xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืน! คุก 10 ปี “เกริกเกียรติ” โกงบีบีซีพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก"เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์"อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี 10 ปี ปรับ 2,264 ล้านบาท และให้ร่วมกับพวกชดใช้เงินจำนวน 1,132 ล้าน ในคดียักยอกทรัพย์ - ทุจริตปล่อยกู้ บ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ ด้าน “เกริกเกียรติ” มาศาลด้วยสีหน้าอิดโรย พร้อมสวมหน้ากากอนามัยเพราะอยู่ระหว่างรักษาโรคมะเร็ง



วันนี้ ( 26 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 601 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่4714/2539 ,5443/2539 และ 1604 /2540 คดีหมายเลขแดงที่ 212-214/2546 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 และ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายพิเศษ พานิชสมบัติ อดีตเจ้าหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์ , นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.บีบีซี , บริษัทซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด , น.ส.สุนันทา หาญวรเกียรติ อดีตกรรมการบริษัทซิตี้ ฯ , นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี. และนายเทอร์รี่ อีสเตอร์ อดีตกรรมการบริษัทซิตี้ ฯ เป็นจำเลย 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่า 1,657 ล้านบาท และเป็นกรรมการซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานของธนาคาร กระทำผิดหน้าที่ ร่วมกับพวกเบียดบังทรัพย์สินไปโดยทุจริตและรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 , 353 , 354 , 357 และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3 , 4 , 307, 308 , 309 , 311,313 ,315 และ 334 กรณีระหว่างวันที่ 10 ก.พ. - 20 ก.ค. 2538 นายเกริกเกียรติ ได้อนุมัติเงินสินเชื่อให้กับ บ.ซิตี้ เทรดดิ้ง ฯ โดยทุจริต จำนวน 1,657 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สินเชื่อได้เพียง 30 ล้านบาท โดยจำเลยยังร่วมกันประเมินราคาหลักทรัพย์ที่ดินสูงเกินกว่ามูลค่าความเป็นจริง

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 48 ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ 10 ปี ปรับ 2,264 ล้านบาท และปรับบริษัทซิตี้ เทรดดิ้ง ฯ จำเลยที่ 3 จำนวน 1 ล้านบาท ส่วน น.ส.สุนันทา กรรมการบริษัทซิตี้ ฯ และ นายเทอร์รี่ กรรมการบริษัทซิตี้ ฯ จำเลยที่ 4 และ 6 ให้ จำคุกคนละ 7 ปี ปรับคนละ 1 ล้านบาท และให้จำเลยที่ 2,4 และ 6 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,132 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.25 ต่อปี คืน ธ.บีบีซีด้วย ส่วนนายเอกชัย อดีตผู้ช่วย กก.ผู้จัดการใหญ่ จำเลยที่ 5 ให้จำคุก 8 ปี ปรับ 1 ล้านบาท พร้อมให้ชดใช้เงิน 75 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.25 ต่อปีคืน ธ.บีบีซี ด้วย สำหรับนายพิเศษ จำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจาก ทางนำสืบโจทก์ ยังไม่ชัดเจนว่านายพิเศษ ร่วมลงชื่ออนุมัติสินเชื่อดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยเพิ่ม

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษหารือแล้วเห็นว่า นายพิเศษ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประเมินราคาทรัยพ์ ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งการประเมิน โดยรู้อยู่แล้วว่าราคาที่ดินนั้นสูงเกินกว่าราคาท้องตลาดที่แท้จริงถึง 50 เท่า แสดงให้เห็นว่า นายพิเศษ จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะช่วยเหลือ บ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ จำเลยที่ 3 ในการกระทำความผิด ส่วนนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อเกินกว่าวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง และการอนุมัติมีลักษณะไม่น่าที่จะได้รับคืน หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันมีมูลค่าต่ำกว่าสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติมากอย่างเปรียบเทียบกันมิได้ รวมทั้งนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมจัดตั้ง บ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ จำเลยที่ 3 ด้วย ย่อมส่อแสดงว่า จำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อไปโดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบอันเป็นการทุจริต สำหรับ น.ส.สุนันทา จำเลยที่ 4 และ นายเทอร์รี่ จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ จำเลยที่ 3 และเป็นผู้ขอสินเชื่อเปิดบัญชีกระแสรายวันและสั่งจ่ายเช็คในนามบ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ จำเลยที่ 3 ภายหลังโจทก์ร่วมอนุมัติสินเชื่อให้ บ.ซิตี้ เทรดดิ้ง จำเลยที่ 3 น.ส.สุนันทา จำเลยที่ 4 และ นายเทอร์รี่ จำเลยที่ 6 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินออกจากบัญชี บ.ซิตี้ เทรดดิ้งฯ จำเลยที่ 3 จนหมดบัญชี พฤติกรรมของ น.ส.สุนันทา จำเลยที่ 4 และ นายเทอร์รี่ จำเลยที่ 6 เป็นการร่วมทำผิดกับนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้ง 6 ในสถานใด แม้ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้ง 6 เคยกระทำความผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำผิดของจำเลยทั้ง 6 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและประชาชนผู้ฝากเงินจำนวนมาก เป็นความผิดร้ายแรง บ่อนทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่จะได้รับโทษหนักเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นที่คิดจะกระทำความผิด ส่วนที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้ง 6 ชำระดอกเบี้นนั้น ตาม ป.วิอาญา ม. 43 พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาในส่วนแพ่งแทนผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เปิดช่องให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้ขอดอกเบี้ยมาในฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยร้อยละ 17.25 ของเงินต้นที่ต้องคืนโจทก์ร่วม

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ฐานความผิดเป็นว่า นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 2 กระทำผิด ป.อาญา ม.352-354 ประกอบ 83 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ม.4 , 307 ,308 ,311 ซึ่งมีโทษจำคุกเหมือนกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2,264 ล้านบาท ส่วนนายพิเศษ จำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า นายพิเศษ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อาญา ม. 352-354 ประกอบ 86 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ม. 4 , 307-309 และ 311 ลงโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1 ล้านบาท พิพากษายืน ว่า บ.ซิตี้เทรดดิ้ง จำเลยที่ 3 , น.ส.สุนันทา จำเลยที่ 4 และ นายเทอร์รี่ จำเลยที่ 6 กระทำผิด ป.อาญา ม.352 ประกอบ 83 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ม.4, 307-308, 311 และ 315 ตามที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ บ.ซีตี้เทรดดิ้ง จำเลยที่ 3 จำนวน 1 ล้านบาท และจำคุก น.ส.สุนันทา จำเลยที่ 4 และ นายเทอร์รี่ จำเลยที่ 6 เป็นเวลาคนละ 7 ปี ปรับ คนละ 1 ล้านบาท

ส่วน นายเอกชัย จำเลยที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงดทษจำคุก 8 ปี ปรับ 1 ล้านบาท นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาแก้เป็น ให้ลดโทษจำคุกนายเอกชัย จำเลยที่ 5 เหลือจำคุก 5 ปี ไม่มีโทษปรับ และพิพากษาแก้ศาลชั้นต้นที่ให้ จำเลยที่ 2-6 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,132 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.25 ต่อปี และกำหนดวงเงินต้นเฉพาะจำเลยที่ 5 จำนวน 75 ล้านบาท เป็นให้ จำเลยที่ 1-4 และ 6 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,132 คืนแก่โจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 17.25 เพียงแต่ผู้เดียว นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับ นายพิเศษ จำเลยที่ 1 และนายเทอร์รี่จำเลยที่ 6 ที่ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษามานานเกินกว่า 1 เดือน แล้วไม่มาตามกำหนด เชื่อว่ามีพฤติการ์หลบหนี จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับมารับโทษและชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ภายหลังนายเกริกเกียรติ ซึ่งยังมีปัญหาสุขภาพต้องสวมหน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูก ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสดรวมมูลค่า 25 ล้านบาทขอประกันตัวระหว่างฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)หรือบีบีซี ที่ร่วมกับนายเกริกเกียรติ กับพวกกระทำผิดคดีนี้ อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 ได้ยื่นฟ้องนายราเกซ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3054/2552 ซึ่งนายราเกซ ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น.

ต่อมาศาลได้อนุมติคำร้องขอปล่อยตัวที่นายเกริกเกียรติยื่นประกันตัวโดยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสดรวมมูลค่า 25 ล้านบาท โดยตีราคาประกัน 25 ล้านบาทและสั่งห้ามนายเกริกเกียรติเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก เกริกเกียรติ 10 ปี คดีทุจริตปล่อยกู้ 1.6 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น