ดีเอสไอร่วมมือกับ ก.ล.ต.ประสานแก้ปัญหาการอายัดทรัพย์ของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่จะหมดอายุการอายัดต้นปีหน้า เพื่อให้มีการดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้ได้อีกต่อไป มีทั้งของอดีตร มช.พาณิชย์ “สุริยา ลาภวิสุทธิสิน” ในสมัยรัฐบาลทักษิณกับพวก 12 คน มูลค่า 344.7 ล้านบาท และของอดีตผู้บริหาร บมจ.เอส.อี.ซี.กับพวกรวม 5 ราย มูลค่าประมาณ 4.2 ล้านบาท
วันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เปิดเผยว่า วานนี้ (23 ธ.ค.) ดีเอสไอได้มีการประชุมแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน ในคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ผ่านมาดีเอสไอกับ ก.ล.ต.ทำงานไม่ประสานกันหรือมีเกาเหลากันนั้น ขอยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจในการทำงาน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ตกลงกันว่าจะทำงานกันอย่างบูรณาการและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกัน รวมทั้งจะมีการร่วมกันทำงานแก้ปัญหาสำคัญ 2 คดี โดยใช้มาตรการยึดอายัดทรัพย์ ฟ้องคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีความคิดที่จะตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ให้มีความคืบหน้า ซึ่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์มีลักษณะพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องร่วมมือทำงานและบูรณาการกันอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การประชุมหารือ แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับทางสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ประสานขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งรัดการดำเนินคดีอาญา ตาม ม.267 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลก่อนที่ระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินจะสิ้นสุดลง เพื่อมิให้ผู้ถูกอายัดทำการถอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินออกไปดังนี้ คือ 1.กรณีอายัดทรัพย์สินของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับพวก จำนวน 12 คน มูลค่าความเสียหาย 344.7 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนด อำนาจการอายัดทรัพย์ไว้ 360 วัน ตาม ม.267 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 3 ม.ค.2553
ทั้งนี้ คาดว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอให้อัยการพิจารณาและสั่งฟ้องคดีได้ก่อน วันที่ 7 มี.ค.2553 ซึ่งในส่วนของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่จะต้องยึดอายัดไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา ได้แก่เงินในบัญชีจากธนาคารบางราย รวมเป็นเงิน 310 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะใช้อำนาจตามตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ม.24 เพื่อขยายเวลา การยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไปอีก โดยจะให้สำนักงานก.ล.ต.มาให้การยืนยันว่าทรัพย์ที่จะให้ยึดหรืออายัดนั้นมีทรัพย์สินใดบ้าง ที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด ส่วนตัวนายสุริยา ผู้ต้องหานั้น ทราบว่าขณะนี้หลบนี้อยู่ต่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้ และคดีดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา มีอายุความนาน 10 ปี
2.กรณีอายัดทรัพย์ของนายสมพงษ์ วิทยารักสรรค์ อดีตผู้บริหาร บมจ.เอส.อี.ซี.กับพวกรวม 5 ราย มูลค่าประมาณ 4.2 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดอำนาจการอายัดทรัพย์ 360 วัน ในวันที่ 3 ม.ค.2553 ซึ่งทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด แต่เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจัดส่งเอกสารให้ไม่ครบถ้วน ประกอบกับเมื่อได้รับเอกสารแล้วพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต้องทำการตรวจสอบข้อมูลในเอกสารดังกล่าว ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ วิทยารักสรรค์ และผู้ต้องหาบางรายได้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ยังไม่สามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ ดังนั้นถึงแม้การสอบสวนจะเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ทันภายในวันที่ 3 ม.ค.2553 เนื่องจากไม่ได้ตัวผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษเพื่อขยายเวลาการยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไปอีก โดยจะพิจารณาว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือใช้ในการกระทำความผิด
สำหรับคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ นั้นมีจำนวนมากหลายคดี ซึ่งไม่สามารถจำรายละเอียดได้ทั้งหมด ส่วนกรณีคดีบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอส่งสำนวนในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ไปแล้ว ดีเอสไอยังมีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นั้น นายธาริต กล่าวว่า กฎหมายใหม่ของดีเอสไอ วางกรอบให้อำนาจดีเอสไอสามารถสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม เฉพาะคดีที่ส่งไปให้ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม กรณีเงินบริจาค 258 ล้านนั้น ดีเอสไอยังดำเนินต่อในเฉพาะความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีหลักที่ดีเอสได้รับเป็นคดีพิเศษและดำเนินการมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากภายหลังทำการสอบสวนไปแล้ว พบว่ามีข้อมูลบางส่วนที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ก็เลยส่งข้อมูลบางส่วนไปให้ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ กกต.กำลังดำเนินการอยู่ และหาก กกต.แจ้งว่าข้อมูลที่ส่งไปให้นั้นไม่เพียงพอ ทางดีเอสไอก็ยินดีที่จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมหรือให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งข้อมูลที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับการพิจารณาของกกต.ทางดีเอสไอก็ส่งไปให้หมดแล้ว ยืนยันว่าดีเอสไอทำงานอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริง
“ส่วนคดีหลักที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดีเอสไอยังคงดำเนินการต่อไปและจะพยายามให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อสรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาต่อไป” นายธาริต กล่าว นอกจากนี้คดีการปล่อยข่าวลือทุบหุ้นนั้น ทางดีเอสไอยังคงทำงานเดินหน้าต่อไป โดยได้ประสานงานกับ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์หน้า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปจะขอข้อมูลเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ยืนยันว่าคดีมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร