xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : รัฐบาล จะ “เดินหน้า” หรือ “ยกเลิก” หวยออนไลน์ดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธื์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการมีหวยออนไลน์
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ดูเหมือนว่า “โครงการหวยออนไลน์”ถูกพูดถึงเมื่อไหร่ ก็จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ร่ำไป ล่าสุด นายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาส่งสัญญาณชัดว่าไม่อยากให้หวยออนไลน์ผุดขึ้นในเมืองไทย แต่อาจต้องแลกด้วยการจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนเป็นเงินนับหมื่นล้าน ขณะนี้รอ คกก.ศึกษาข้อกฎหมายก่อนฟันธงว่าจะยกเลิกแน่หรือไม่ ก่อนจะได้บทสรุป ลองมาฟังความเห็นของทั้งฝ่ายที่ต้องการและไม่ต้องการหวยออนไลน์ดูว่า เหตุผลใครจะเข้าท่ากว่ากัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

และแล้ว โครงการหวยออนไลน์ หรือการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ด้วยเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ที่เงียบหายไประยะหนึ่ง ก็กลับมาได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาส่งสัญญาณเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา(3 ม.ค.)ว่า ไม่ต้องการให้มีโครงการดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง ทำให้การพนันขยายตัว จำนวนผู้เล่นหวยจะเพิ่มมากขึ้น และการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้ามาสู่วงจรนี้ จะทำได้ยาก นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันด้วยว่า มีข้อมูลวิจัยชี้ว่า การมีหวยออนไลน์ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำให้หวยใต้ดินลดลงได้

อย่างไรก็ตาม การจะระงับหรือยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ ก็ทำได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ที่อาจถูกบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายหวยออนไลน์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ซึ่งบริษัทเอกชนที่ว่าก็คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด หรือแอลจีที บอกว่า เม็ดเงินค่าปรับที่รัฐบาลต้องจ่ายอาจอยู่ในหลักหลายพันหรือนับหมื่นล้านบาท ด้วยเหตุนี้ นายอภิสิทธิ์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูในแง่กฎหมายว่า จะทำอย่างไรได้บ้างหากต้องการยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทยเป็นประธาน พร้อมให้เวลาคณะกรรมการศึกษา 30 วัน

ด้านนายตรีจักร ตัณฑ์ศุภศิริ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอลจีที ดูเหมือนจะไม่อยากเชื่อว่า นายกฯ ต้องการยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ จึงรีบส่งสัญญาณว่า บริษัทจะยังคงยึดมติของบอร์ดสำนักงานสลากฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2552 ที่ให้บริษัทเตรียมดำเนินการจำหน่ายหวยออนไลน์ให้ได้ภายใน 90 วัน นายตรีจักร ยังพยายามพูดถึงข้อดีของหวยออนไลน์ด้วยว่า “สลากออนไลน์ ไม่ใช่เอทีเอ็ม ไม่ใช่ใครก็ตามสามารถซื้อได้ มีผู้ควบคุมเครื่องหรือคนขายอยู่ ต้องแจ้งผู้ขายเพื่อซื้อ ซึ่งผู้ขายก็ได้รับนโยบายจากสำนักงานสลากฯ ว่า ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีสลากออนไลน์ หลายคนก็หันไปซื้อหวยใต้ดิน ประเทศชาติไม่ได้อะไร ภาษีก็ไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เราไม่ได้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกที่ถูกกฎหมายให้กับประชาชน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสสังคมมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านการยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ โดยผู้ที่เห็นว่าควรยกเลิก ได้แก่ เครือข่ายต่อต้านหวยตู้ออนไลน์ ซึ่งเป็นคนพิการ ได้รวมตัวกันไปมอบดอกไม้ให้นายอภิสิทธิ์เพื่อเป็นกำลังใจที่คิดล้มเลิกโครงการหวยออนไลน์ ส่วนผู้ที่คัดค้านการยกเลิกหวยออนไลน์ ก็ได้แก่ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยจันทรเกษม ซึ่งเคยศึกษาปัญหาหวยใต้ดินและสนับสนุนให้มีการออกหวยบนดิน ก็ได้ออกมายกตัวอย่างว่า ช่วงที่มีการออกหวยบนดินสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชัดเจนว่าราคาสลากกินแบ่งฯ ลดลงอย่างมาก ส่วนเงินหมุนเวียนในระบบหวยใต้ดินซึ่งสูงประมาณ 3 แสนล้านบาทก็ลดลงเช่นกัน นายสังศิต ยังอ้างด้วยว่า ที่นายกฯ ห่วงเรื่องหวยออนไลน์จะมอมเมาเยาวชนนั้น นายกฯ อาจจะได้ข้อมูลมาไม่ชัดเจน และว่า เยาวชนไม่ชอบเล่นหวย แต่ชอบเล่นพนันบอล ดังนั้นรัฐบาลน่าจะไปแก้ปัญหาพนันบอลมากกว่า นายสังศิต ยังชี้ด้วยว่า หากยกเลิกหวยออนไลน์ จะมีคน 2 กลุ่มได้ประโยชน์ 1. กลุ่มเจ้ามือหวยใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่เป็นฐานหัวคะแนน ซึ่งเคยมีกำไรจากธุรกิจนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.กลุ่มยี่ปั๊วสลากกินแบ่งฯ ที่ได้ประโยชน์จากการขายสลากฯ เกินราคากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นายสังศิต ยังเตือนนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า การประกาศไม่เห็นด้วยกับการออกหวยออนไลน์ ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและจะทำให้เสียคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับฝ่ายค้าน

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาตำหนิรัฐบาลที่คิดล้มเลิกโครงการหวยออนไลน์เช่นกัน โดยบอกว่า ที่นายกฯ อ้างว่าไม่อยากให้มีอบายมุขเกิดขึ้น ถือเป็นตรรกะที่ผิด เพราะการทำหวยบนดินจะช่วยลดจำนวนเจ้ามือหวยใต้ดินให้หมดไปต่างหาก

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการยกตรรกะที่ว่า การมีหวยออนไลน์จะช่วยแก้ปัญหาหวยใต้ดิน เพราะหากแก้ปัญหาหวยใต้ดินไม่ได้ แล้วให้แก้ด้วยการทำให้หวยเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ถ้าเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องใช้ตรรกะนี้กับปัญหายาเสพติดด้วยอย่างนั้นหรือ

ด้านที่ประชุมบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีมติเมื่อวานนี้(5 ม.ค.) ให้สำนักงานสลากฯ ชะลอการเดินหน้าโครงการหวยออนไลน์ออกไปจนกว่าคณะทำงานชุดที่นายกฯ ตั้งขึ้นที่มีนายเกียรติเป็นประธาน จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ควรเดินหน้าหรือยกเลิกหวยออนไลน์

ก่อนจะถึงเวลานั้น ลองมาหยั่งกระแสสังคมดูว่า อยากให้รัฐบาลเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการหวยออนไลน์กันแน่?

พระพิศาลธรรมพาที หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว และประธานมูลนิธิสวนแก้ว แม้จะไม่ฟันธงว่า รัฐบาลควรยกเลิกหรือเดินหน้าโครงการหวยออนไลน์ แต่ก็ส่งสัญญาณว่า แม้หวยจะเป็นเรื่องมอมเมาเยาวชน แต่หากรัฐบาลยกเลิกแล้วต้องเสียค่าปรับเป็นหมื่นๆ ล้านให้บริษัทเอกชน ก็ถือว่าไม่คุ้มกัน เพราะรัฐมีแต่เสียกับเสีย สู้มีหวยออนไลน์ไม่ได้ ยังทำให้รัฐได้ประโยชน์บ้าง

“คนที่วิจารณ์ค่อนข้างจะมีน้ำหนัก คนทำการวิจัยเรื่องนี้มาก่อนอย่าง อ.สังศิต เขาได้ทำวิจัยมานาน ก็ค่อนข้างจะมีเหตุผลมากกว่าคนอื่น คนอื่นอาจจะคาดคะเนเอา แต่ไม่ได้ผ่านการทำวิจัยมาเหมือน อ.สังศิต ซึ่งตรงนั้นก็น่าจะลำบากใจ เพราะถ้าโดนปรับหมื่นล้าน แล้วเอาเงินใครไปปรับ ถ้าสมมติเขาฟ้อง 3 พันล้าน ถ้าไม่เดินหน้า เพราะรัฐบาลก่อนหรือใครก็แล้วแต่ที่ไปทำอะไรไว้ แล้วพอมานี่ก็มาถอย ต่อไปถ้าเขาสมมติว่า ฟังเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการกลบกระแส จุดขึ้นมาวูบ แล้วก็คงจะเปลี่ยน ไม่กล้าที่จะไม่เดิน ก็มองดูก็มันลำบาก ถ้าตรงนี้เป็นเกมการเมือง เพราะทุกวันนี้การเล่นการเมืองแบบเกมการเมืองมันมากกว่าการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ถ้าหากว่ายังใช้แผนกลบข่าว สร้างข่าว ปิดข่าว ทำกระแสข่าวให้ตรงนี้เกิดกลบข่าวอีกส่วนหนึ่ง ความปริร้าวการแก้ไข รธน.อะไรก็ตาม มันมีอะไรเชื่อมโยงกันเยอะ ถ้ามองกันตามรูปการณ์ว่า ถ้าจริงใจอย่างนายกฯ ก็ดีที่เกรงว่าเด็กและเยาวชนจะไปติด แต่ถ้าเป็นไปอย่างอื่นก็ไม่จริงใจกันก็ลำบาก ก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคอยตั้งท่าเอามาเป็นประเด็นเผารัฐบาล เผาประเทศเป็นอย่างนี้ก็ลำบาก เพราะถ้าจะทำ ไม่ทำ มันก็มีส่วนเสียส่วนได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าถอยไป หวยใต้ดินก็ลำพองกินคะนองกันเอิกเกริกต่อไป มันก็มีตัวได้ตัวเสีย แต่ชั่งดูเถอะ อันไหนจะได้จะมากจะเสียกว่ากันก็ต้องเอาส่วนนั้น ไอ้เรื่องคนไทยจะเล่นการพนัน ทำยังไงก็เล่น เพียงแต่เล่นแล้ว รัฐบาลได้ประโยชน์บ้าง ประเทศชาติได้ประโยชน์ เอามาทำประโยชน์บ้าง ไม่ใช่เล่นกันแล้วไปรวยอยู่ที่เจ้ามือ ไปรวยอยู่ที่นายทุนกลุ่มเล็กๆ อันนี้ก็น่าเสียโอกาสเป็นหมื่นๆ ล้าน เป็นแสนๆ ล้าน ถ้าคิดได้คิดเสียดีแล้ว เอาอันไหนมันพอมีได้บ้าง ไม่ใช่เสียบวกเสีย แต่มันมีบวกได้ ก็น่าจะต้องทำ แต่ถ้ามันเสียมาก ก็ต้องหยุด อันนี้เป็นหลักอยู่แล้ว”

“(ถาม-แสดงว่า หลวงพ่อมองว่า หวยออนไลน์จะว่ามอมเมาเยาวชนก็ใช่ แต่ถ้ารัฐบาลต้องเสียเงินไปเป็นหมื่นๆ ล้านให้เอกชนเพื่อยกเลิกเนี่ย..(ยังถามไม่จบ หลวงพ่อตอบขึ้นมาก่อน) อย่างยั้งไอ้นั่นให้อยู่สิ ถ้ายั้งไอ้ใต้ดินอยู่ได้ ทำให้มันเด็ดขาด ปราบมันได้ อย่างนี้ดีแน่นอน แต่ถ้าหมดตัวนี้ ไปโผล่ตัวโน้นแล้วทำไง แล้วตัวโน้นโผล่ไม่ได้อะไรด้วย รัฐไม่ได้อะไรเลย ก็อย่างที่ อ.สังศิตได้ทำวิจัยไว้มันก็น่าคิด ถ้ามองดูตามตัวนั้นมันก็เห็นชัดว่า รัฐไม่ได้อะไรเลย”


ขณะที่นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการออกหวยออนไลน์ เพราะนอกจากจะทำให้จำนวนคนเล่นหวยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่มีสถานศึกษาทำการวิจัยแล้วพบว่าประชาชนหนุนการออกหวยออนไลน์นั้น อยากถามว่า สถาบันนั้นได้งบวิจัยมาจากไหน จากสำนักงานสลากฯ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการวิจัยนั้นไม่ได้ทำเพื่อรับรองความต้องการออกหวยออนไลน์ของสำนักงานสลากฯ

“ผมคิดว่า การที่จะมีหวยตรงนี้ มันแน่นอน มันไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้นอยู่แล้ว ในทัศนะผม แต่มันจะทำให้มันแย่ลงหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าจำนวนของคนเล่น มันน่าจะเพิ่ม และที่สำคัญคือ มองเรื่องการเล่นหวยเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้วมันก็จะเข้ามาสู่วิถีชีวิต และในปัจจุบันนี้ เรื่องอย่างนี้เนี่ยมันรอบๆ ตัวคนมากแล้ว เราไม่ต้องไปพูดถึงเด็กและเยาวชน เราพูดถึงทั่วๆ ไปเนี่ย ผมว่าสิ่งที่มันเป็นภาวะที่มันเป็นพิษเนี่ยมันมีมากแล้ว และวัฒนธรรม จริงๆ แล้วการเล่นหวยหรือแม้แต่การพนันอะไรของเราก็คงจะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมในเชิงที่เล่นเอารวย เล่นเพื่อเสี่ยงโชคเพื่อรวย บางที่บางแห่งเราจะเห็นว่าเขาเล่นเนี่ย เขาเล่นเป็นนันทนาการ เขาเล่นเป็นความสุข ของเรามันไม่ได้เล่นเป็นความสุข เล่นเพื่อจะเอา ดังนั้นตรรกะที่บอกว่า ผมได้ฟังในทำนองว่า เด็กและเยาวชนเนี่ยเขาไม่เล่นหวยหรอก ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเล่นบอล คือเขาไม่เล่นน่ะดีอยู่แล้ว เราก็ไปจัดการเรื่องบอลซะให้มันมีน้อยหน่อยหรือหมดไปเลย แต่ถ้าเรามีหวยที่ได้รับการการันตี ได้รับความชอบธรรมในการเล่น มันก็ มันจะมีหลักประกันอะไรว่าเราจะห้ามไม่ให้เขาเล่น และถ้ามีเหมือนกับรัฐเป็นเจ้ามือ เขาก็ต้องคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด เขาก็เล่นได้ ทั้งๆ ที่เขาก็หาเงินเองไม่ได้ และผมคิดว่าการตัดสินใจนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เราจะให้สังคมเดินไปทางไหน เพราะเรื่องแบบนี้ เวลาที่มันเกิดแล้ว โอกาสที่จะให้ไปลดในอนาคตเนี่ย มันไม่มีทาง มันมีแต่เพิ่มขึ้น”

“อย่าลืมว่าที่ผ่านๆ มาเนี่ย คนที่เล่นหวยแล้วก็ได้รับผลกระทบมาถึงเด็กและเยาวชนมันก็มากอยู่แล้วนะ ก็เงินที่แทนที่จะเลี้ยงลูกก็ไปเล่นหวย มันมากอยู่แล้วนะ และถ้าเกิดว่าเขา มันเป็นเรื่องถูกต้อง เขาก็เล่นต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่เด็กกลับมาเล่นด้วย มันก็จะไปกันใหญ่ และผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า บางทีการทำงานสำรวจข้อมูลอะไรต่างๆ ต้องไปดูว่าผู้สำรวจข้อมูลนั้น ได้รับงบประมาณในการสำรวจมาจากไหนเหมือนกัน อย่างสำรวจข้อดี-ข้อเสียเนี่ย บางทีงบประมาณก็มาจากกองสลากในการให้ไปสำรวจ ให้ไปทำงานวิเคราะห์อะไรต่างๆ บางทีผมรู้สึกเองรู้สึกว่าบางทีงานต่างๆ ที่ออกมาเป็นผลสำรวจที่ได้งบมาจากกองสลากบางทีมันเป็นเรื่องของงานที่เพื่อมารับรองว่าเป็นความถูกต้องที่กองสลากจะตัดสินใจทำซะมากกว่าหรือเปล่า”


ด้าน อ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็พูดถึงโครงการหวยออนไลน์ว่า การจะบอกว่าควรเดินหน้าหรือยกเลิก เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของคน และค่อนข้างพิสูจน์ยากว่าหวยออนไลน์มีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า การชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ไม่ควรดูเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องให้น้ำหนักทางสังคมด้วย

“ผมว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องซึ่ง คือมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกน่ะตอนนี้ คือมันพิสูจน์ยากน่ะว่า ข้อดี-ข้อเสียมันต่างกันอย่างไร ต่างคนก็ต่างอ้างงานวิจัยหรืออะไรต่างๆ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มัน ผมคิดว่าก็ไม่ละเอียดหรอก ก็คงสำรวจเอาเท่าที่จะทำได้ เพราปัญหามันก็ค่อนข้างซับซ้อน ปัญหามัน จิตวิทยาของคนเล่นเนี่ยพูดยากน่ะ มันจะยิ่งเล่นมากขึ้นหรือเปล่า แต่อารมณ์ความรู้สึกของคน ก็คือมันมอมเมาน่ะ แต่ความจริงแล้ว ถ้าพูดถึงมอมเมามันก็มอมเมาทั้งหมดน่ะ หวยทุกชนิดก็มอมเมาทั้งหมด มันก็เลยยุ่งนิดหน่อย (ถาม-สุ้มเสียงของนายกฯ ก็บอกว่าพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ล็อกซเล่ย์ ตรงนี้ อ.คิดว่ามันคุ้มหรือแลกกันได้มั้ย ถ้าเกิดฟังเหตุผลของท่านนายกฯ ?) ถ้ามันมีเหตุผลทางสังคมว่า มันเสียหายมากกว่าทางเศรษฐกิจก็อาจจะต้องยอมเสีย ก็อย่างที่คนผู้พิการที่เขาขายสลากเขายังบอกเลยว่า ก็ไม่เห็นยากอะไรเลย ก็ออกหวยงวดพิเศษมาเอาเงินมาใช้หนี้ก็ได้ ซึ่งมันก็ฟังดูตลกดี เพราะเงินทุกอย่างมันก็มาจากประชาชนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเงินจากภาษีหรือเงินหวยอะไรก็ตามแต่ แต่เรื่องนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักทางสังคม คือจะไปเอาเฉพาะเศรษฐกิจอย่างเดียว แล้วเราเสียดายเงินที่ต้องทำ มันก็ลำบาก พูดยาก”

อ.วิทยากร ยังแนะรัฐบาลด้วยว่า ก่อนตัดสินใจเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ ควรพยายามหาข้อมูลมากกว่านี้ โดยหาคนที่เป็นกลางมาทำวิจัยหรือสำรวจ เพื่อจะได้ตัดสินใจบนข้อมูลที่เชื่อถือได้ และว่า ไม่อยากให้ใครหนุนหวยออนไลน์ โดยเลียนแบบต่างประเทศว่า ประเทศอื่นมี เราก็มีได้ไม่เห็นเป็นไร ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมด้วย รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ปัจจัยแค่ว่าถูกต้องตามกฎหมายอย่างเดียว เพราะการที่เราจะพัฒนาประเทศ เราต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพด้วย!!
นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาข้อกฎหมายเรื่องหวยออนไลน์
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผอ.โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต ม.จันทรเกษม คัดค้านการยกเลิกหวยออนไลน์
นายตรีจักร ตัณฑ์ศุภศิริ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับจ้างจัดหาติดตั้งเครื่องจำหน่ายหวยออนไลน์
ลักษณะหวยออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น