xs
xsm
sm
md
lg

DSI เร่งทำสำนวน 2 คดี รมต.ยุคแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดีเอสไอ เพิ่งตื่นเร่งรัดทำสำนวน 2 คดีสำคัญยุครัฐบาลทักษิณ หลัง ก.ล.ต.ประสานก่อนหมดอายุอายัดทรัพย์ มูลค่า 344.7 ล้านบาท

วานนี้(24 ธ.ค.)เมื่อเวลา 13.00 น.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้มีการประชุมแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน ในคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่ผ่านมา ดีเอสไอกับ ก.ล.ต. ทำงานไม่ประสานกันหรือมีเกาเหลากันนั้น ขอยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจในการทำงาน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ตกลงกันว่าจะทำงานกันอย่างบูรณาการและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกัน รวมทั้งจะมีการร่วมกันทำงานแก้ปัญหาสำคัญ 2 คดี โดยใช้มาตรการยึดอายัดทรัพย์ ฟ้องคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีความคิดที่จะตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ให้มีความคืบหน้า ซึ่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์มีลักษณะพิเศษ เรียกว่าอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องร่วมมือทำงานและบูรณาการกันอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การประชุมหารือ แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับทางสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ประสานขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งรัดการดำเนินคดีอาญา ตาม ม.267 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลก่อนที่ระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินจะสิ้นสุดลง เพื่อมิให้ผู้ถูกอายัดทำการถอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินออกไปดังนี้ คือ 1. กรณีอายัดทรัพย์สินของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับพวก จำนวน 12 คน มูลค่าความเสียหาย 344.7 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนด อำนาจการอายัดทรัพย์ไว้ 360 วัน ตาม ม.267 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 3 ม.ค.2553

ทั้งนี้ คาดว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอให้อัยการพิจารณาและสั่งฟ้องคดีได้ก่อน วันที่ 7 มี.ค.2553 ซึ่งในส่วนของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่จะต้องยึดอายัดไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา ได้แก่เงินในบัญชีจากธนาคารบางราย รวมเป็นเงิน 310 ล้านบาท อย่างไรก็ตามดีเอสไอจะใช้อำนาจตามตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ม.24 เพื่อขยายเวลา การยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไปอีก โดยจะให้สำนักงานก.ล.ต.มาให้การยืนยันว่าทรัพย์ที่จะให้ยึดหรืออายัดนั้นมีทรัพย์สินใดบ้าง ที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด ส่วนตัวนายสุริยา ผู้ต้องหานั้น ทราบว่าขณะนี้หลบนี้อยู่ต่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้ และคดีดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา มีอายุความนาน 10 ปี

2. กรณีอายัดทรัพย์ของนายสมพงษ์ วิทยารักสรรค์ อดีตผู้บริหาร บมจ.เอส.อี.ซี.กับพวกรวม 5 ราย มูลค่าประมาณ 4.2 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดอำนาจการอายัดทรัพย์ 360 วัน ในวันที่ 3 ม.ค.2553 ซึ่งทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด แต่เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจัดส่งเอกสารให้ไม่ครบถ้วน ประกอบกับเมื่อได้รับเอกสารแล้วพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต้องทำการตรวจสอบข้อมูลในเอกสารดังกล่าว ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ วิทยารักสรรค์และผู้ต้องหาบางรายได้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ยังไม่สามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ ดังนั้นถึงแม้การสอบสวนจะเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ทันภายในวันที่ 3 ม.ค.2553 เนื่องจากไม่ได้ตัวผู้ต้องหา อย่างไรก็ตามดีเอสไอจะใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษเพื่อขยายเวลา การยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไปอีก โดยจะพิจารณาว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือใช้ในการกระทำความผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น