“ปธ.ทบทวนหวยออนไลน์” ลั่น รัฐบาลไม่เบี้ยวสัญญาเอกชนแน่นอน ระบุใช้สัญญา-ข้อกฎหมาย เปิดช่องเจรจาก่อน ไม่เชื่อจะมีการฟ้องร้องรัฐ เนื่องจากปธ.จีเท็คสหรัฐฯ เข้าใจปัญหาดี ส่วนสัปดาห์หน้าเตรียมเรียก บอร์ด-จนท.กองสลากแจงข้อกฎหมาย หลังตั้งข้อสังเกต มีเอกสาร-ประกาศ เปิดช่องไอ้โม่ง ให้ผู้ค้าตั้งตู้ได้ก่อนมีความชัดเจน
วันนี้(7 ม.ค.) นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ในฐานะประธาณคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางข้อกฎหมายการทบทวนโครงการหวยออนไลน์ แถลงว่า ใน 1-2 วันนี้นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางข้อกฎหมายการยุติโครงการหวยออนไลน์ มีตนเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายกสภาทนายความ และมีผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ อย่างไรก็ตามคณะทำงานชุดนี้ จะไม่เข้าไปดูในเรื่องของปัญหาสังคมเนื่องจากมีหน่วยงานอื่น ๆดำเนินการแล้ว
คณะทำงานจะมีหน้าที่ดูข้อกฎหมายและข้อผูกพันของสัญญา รวมทั้งทางเลือกในการดำเนินการของรัฐบาล เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการมาหลายรัฐบาลและหลากหลายขั้นตอน จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เช่น มติครม.ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีกระบวนการถูกต้องครบถ้วนหรือไม่อย่างไรในข้อกฎหมาย
นายเกียรติ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับหวยออนไลน์ โดยเฉพาะคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(กองสลาก) มาชี้แจงข้อเท็จจริง ว่าขั้นตอนตั้งแต่ต้นปี 2545 ถึงปัจจุบันได้ทำอะไรไปบ้าง มีมติครม.ที่เกี่ยวข้องให้ทิศทางและนโยบายต่อกรรมการกองสลากอย่างไร
“ยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ได้มีธง ผมเห็นคำพูดที่ผ่านสื่อมาว่า อาจจะเบี้ยวสัญญาบ้าง อันนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการเบี้ยวสัญญาโดยเด็ดขาดและจะฟังความจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเต็มที่”
นายเกียรติ กล่าวด้วยว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบกับรัฐ เนื่องจากสัมปทานเกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัดผประเทศไทย) ผู้ให้บริการระบบเกมสลากออนไลน์ ขอยืนยันว่า ทุกอย่างจะปฏิบัติตตามเงื่อนไขของสัญญา เนื่องจากสัญญามีข้อกำหนดชัดเจนทุกฉบับ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ หากเป็นข้อตกลงของสองฝ่าย ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ก็มีข้อกำหนดอยู่แล้วในสัญญา เพราะฉะนั้นการดำเนินการทุกอย่าง ก็จะยึดโยงข้อกำหนดของสัญญาที่มีการลงนามกันไปแล้ว
แต่ทั้งนี้จะต้องดูมติครม. และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย เพราะคู่สัญญาทั้งรัฐและเอกชน ได้มีการปฏิบัติตามสัญญามาระดับหนึ่ง ก็จะกลับไปดูว่าการปฏิบัติตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญามาถึงปัจจุบันดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ครบถ้วนมีการตรวจรับงานถูกต้องหรือไม่ และการตรวจรับงานเป็นอย่างไร ส่วนที่ชมรมสลาก 2 ตัว 3 ตัวจะขอเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วยนั้น ตนคิดว่า ที่ไม่ให้ตัวแทนของกองสลากฯและตัวแทนฯชมรม มาเป็นคณะทำงาน เนื่องจากไม่ต้องการผู้ที่มีส่วนได้เสีย มาเป็นคณะทำงานถือเป็นหลักธรรมาภิบาล
“ประเด็นที่คณะทำงานชุดนี้จะดำเนินการ จะยึดโยงอยู่กับตัวสัญญา ประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ และเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป คณะทำงานชุดนี้จะไม่ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่จะเสนอแนวทางต่าง ๆที่เป็นไปได้ในการดำเนินการในขั้นต่อไป”
นายเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับเงื่อนไขการยกเลิกสัญญาในสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากทำได้มี 3 กรณี ได้แก่ 1.เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย ที่จะไม่ดำเนินการต่อ แต่ต้องมีการชดเชยโดยมีสูตรการชดเชยในสัญญาที่ระบุไว้ชัดเจน 2.ถ้ามีคำสั่งศาลปกครองในช่วงที่มีการลงนามสัญญา ได้มีการร้องเรียนไปยังศาลปกครองหากมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็ขอให้เป็นข้อยุติ และ 3.กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้
ดังนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายไม่ดำเนินการต่อกองสลากฯ จะต้องมาชี้แจง เช่นว่าการชดเชยเป็นอย่างไร จำนวนเงินที่จะชดเชยเป็นอย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบอย่างไร แต่ทั้งนี้จะต้องไปดูว่าแต่ละฝ่ายปฏิบัติตามสัญญามากน้อยแค่ไหนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยที่มีวันเวลาตั้งแต่ลงนามสัญญามาจนถึงวันที่ในช่วงระหว่างทาง ซึ่งมีมติครม.ในปี 2549 ออกมาให้หยุดมติครม.ปี2545 และเมื่อหยุดก็มีความพยายามที่จะออกกฎหมายมารองรับเพื่อนำเข้าสภาฯ แต่กฎหมายฉบับนั้นได้มีมติของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่า บอร์ดกองสลากฯปี 2549 ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป เมื่อกฎหมายตกไปก็มีการดำเนินการกันต่ออีก โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ให้นโยบายในการดำเนินการต่อ ตรงนี้คณะทำงานต้องไปตรวจสอบทุกขั้นตอนในแต่ละช่วงว่า ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือไม่
นายเกียรติ กล่าวต่อว่า ตามนโยบายยุติหวยออนไลน์นั้น ตามสัญญาหากจะยกเลิกจะต้องบอกล่วงหน้าใน 1 ปี แต่สัญญาระบุว่า การคำนวณเงินชดเชย จะคำนวณจากวันที่เริ่มจำหน่ายจริงใน 1 ปี ดังนั้นจะต้องไม่สับสนระหว่างการบอกยกเลิกใน 1 ปี กับวิธีการคำนวณเงินชดเชย ถือเป็น 2 ประโยคที่ต่อกันขึ้นกับการตีความโดยจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอีกครั้ง
ทั้งนี้ยังเชื่อว่า ผู้ประกอบการค่อนข้างที่จะรู้ว่ามีความเสี่ยงจึงระบุในสัญญาไว้ และเชื่อว่าถ้ารัฐบาลปฏิบัติตามสัญญา ให้ความเป็นธรรม ภาคเอกชนน่าจะอยู่ในสถานะที่รับได้ ถ้าคิดว่าไม่มีความเป็นธรรมก็มีสิทธิ์จะเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเติมผ่านกระบวนการอื่น ๆ
นายเกียรติ กล่าวว่า คณะทำงานไม่มีความกังวลแม้ บริษัท จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (สหรัฐอมริกา) จะเข้ามาร่วมทุนและลงทุนในประเทศไทย เพราะหากรัฐบาลปฏิบัติตามสัญญาและเงื่อนไขทุกประการ ภาคเอกชนก็ควรจะมั่นใจ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ และเมื่อเร็วๆนี้ตนก็มีโอกาสพบกับประธานบริษัท จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (สหรัฐอมริกา) ร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่นครนิวยอร์ค โดยได้ทำความเข้าใจว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ และพยายามจะสร้างความชัดเจนให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ตามข้อสัญญาเรื่องผู้จำหน่ายเครื่องจำหน่ายหวยออนไลน์ ตนจะเข้าไปดูอีกครั้งแต่มีข้อสัญญาที่ชัดเจนว่า ถ้าบริษัทจะมีการจ้างช่วงหรือผู้รับเหมาช่วง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคู่สัญญาก่อน ขณะเดียวกันยังแสดงความเห็นใจผู้ค้าที่ติดตั้งเครื่องแล้วกว่า 6,000 ราย ตนจะตรวจสอบดูว่า ทำไมถึงตัดสินใจลงทุน และลงทุนไปเท่าไร และถ้ามีการหยุดดำเนินการจะมีผลกระทบอย่างไร โดยจะทำข้อเสนอแนะเรื่องนี้ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย
“กรณีนี้ จะเข้าไปดูว่าการเปิดให้มีการติดตั้งเครื่องก่อน มาจากประกาศหรือคำสั่งอะไร ของทางกองสลากฯหรือไม่ และการดำเนินการของเขา คืออยู่ดี ๆ ผู้ค้าจะไปดำเนินการเลย โดยที่ยังไม่ได้มีแนวทาง เอกสารหรือประกาศของกองสลากฯอย่างชัดเจน เป็นไปไม่ได้ ผมเชื่อว่า แต่ละคนนั้นเขารู้ความเสี่ยง แต่ที่อยู่ดีๆไปลงทุน นั่งรอเลย มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันจะต้องมีอะไรบางอย่าง เรื่องนี้กองสลากจะต้องมาชี้แจง”นายเกียรติกล่าว
ประธานคณะทำงานทบทวนหวยออนไลน์ กล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวค่าชดเชย 3พันล้านบาทและค่าเสียโอกาสกว่าหมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ยังไม่มีการเรียกร้อง เพียงเขาบอกว่าได้ลงทุนไปเท่าไร แต่เงินที่ลงทุนไปนั้นจะต้องสามารถยืนยันได้ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลขลอย ๆต้องสามารถตรวจสอบได้ และต้องมีหลักฐานว่า การตัดสินใจของเอกชนอยู่บนพื้นฐานอะไร เชื่อว่าจริงๆแล้วเอกชนก็ไม่ต้องการที่จะฟ้องรัฐบาลหากมีทางออกและสอดคล้องกับเงื่อนไขของสัญญา
“ทางคณะทำงานก็ต้องเข้าไปดูว่า กองสลากฯได้มีการส่งสัญญาณไปให้เขา(เอกชน) ดำเนินการหรือไม่อย่างไร หรือเขาเลือกที่จะเสี่ยงดำเนินการเอง ตรงนี้ผมก็ยังไม่ทราบ ต้องเข้าไปดูหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดูการสื่อสารกันระหว่างกองสลากฯกับคู่สัญญา ว่าเป็นการสื่อสารโดยวิธีไหนและมีหลักฐานอย่างไร”
นายเกียรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีการฟ้องร้องอะไรกัน เพราะทุกอย่างสามารถเจรจาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่จะใช้ในการเจรจาและการปฏิบัติตามสัญญาของแต่ละฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา โดยจะหารือกับเอกชนและกองสลากฯด้วย