานในพื้นที่ เป็นที่พึ่งเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจาก มี สน.ตำรวจ ก็มี สน.ยุติธรรม ซึ่งหากใครไปแจ้งความ สน.ตำรวจไหนแล้วไม่คืบหน้า หรือว่าไม่รู้จะไปหาใครที่ไหน ก็เข้ามาแจ้ง หรือขอความรู้ได้ที่ สน.ยุติธรรม โดยเราจะรับแจ้งทุกเรื่อง ทั้งเรื่องยาเสพติด อบายมุข สถานบันเทิง เรื่องไหนทำได้ก็จะทำเอง หากทำไม่ได้ก็จะประสานตำรวจ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินการให้ เราไม่มีอำนาจในการสอบสวน แต่มีอำนาจตรวจสอบหากใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะแจ้งไปยัง ป.ป.ท.เพื่อดำเนินการต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า ตั้งใจจะให้มี สน.ยุติธรรม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นในปีนี้จะดำเนินการ 12 แห่ง โดยอยู่ที่ กทม.4 แห่ง ได้แก่ ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน และดอนเมือง เป็นโครงการนำร่องก่อน เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และปี 2555 จะดำเนินการเต็มรูปแบบมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตผู้ถูกคุมประพฤติ ตามคำสั่งศาล สามารถไปรายงานตัวที่ สน.ยุติธรรม ได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นการขยายผลต่อไป เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ถูกคุมประพฤติจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล โดยภาระหน้าที่ของการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนกว้างขวาง ในขณะที่มีข้าราชการเพียงแค่หลักหมื่น ซึ่งไม่มีทางที่จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึง ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะเช่นนี้
พร้อมช่วยด้าน กม.7 คนไทยในเขมร หากได้รับร้องขอ
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยในเขมร ว่า ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก เรายังไม่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมในขณะนี้ แต่สิ่งที่เตรียมการไว้คือ การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย หากได้รับอนุมัติเข้าไปดำเนินก็พร้อมทำทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการเหมือนกรณีหนุ่มวิศวกรโดนจับในเขมรเมื่อปีที่แล้วหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กรณีนั้นเป็นการเข้าไปสอบถามความประสงค์ และพบว่าเขาอยากให้เราเข้าไปช่วย แต่กรณีของ 7 คนไทยขณะนี้เรายังไม่ได้รับแจ้งให้เข้าไปช่วย ซึ่งที่สำคัญเรื่องนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องระมัดระวัง