xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริต” ระบุพยานใหม่คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
“ธาริต” ระบุ พยานใหม่คดี “สมคิด” อยู่ในดุลพินิจศาล ชี้สำคัญตรงคำให้การ แจงในทางกฏหมายต้องแยกคนละคดี คดี “แม้ว” หมิ่นเบื้องสูง เผยมีผู้ร้องทุกข์หลายส่วน พร้อมรวบเป็นคดีเดียวอยู่ในอำนาจดีเอสไอ ตั้ง “ณรัชต์” เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนทำงานร่วมอัยการพร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคดี



วันนี้ (26 พ.ย.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 ที่มาให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีการหายตัวไปของ นายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ว่า เบื้องต้น พล.ต.ท.สมคิด ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะขอต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป โดยตนได้ตรวจสอบสำนวนและพยานหลักฐานใหม่จากพนักงานร่วมของดีเอสไอและพนักงานอัยการสูงสุดทั้ง 2 คนแล้ว มีความชอบธรรมในหลักฐานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่คดีความใกล้จะหมด จึงคาดว่า น่าจะส่งฟ้องต่อศาลภายในไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการของทางศาลต่อไป

นายธาริต กล่าวว่า ได้ตรวจสอบดูพยานหลักฐานทั้ง 2 ส่วน คือ พยานบุคคลและวัตถุ โดยในส่วนของพยานบุคคลแม้จะไม่ได้เห็นเหตุการณ์ แต่ก็ยังมีเป็นส่วนของพยานแวดล้อมอยู่ ส่วนประเด็นที่พยานบุคคลใหม่นั้นเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีฆาตกรรมอยู่จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นคงต้องอยู่ในดุลพินิจของศาล จุดสำคัญคือ ต้องดูคำให้การของพยาน ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามศาลรับฟังพยานที่มีความผิดในอีกคดีหนึ่งอยู่ เพราะต้องแยกออกจากกันโดยในส่วนของคดีที่พยานมีความผิดก็เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องรับผิดชอบ โดยทางดีเอสไอ ก็ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำงานร่วมกันของพนักงานสอบสวนดีเอสร่วมมือกับทางอัยการอย่างรัดกุมจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าพยานหลักฐานใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

นายธาริต กล่าวถึงกรณีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 9 ประจำปี 2552 มีมติรับคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ไทม์ออนไลน์พาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีให้อยู่ในความรับผิดชอบว่า คณะกรรมการคดีพิเศษแบ่งการพิจารณาจากพื้นฐาน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่สาธารณชนรับรู้ ถ้าหากมีคนกระทำผิดจะต้องมีใครบ้าง และใครจะต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความผิดกฏหมายความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพ โดยความผิดด้านความมั่นคงนั้น ทุกประเทศทั่วโลกก็มีการใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ 2.เนื่องมาจากภายหลังเกิดเหตุเมื่อกลางเดือน ต.ค.กลุ่ม 40 ส.ว.เดินทางเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ สน.ดุสิต นอกจากนี้ ก็มีประชาชนบางส่วนเข้ามาร้องทุกข์ที่ดีเอสไอ การดำเนินคดีจึงต้องแบ่งทำเป็น 2 ส่วน ทั้งส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและดีเอสไอ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการคดีพิเศษ จึงมีความคิดที่จะรวมการทำงานเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนและง่ายต่อการทำงาน และทำให้ดีเอสไอสามารถบังคับใช้กฏหมายคดีพิเศษได้อย่างเต็มที่

“ได้แต่งตั้งให้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พร้อมให้สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนและเป็นผู้นำในการสั่งฟ้อง เพื่อให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์และด้านภาษาต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาในคดี เพื่อที่จะวิเคราะห์ถ้อยคำสัมภาษณ์ว่ามีความหมายอย่างไร ก่อนเร่งดำเนินการตามกฏหมายต่อไป” นายธาริต กล่าว

นายธาริต กล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าวขอย้ำว่า การรับเข้าเป็นคดีพิเศษไม่ได้เป็นการกล่าวหาผู้ใดว่ากระทำความผิด แต่เป็นการทำงานในลักษณะสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ว่าเรื่องดังกล่าวมีการกระทำความผิดหรือไม่ ส่วนระยะเวลาการทำงานต้องใช้อีกซักระยะหนึ่ง เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศ ต้องมีการประสานอัยการในการเดินทางไปสอบสวนนอกราชอาณาจักร เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในชั้นสอบสวน ก่อนส่งให้อัยการพิจารณาคดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น