xs
xsm
sm
md
lg

อัยการรอฟังดีเอสไออุทธรณ์ขอนักธุรกิจซาอุฯ สาบสูญ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายโมฮัมหมัด อัล-รู ไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย
อัยการรอดีเอสไอตอบอุทธรณ์ร้องศาลสั่ง “อัล-รูไวรี” นักธุรกิจซาอุฯ เป็นบุคคลสาบสูญ “นันทศักดิ์ พูลสุข” อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือกฎหมาย ระบุหากดีเอสไอเดินหน้าอุทธรณ์ เตรียมขอศาลขยายเวลายื่นอีก 30 วัน


วันนี้ (25 พ.ย.) นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์ นายโมฮัมหมัด อัล-รู ไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ ปี 2533 เป็นบุคคลสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า หลังจากที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องที่อัยการยื่นตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร้องขอไปแล้วตั้งแต่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา อัยการได้แจ้งฐานะคดีให้ดีเอสไอรับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดที่ศาลยกคำร้อง และมีหนังสือสอบถามดีเอสไอ ในฐานะผู้ร้องขอว่าประสงค์จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ โดยถึงขณะนี้อัยการยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับ อย่างไรก็ดีหาก ดีเอสไอ แจ้งความประสงค์กลับมาว่าจะให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ขณะที่ตามกฎหมายจะครบการยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ อัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ส่วนการยื่นอุทธรณ์นั้นจะเป็นการอธิบายความเห็นข้อกฎหมาย จากการพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ที่เคยไต่สวนในศาลชั้นต้นไปแล้ว ชี้ให้ศาลอุทธรณ์เห็นเพื่อกลับคำสั่ง โดยไม่มียื่นเอกสารหลักฐานใหม่เพิ่มเติม เพราะทางกฎหมายการไต่สวนพยานหลักฐานที่มีอยู่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ศาลชั้นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า ชั้นไต่สวนอัยการมีเพียง พ.ต.ท.เบญจพล จันทวรรณ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษเฉพาะด้าน 9 ดีเอสไอ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า เบิกความเพียงปากเดียวว่า นายอัล-รู ไวรี เข้ามาประกอบธุรกิจและพักอาศัยในไทยเมื่อปี 2528 แล้วหายตัวไปตั้งแต่เมื่อ 12 ก.พ.2533 โดยทราบเรื่องการหายตัวไปจากการสืบสวนคดีที่รับโอนมาจากกรมตำรวจ ไม่ใช่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในวันที่นายอัล-รู ไวรี หายตัวไป ขณะที่ไม่มีภรรยาหรือญาติของนายอัล-รู ไวรี มาเบิกความยืนยันการหายตัวไป และไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาเบิกความสนับสนุนคงมีเพียงเอกสารการแจ้งความ พยานหลักฐานเท่าที่มีในชั้นไต่สวน จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟัง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับสอบสวนคดีนายอัล-รู ไวรี ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2533 พร้อมกับคดีสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ โดยทั้งสองคดีเป็นเรื่องกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคลปากใดให้การอ้างอิงได้ว่านายอัล-รู ไวรี เสียชีวิตหรือไม่ ขณะที่ดีเอสไอจำเป็นต้องสอบพยานที่เป็นญาติ พี่น้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบสำนวนคดี ก่อนจะนำมาสรุปสำนวนได้ว่านายอัล-รู ไวรี เสียชีวิตจริง เพราะทางการประเทศซาอุฯ ต้องการความชัดเจนทางคดีจากประเทศไทย ก่อนจะครบ 20 ปีคดีจะหมดอายุความลงในปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น