xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรจับของหนีภาษี-ละเมิดลิขสิทธิ์อื้อ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจยึดของหนีภาษีได้จำนวนมาก ทั้งไม้ท่อนซุง ไม้แปรรูป กัญชาแห้ง และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กรมศุลกากร นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวจับกุมไม้ซุงท่อน ไม้แปรรูป วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กัญชาแห้ง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาประเภทเครื่องสำอาง แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และสินค้าอื่นๆ มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

นายสมชัย กล่าวว่า หลังจากสั่งการให้เร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกับ และสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมเครื่องสำอาง อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ส่วนประกอบปืน บีบีกัน นาฬิกา และอื่นๆ จำนวน 155,290 ชิ้น มูลค่ากว่า 31 ล้านบาท นอกจากนี้จากการตรวจสอบที่ท่าเรือกรุงเทพ ยังมีสินค้าสำแดงชนิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ แต่ตรวจพบเป็นไม้ซุงท่อน ไม้ท่อนแปรรูป น้ำหนักรวม 22,280 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ทางศุลกากรได้ตรวจสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบใบขนสินค้าสำแดงชนิดเป็นเคมีภัณฑ์ แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตการนำเข้าตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง จำนวน 8,199 ชิ้น มูลค่ากว่า 2.7 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ที่ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ สินค้าวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท DIAZEPAM จำนวน 31,500 เม็ด VALIUM จำนวน 2,400 เม็ด ยาเส้น GOLDEN VIRGINIA จำนวน 2,500 ซอง และแผ่นซีดี-ดีวีดี ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ มูลค่ากว่า 4.9 ล้านบาท

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สินค้าที่ถูกจับกุมได้นั้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าใกล้ตัว เช่นพวกยาสีฟัน เครื่องสำอาง ซึ่งหากเล็ดลอดออกสู่ตลาดได้ จะส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อสินค้าต้องดูให้ดี โดยจะประสานให้องค์การอาหารและยา (อย.) มาตรวจสอบ เพื่อขยายผลจับกุมแหล่งผลิตต่อไป

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามข้อจำกัดและนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องหาม ของต้องจำกัด หรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาราจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อจำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 และมาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537, พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534, พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522, พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509, พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางนำส่งกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ตรวจยึดได้
นาฬิกาละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น