ศาลฎีกาพิพากษา ให้กองสลากฯไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยกว่า 2,508,ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยให้กับ “จาโก” ผู้ได้รับสิทธิจำหน่ายหวยออนไลน์ ระบุ ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 มาตรา 5 ซึ่งกำหนดว่ากิจการร่วมทุนที่มีวงเงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาทจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อน
ที่ห้องพิจารณาคดีศาลฎีกา สนามหลวง วันนี้ (24 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่บริษัทจาโก้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิจำหน่ายสลากการกุศล หรือสลากอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้คัดค้าน ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชดใช้ค่าเสียจำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.43 เนื่องจากกกระทำผิดสัญญา
โดยคดีนี้ศาลแพ่ง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.47 ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโต ฯ ชดใช้ค่าเสียให้บริษัทจาโก้ จำนวน 2,508,593,718 บาท แต่สำนักงานสลาก ฯ ยื่นอุทธรณ์
ศาลฎีกาตรวจสำนวน และประชุมปรึกษาหารือแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สัญญาที่สำนักงานสลาก ฯ แต่งตั้ง บ.จาโก้ ผู้ร้อง เป็นผู้แทนจำหน่ายสลากการกุศลอัตโนมัตินั้น ขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ เห็นว่า เจตนาของพ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่าเนื่องจากการให้สัมปทานและสิทธิกับเอกชนในการลงทุนกับรัฐส่วนใหญ่ให้เป็นไปตามอำนาจของหน่วยงานเดียว หรือรัฐมนตรีว่าการที่ควบคุมหน่วยงานนั้นมีอำนาจตัดสินใจ อนุมัติไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ดังนั้นเพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติการร่วมงานระหว่างรัฐและเอกชนที่มีมูลค่าหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องกระทำภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ( ครม.) จึงสรุปได้ว่า กิจการหรือโครงการใดที่อยู่ใต้บังคับ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องมีมูลค่าหรือทรัพย์สินของโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือไม่ เห็นว่าแม้สำนักงานสลาก ฯ จะมีวัตถุประสงค์ในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลัก แต่การที่สำนักงานสลากให้คำสัญญาจำหน่ายสลากการกุศลอัตโนมัติ กับ บ.จาโก้นั้น มีลักษณะเป็นงานเกี่ยวเนื่องที่เป็นประโยชน์โดยตรงแก่สำนักงานสลาก ฯ ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงเป็นกิจการของรัฐ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และการที่สำนักงานสลากตั้งบริษัทจาโก้เป็นผู้แทนเพื่อประโยชน์ในการออกสลากการกุศลแทนนั้นจึงเป็นการให้ บ.จาโก้ เข้ามาร่วมการงานกับสำนักงานสลากซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ
คดีต้องวินิจฉัยต่อว่า โครงการที่สำนักงานสลาก ทำสัญญากับ บ.จาโก้ ดำเนินการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ต้องคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของโครงการ โดยสัญญานี้ระบุให้ บ.จาโก้ จัดหาเครื่องจำหน่ายสลากจำนวน 5,000 เครื่อง และให้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบหลัก ระบบรองให้ครบถ้วนเรียบร้อย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และค่าบริหารโครงการจะไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอนไว้ในสัญญา แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บ.จาโก้ เคยให้ข้อมูลกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่รับผิดชอบในการสำรวจความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรกมีมูลค่า 1,600 ล้านบาท ส่วนค่าดำเนินการอื่นๆ ทั้งค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าศูนย์โครงการและจัดการระบบคอมพิวเตอร์วงเงินปีละ 400 ล้านบาท ซึ่งมีสัญญาผูกพันต้องดำเนินการ 10 ปี นอกจากนี้ บ.จาโก้ ยังเคยเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงงบดุลการลงทุนครั้งแรกว่ามีถึง 1,7000 ล้านบาท จึงเป็นการลงทุนโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนที่ภายหลัง บ.จาโก้ เคยให้การชี้แจงมูลค่าโครงการดังกล่าวใหม่เหลือเพียง 980 ล้านบาทเศษนั้น บ.จาโก้ ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวภายหลังที่ได้เกิดข้อพิพาทการพิจารณาวงเงินการลงทุนในโครงการว่าเกิน 1,000 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาการไม่เปิดเผยตัวเลขลงทุนที่แท้จริง มีพิรุธ ลักษณะบ่ายเบี่ยงว่าโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท พยานหลักฐานจึงน่าเชื่อว่าข้อมูลที่ บ.จาโก้ ชี้แจงกับทีดีอาร์ไอ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะชี้แจงข้อมูลขณะที่ยังไม่เกิดข้อพิพาท
จึงฟังได้ว่าสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายสลากการกุศลอัตโนมัติระหว่างสำนักงานสลาก ฯ กับ บ.จาโก้ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทเข้าเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ ดังนั้นศาลฎีกา เห็นว่า สำนักงานสลาก ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ทำสัญญาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วเพราะเกี่ยวเนื่องเป็นประโยชน์กับสำนักงานสลาก และโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ ที่จะต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ ดังนั้นเมื่อคู่สัญญายังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ที่จะต้องเสนอครม.พิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์ตลอดจนวิธีดำเนินการโครงการหลังจาก ครม.ได้พิจารณาโครงการ สัญญาดังกล่าวจึงทำขึ้นโดยมิชอบ ขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับทั้งฝ่าย บ.จาโก้ ผู้ร้อง และสำนักงานสลาก ฯ ผู้คัดค้านทำให้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการไม่มีผลบังคับใช้ การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรค 1 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลจะมีอำนาจไม่รับตามบังคับชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ที่ศาลชั้นต้น รับบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้สำนักงานสลาก ฯ จ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโต ฯ โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ
นอกจากนี้ศาลฎีกา เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ฯ มีวัตถุประสงค์ให้การอนุมัติเงินลงทุนไม่ตกอยู่ในอำนาจของบุคคลเดียว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของสำนักงานสลากฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ภายหลังนายสุรัตน์ ศรีวิพัฒน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา 1 รับผิดชอบดูแลสำนวนคดีให้สำนักงาสลาก กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการแล้วหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา โดย บ.จาโก้ ไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใด ๆ อีก ส่วนคำพิพากษาคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในประเด็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับบริษัทล็อกซเล่ย์ ในขณะนี้หรือไม่ นายสุรัตน์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้รับผิดชอบคดีดังกล่าวและไม่ได้เห็นเนื้อหาสัญญาว่าโครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ครม.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ฝ่าย บ.จาโก้ ผู้ร้อง มีเพียงทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษาเท่านั้น โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษายกคำร้องแล้ว พยายามเดินเลี่ยงผู้สื่อข่าว ไม่ยอมตอบคำถามผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด